วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้สัมภาษณ์ “โพสต์ทูเดย์” ถึงยุทธศาสตร์กระทรวงครั้งสำคัญ โดยวางเป้าหมายผลักดันวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องจักรสำคัญในการบูรณาการประเทศ ทุกระดับ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันทุกด้าน รองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) และทำให้ไทยพร้อมบุกตลาดโลก
สำหรับแผนงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีครั้งนี้ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้วางงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศ ทั้งหมด ในสัดส่วน 1% ของจีดีพี หรือคิดเป็นงบประมาณ 1.2 แสนล้านบาท และต้องการเพิ่มเป็น 2% ของจีดีพี ภายในอีก 3-5 ปีข้างหน้า แนวทางเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ต้องเร่งทำทั้งด้านเกษตรกรรม และด้านอุตสาหกรรม ด้วยการนำนวัตกรรม วิทยาศาสตร์ไปเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้สูงขึ้น ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ เพื่อให้มีการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพิ่มความสามารถของเกษตรกรไทยและภาคอุตสาหกรรมไปพร้อมกัน
สำหรับโครงการที่กระทรวงจะเร่งดำเนินการคือจัดตั้ง “อุทยานวิทยาศาสตร์ในทุกจังหวัด” เพื่อนำนักวิทยาศาสตร์ไปใกล้ชิดผู้ประกอบการ ทั้งขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี จากเดิมมีอุทยานวิทยาศาสตร์อยู่ในพื้นที่ กทม.เพียงแห่งเดียวเท่านั้น
ในปีนี้จะเริ่มสร้างในจังหวัดขนาดใหญ่ก่อน คือ จ.ขอนแก่น เชียงใหม่และสงขลา ตั้งเป้าหมายใน 3 ปีข้างหน้าจะจัดตั้งให้ครบทุกจังหวัด ภายใต้งบดำเนินโครงการรวม 1.7 หมื่นล้านบาทมั่นใจหากโครงการนี้สำเร็จจะช่วยเปลี่ยนบทบาทให้แก่กระทรวง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใกล้ชิดกับประชาชน และเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้น จากเดิมเอสเอ็มอีจะอยู่ห่างไกลกับคำว่า “วิทยาศาสตร์”
ปัจจุบันกลุ่มเอสเอ็มอีนำวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมมาร่วมกับการผลิตสินค้า ประมาณ 30%แตกต่างจากผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ที่ใช้วิทยาศาสตร์ 70% ในอนาคตการมีอุทยานวิทยาศาสตร์ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศไทย จะทำให้เอสเอ็มอีนำความรู้ไปพัฒนาธุรกิจและเพิ่มมูลค่าธุรกิจมากขึ้น ส่งเสริมการใช้เครื่องจักรแบบใหม่มาผลิต ช่วยลดแรงงานในธุรกิจ และยังลดต้นทุนจากค่าแรง 300 บาทต่อวัน
ขณะที่ “ภาคเกษตรกรรม” นำวิทยาศาสตร์ไปใช้ทำการเกษตรน้อย มีสัดส่วนประมาณ 10% ของการผลิตทั้งหมด หากนำวิทยาศาสตร์ไปใช้มากขึ้นให้ได้สัดส่วน 70%เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ สายพันธุ์ระยะเวลาปลูก สภาพดิน สภาพอากาศความชื้น การดูแลเก็บเกี่ยว และใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เชื่อมั่นว่าจะวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล
ทำให้เกษตรกรมีผลผลิตต่อไร่และมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 20-30% รวมทั้งจะทำให้เกษตรกรไทยกลายเป็นอาชีพที่มีรายได้สูง เหมือนกับประเทศพัฒนาแล้ว คือ ญี่ปุ่นซึ่งเกษตรกรมีรายได้สูงมาก
ทั้งนี้ กระทรวงกำลังทำโครงการร่วมกับหน่วยงานในสังกัดต่างๆ เพื่อให้เกษตรกรไทยได้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาทำการเกษตรมากขึ้น โดยเบื้องต้นกำลังพัฒนาให้มีการส่งข้อความแจ้งเตือนผ่านทางโทรศัพท์มือถือไป ยังเกษตรกรแต่ละกลุ่มในทุกสัปดาห์ ทั้งแจ้งเตือนสภาพอากาศ ค่าความชื้นในอากาศ ตรวจสอบเรื่องคุณภาพดินและการเก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นต้นเพื่อให้เกษตรกรวางแผนเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวได้ทันท่วงที
“ในปัจจุบันกระทรวงวิทยาศาสตร์ โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) ร่วมมือกับกรมการข้าว เพื่อพัฒนาสายพันธุ์ข้าวพันธุ์ใหมให้มีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้นและได้ข้าวที่มี คุณภาพสูงขึ้นและเลือกสายพันธุ์ข้าวให้ปลูกได้เหมาะสมกับแต่ละภาคเพื่อให้ ชาวนาไทยได้ประโยชน์มากที่สุด”
ขณะที่ขีดความสามารถการแข่งขันในด้านวิทยาศาสตร์ไทยนั้น ไม่ได้ห่างไกลกับประเทศอื่นในอาเซียน ปัจจุบันอยู่ในอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์และจำนวนนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยในประเทศก็มีจำนวนมาก ยังไม่เกิดปัญหาขาดแคลน แต่สิ่งสำคัญคือต้องพัฒนานักวิทยาศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากขึ้น
ส่วนอุปสรรคที่สำคัญของการพัฒนาประเทศและวิทยาศาสตร์ที่ผ่านมา คือ การเปลี่ยนนโยบายด้านวิทยาศาสตร์หลายครั้ง ทำให้หน่วยงานต่างๆของกระทรวงทำงานไม่คืบหน้า รวมทั้งขาดการส่งเสริมและกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่สนใจมาเรียนวิทยาศาสตร์ ปัจจุบันคนเรียนสายวิทยาศาสตร์มีสัดส่วนเพียง 30% แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วคนเรียนสายวิทยาศาสตร์มีสัดส่วนถึง 80%
วรวัจน์ มั่นใจว่า หากแผนงานทั้งหมดที่กระทรวงวางไว้สำเร็จตามแผนที่วางไว้ เชื่อว่าการเปิดเออีซีจะยิ่งส่งผลดีให้ไทยพร้อมแข่งขันในตลาดโลกได้แน่นอน
ถือเป็นงานที่ท้าทายอย่างมากกับการทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากประเทศกำลัง พัฒนาไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่จะเกิดขึ้นเร็วหรือช้า สำเร็จได้หรือไม่ คงต้องรอพิสูจน์ผลงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ต่อไป!
รายการอ้างอิง :
วราภรณ์ เทียนเงิน. เปิดแผนกระทรวงวิทย์นำวิจัยเสริมธุรกิจชุมชน. โพสต์ทูