ธุรกิจ SMEs ในหลายอุตสาหกรรม ถือเป็นดาวรุ่งในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็น รถจักรยานยนต์ สินค้าเกษตร อาหารแปรรูป พลังงานทดแทน สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพ บริการ ฯลฯ เพราะมีโอกาสรออยู่ข้างหน้ามากมาย โดยเฉพาะเมื่อมีการเปิดประตูเข้าสู่ความเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)ประเด็นอยู่ที่ว่าจะเชื่อมต่อ SMEs กับ AEC อย่างไร ?
ปัจจุบัน SMEs ของไทยมีศักยภาพที่จะก้าวไปสู่ตลาดภายนอกได้อย่างมาก แต่ด้วยขนาดธุรกิจที่อาจจะยังไม่ใหญ่พอ ที่จะสร้างอำนาจต่อรองในการแข่งขัน จึงควรส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มจับมือกับพันธมิตรเพื่อสร้างพลังในการขับ เคลื่อนธุรกิจ เป็นการช่วยลดต้นทุนการดำเนินการ เช่น ค่าขนส่ง ค่าวัตถุดิบ การใช้โนว์ฮาว และเทคโนโลยี รวมถึงการร่วม แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต
สิ่งสำคัญที่กลุ่ม SMEs ต้องทำ คือ การเก็บข้อมูลเพื่อมาพัฒนาสินค้าและบริการของตัวเอง สร้างคุณค่าคุณภาพ ไปสู่มาตรฐาน ไปสู่กลุ่มลูกค้าที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ
SMEs ของประเทศไทยก็เช่นเดียวกับ SMEs ทั่วโลก บริษัทที่ใหญ่โตระดับโลกล้วนแล้วต้องมาผ่านการเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลางมาก่อน แล้วเติบโตไปเป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นในยุโรป อเมริกา หรือญี่ปุ่น ก็มี SMEs ทั้งนั้น แต่เป็น SMEs ที่ทันสมัย
ส่วนประเทศไทยเศรษฐกิจยังไม่ดีนัก SMEs เราจึงสู้เขาไม่ได้ ดังนั้น เมื่อมีโอกาสต้องปรับเรื่องของประสิทธิภาพการผลิตเพื่อไปแข่งขัน จึงอยากให้ผู้ประกอบการ SMEs รวมกลุ่มกันเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองในการซื้อขายวัตถุดิบ เพราะเมื่อมีการซื้อขายจำนวนมาก ย่อมมีอำนาจในการต่อรองมากกว่าซื้อขายจำนวนน้อย รวมถึงการผลิตหลายอย่างที่เกื้อหนุนกัน ยกตัวอย่าง แพ็กเกจจิ้งแบบเดียวกันผลิตจำนวนมาก ต้นทุนก็ถูกลง เป็นต้น
หาก SMEs ไทยมีการพัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปสู่ตลาดที่เป็นตลาดที่เหมาะสมของแต่ละ กลุ่มธุรกิจ ก็จะสามารถเติบโตและอยู่ได้อย่างยั่งยืน
5 ปีที่ผ่านมา ซีพี ออลล์ได้เข้าไปมีบทบาทในการช่วยกลุ่ม SMEs โดยนำสินค้าของ SMEs มาจำหน่ายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น และ 7-catalog จากนั้นนำสินค้าที่ขายดีใน 7-catalog ไป on shelf ในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นที่มีอยู่ 7,000 กว่าสาขาทั่วประเทศ ทำให้สินค้า SMEs รายเล็ก ๆ มีโอกาสพัฒนาเป็นขนาดกลางและขนาดใหญ่ และหลายรายได้มีการส่งสินค้าไปขายในต่างประเทศ
ในปีนี้ SMEs นอกจากจะนำสินค้ามาจำหน่ายใน 7-catalog และในร้านเซเว่น อีเลฟเว่นแล้ว ซีพี ออลล์ยังมีช่องทางใหม่ คือ E-commerce ผ่านเว็บไซต์ Shopat7.com เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะทำให้ SMEs มียอดขายสูงขึ้น สามารถส่งไปขายในตลาดต่างประเทศ ตลาด AEC ตรงนี้ถือเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ของ SMEs ที่จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดสู่ตลาดโลก
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ซีพี ออลล์ยังมีโครงการเสริมเขี้ยวเล็บให้กับกลุ่ม SMEs ไทย โดยจับมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) จัดโครงการความร่วมมือขับเคลื่อนนวัตกรรม สำหรับประเทศ และประกวดสุดยอดนวัตกรรม 7 Innovation Award เพื่อ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ SMEs คิดค้น ต่อยอดนวัตกรรม สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัย มีคุณภาพ มาแข่งขันในระดับประเทศไทย เมื่อชนะเลิศแล้วให้นำ สินค้ามาจำหน่ายใน 7-catalog ในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น 7,000 สาขา เว็บไซต์ Shopat7.com เพื่อขยายผลไปขาย ในตลาด AEC
ตรงนี้จึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสของ SMEs รายเล็กที่จะพัฒนาเป็นขนาดกลางและขนาดใหญ่ในที่สุดเช่นกัน
ในประเด็นเรื่องของค่าแรง 300 บาทนั้น หลายคนกังวลว่าจะกระทบกับการดำเนินธุรกิจ SMEs ในช่วงต้นอาจจะเป็นอุปสรรคอยู่บ้าง เพราะทำให้ต้นทุนของ SMEs เพิ่มขึ้น
แต่ข้อดีก็คือทำให้เกิดอำนาจการซื้อสินค้าในประเทศไทยเพิ่มขึ้น กลุ่ม SMEs มียอดขายสินค้าเพิ่มมากขึ้น รัฐบาล จัดเก็บภาษีได้สูงขึ้น ภาษีเหล่านี้ก็ถูกนำมาพัฒนาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้า สอดคล้องกับคำพูดของธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานเครือเจริญโภคภัณฑ์ ว่าในความมืดจะมีความสว่าง การเพิ่มค่าแรง 300 บาท อาจทำให้ต้นทุนสูงขึ้นในช่วงต้น ก็จริง แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง อำนาจ การซื้อจะเพิ่มขึ้น ทำให้ตลาด SMEs ใหญ่ขึ้น
และที่สุดผู้ประกอบการ SMEs จะมีกำลังใจที่จะขับเคลื่อนธุรกิจของตัวเองไปข้างหน้า แล้วสุดท้าย SMEs ไทยจะสามารถก้าวไปจำหน่ายสินค้าและบริการในตลาด AEC หรือทั่วโลกได้อย่างสง่างาม
สร้างชื่อเสียง สร้างรายได้กลับเข้าประเทศ อย่างน่าภาคภูมิใจ
รายการอ้างอิง :
ปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล. เส้นทาง SMEs สู่ AEC’พันธมิตร’ สำคัญไม่แพ้ ‘ขีดความสามารถ’.ประชาชาติธุรกิจ ( พร้อมรับ “AEC” หรือยัง?. ). ฉบับวันที่ 04 – 06 มีนาคม พ.ศ. 2556.– ( 82 Views)