magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก คำบอกเล่า3 แกนนำ 3 ชุมชนต้นแบบ
formats

คำบอกเล่า3 แกนนำ 3 ชุมชนต้นแบบ

ในงานเปิดตัว “โครงการ SCG V GEN อาสายั่งยืน” โดยบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด เฟ้นหาคนรุ่นใหม่หัวใจอาสา ร่วมขยายองค์ความรู้และสร้างเครือข่ายชุมชนยั่งยืน ได้เชิญแกนนำชุมชนต้นแบบทั้ง 3 ชุมชน มาร่วมพูดคุย ซึ่งล้วนแล้วแต่เคยได้รับการช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่จากทางเอสซีจี ได้แก่ 1.ชุมชนสาสบหก อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง 2.ชุมชนสองสลึง จังหวัดระยอง 3.ชุมชนบ้านไผ่ ตำบลหัวหนอง อำเภอบ้านไผ่ มาร่วมพูดคุยและถ่ายทอดประสบการณ์การเป็นแกนนำ พาชุมชนสู่ความยั่งยืน โดย สมศักดิ์ เครือวัลย์ จากชุมชนสองสลึง เผยว่า ในชุมชนทำสวนกันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแนวคิดดั้งเดิมของการทำสวนของเกษตรกรนี้ก็เหมือนๆ กับชาวสวนทั่วไป ที่เมื่อใครทำอะไรรวยก็มักทำตามกัน หนึ่งในนั้นก็คือ เขาได้เริ่มต้นจากการทำนาแล้วเปลี่ยนมาทำสวนทุเรียนกับสวนยาง เพราะอยากรวยเหมือนคนอื่น แต่เมื่อผลผลิตออกมาเหมือนกันจนล้นตลาด ทำให้ราคาตกต่ำ และขาดทุนเป็นหนี้สินมากมาย แรกเริ่มที่เกิดปัญหาได้รับการแก้ไขจากทางการ แต่แผนการพัฒนาต่างๆ มักไม่ประสบความสำเร็จ          “สุดท้ายได้แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง จึงหันกลับมาคิดทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น เริ่มชีวิตใหม่ด้วยการทำสิ่งที่ง่ายและใกล้ตัว โดยการเก็บมูลสัตว์มาทำปุ๋ยอินทรีย์ ไม่ต้องเสียเงินมากมายไปกับการซื้อปุ๋ยเคมี พอปุ๋ยเหลือใช้เหลือเก็บ ก็แจกจ่ายและจำหน่ายต่อ เพียง 3 เดือน ก็สามารถใช้หนี้ได้จนหมด ทำให้เห็นคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นมากขึ้นอีกด้วย” แกนนำชุมชนสองสลึง กล่าว

และสิ่งที่เกิดขึ้นได้ถูกเผยแพร่จากปากต่อปาก ส่งผลให้คนในชุมชนนำแนวคิดนี้ไปปฏิบัติและเกิดการรวมกลุ่มกันทำปุ๋ยอินทรีย์ มีการแลกเปลี่ยนความรู้ จนเกิดการสะสมเป็นองค์ความรู้ที่ครบทุกด้าน ในที่สุดทำให้สมศักดิ์ เครือวัลย์ มีแนวคิดเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรพอเพียงให้ผู้คนทั่วไปเข้ามาศึกษา โดยมีฐานการเรียนรู้ต่างๆ อาทิ การทำปุ๋ย การทำไบโอดีเซลและพลังงานทดแทนฯ ซึ่งเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่มีความศรัทธา และเดินตามคำสอนของในหลวง จนสามารถนำพาชาวบ้านในชุมชนให้ยืนด้วยขาของตัวเอง จากแนวทางพอเพียงและเกษตรทฤษฎีรูปแบบใหม่

เป็นไปในทิศทางเดียวกับ ผู้ใหญ่ธงชัย งามสม จากชุมชนสาสบหก ที่เผยถึงการแก้ไขปัญหาน้ำไหลท่วมชุมชนในฤดูฝน และช่วงฤดูแล้งก็พบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง แต่จุดเปลี่ยนสำคัญ คือ ทางเอสซีจีได้เชิญแกนนำชุมชนไปร่วมศึกษาการฟื้นฟูป่าและน้ำ ด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้และบ้านป่าสักงาม อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ได้รู้จักการสร้างฝายชะลอน้ำ และเห็นว่าการอนุรักษ์ป่า และแหล่งน้ำนั้นสามารถทำได้จริง ช่วยให้ชุมชนได้มีน้ำใช้ตลอดปี จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะนำความรู้กลับมาฟื้นป่าที่บ้านห้วยหก ชาวชุมชนได้ร่วมกันสร้างฝายครั้งแรกเมื่อปี 2550

จากนั้นเป็นต้นมาทุกคนในชุมชนต่างร่วมใจสร้างฝายในป่าห้วยหกอย่างต่อเนื่อง เป็นจำนวนหลายร้อยฝาย อีกทั้งดูแลป่าต้นน้ำอย่างจริงจัง ด้วยการไม่บุกรุก ตัดทำลาย เพื่อให้ป่าได้ฟื้นฟูตัวของตัวเอง เป็นแนวทางที่ในหลวงเคยพระราชดำรัสไว้ว่า “ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก” เนื่องจากลักษณะป่าในชุมชนเป็นป่าต้นน้ำลำธาร สามารถฟื้นฟูได้ 2 วิธี คือ 1) ปลูกต้นไม้ที่ขึ้นอยู่เดิม คือ ศึกษาดูก่อนว่าพืชพันธุ์ไม้ดั้งเดิมมีอะไรบ้าง แล้วปลูกแซมตามชนิดต้นไม้ที่ศึกษามาได้ 2) งดปลูกไม้ผิดแผกจากถิ่นเดิม คือ ไม่ควรนำไม้แปลกปลอมต่างพันธุ์ต่างถิ่นเข้ามาปลูกโดยไม่ได้ศึกษาแน่ชัด แนวคิดดังกล่าวมีผลให้เวลาฝนตกน้ำไม่ไหลลงสู่ชุมชน และสามารถกระตุ้นจิตสำนึกของชาวบ้านให้เข้าใจการอนุรักษ์แบบยั่งยืนได้เป็น อย่างดี

ทั้งสองชุมชนต้นแบบที่กล่าวมานั้น ล้วนแต่ให้ความร่วมมือกับผู้ที่เข้ามาช่วยเหลือเป็นอย่างดี อาจขัดแย้งกับ แม่ระเบียบ สละ คณะกรรมการศูนย์เรียนรู้ชุมชน ต.หนองหัว อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ในกรณีที่ชาวบ้านไม่ให้ความไว้วางใจและเชื่อมั่นกับองค์กรที่เข้ามาช่วย เหลือแก้ปัญหาของชุมชน โดยเฉพาะการแก้ไขดินเค็ม ส่งผลให้พื้นที่เกษตรบางแห่งในชุมชนถูกทิ้งร้าง เกิดความแห้งแล้ง แห้งแล้ง

“ชาวบ้านกลัวกันว่าเขาจะเข้ามาหาผลประโยชน์กับชาวบ้าน คิดว่าคงไม่มีการพัฒนาต่อเนื่อง ทำให้ปีแรกจึงไม่ให้ความร่วมมือหรือสนใจกันนัก แต่ผ่านไป 1 ปี มีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด จนทำให้หลายคนทึ่ง เพราะที่นาที่ถูกปล่อยรกร้าง สามารถกลับมาปลูกข้าวได้ จากการนำปุ๋ยชีวภาพที่หมักจากสิ่งปฏิกูล เช่น เห็ดเน่าเสีย มูลสัตว์ มาว่านลงที่นาพร้อมกับไถกลบ ทำให้หลายครัวเรือนเริ่มมีความหวัง” แม่ระเบียบเล่าจากเดิมตั้งแต่ปี 2522 ชาวบ้านในตำบลต้องซื้อข้าวกิน

เพราะพื้นที่เกือบทั้งหมดต้องกลายเป็นนาเกลือ ส่วนใหญ่จึงต้องต้มเกลือขาย ได้เพียงถังละ 30 บาท ไม่พอเลี้ยงปากท้อง บางส่วนไปขายแรงงานที่กรุงเทพฯ บางคนเลือกที่จะขายนาในราคาต่ำ เพราะทำไปแล้วไม่ได้ผลผลิต และขาดทุนอย่างมาก

แม่ระเบียบก็มีปัญหาเช่นเดียวกับคนอื่น  มีที่นา 48 ไร่ ปลูกข้าวได้เพียง 23 ไร่ ได้ผลผลิตเพียง 300 กิโลกรัมต่อปี ต่อมาเมื่อปี 2550 ได้รับความรู้ ทางกรมการพัฒนาที่ดินและศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โดยทางเอสซีจีเป็นผู้ขอประสานความร่วมมือพัฒนาพื้นที่ด้วยวิธีการเพิ่ม อินทรีย์วัตถุในดิน ทำให้เมื่อปีที่ผ่านมา สามารถได้ผลผลิตมากถึง 1,600 กิโลกรัม และอีกหลายครัวเรือนก็กลับมาปลูกข้าวได้อีกครั้ง

“สิ่งที่ทำให้ป้าเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น คือ มีการเข้ามาส่งเสริมองค์ความรู้เพิ่มเติม อาทิ การปลูกพืชที่ทนต่อความเค็ม เช่น กระถินออสเตรเลีย ยูคาฯ เป็นต้น ทำให้ดินมีแร่ธาตุมากขึ้น ตลอดจนการเพาะเห็ด เลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ อาทิ กบ ปู ปลา และการเพาะไข่มดแดง ที่สร้างรายได้กิโลกรัมละ 200 บาท ให้รายได้ดีรองลงมาจากการปลูกข้าว” แม่ระเบียบเล่า และพอเห็นว่าแม่ระเบียบทำเกษตรได้ผล ชาวบ้านอื่นๆ จึงเริ่มสนใจเข้ามาเรียนรู้กันมากขึ้น จนทางตำบลได้ตั้งเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้การพัฒนาพื้นที่ดินเค็ม อันเป็นเครือข่ายที่แข็งแรงและยั่งยืน เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้นี้แก่ผู้ที่สนใจ และไม่ใช่แค่เพียงในตำบลเท่านั้น ปัจจุบันทางกลุ่มแกนนำชุมชนต้นแบบ ยังได้ไปเผยแพร่ความรู้ผ่านแกนนำของทุกอำเภอของจังหวัดขอนแก่น มีเครือข่ายกว่า 5,000 คน

“การเป็นแกนนำชุมชน โดยเฉพาะชุมชนต้นแบบ ที่ต้องมีการถ่ายทอดความรู้สู่ท้องที่อื่นๆ นั้น เรายึดหลักการให้กำลังใจผู้คน เพราะเครือข่ายบางคนเราไม่สามารถรู้ว่าเขาเหล่านั้นประสบปัญหาใดมาบ้าง การจะสอนหรือถ่ายทอดเรื่องราวจึงต้องเน้นการสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อให้เกิดแรงสู้ อีกประการหนึ่งคือ การเป็นแกนนำที่ดี เราต้องรู้จักเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ แม้บางเรื่องที่รู้อยู่แล้วเราก็ต้องหมั่นค้นหาและฝึกฝนจนเกิดความแม่นยำ นี่คือหลักที่ยึดและปฏิบัติในการเป็นแกนนำชุมชนสู่ความยั่งยืน” แม่ระเบียบกล่าวทิ้งท้าย.

รายการอ้างอิง :
คำบอกเล่า3 แกนนำ 3 ชุมชนต้นแบบ. ไทยโพสต์. ฉบับวันที่ 03 มีนาคม พ.ศ. 2556.– ( 115 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


four × 4 =

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>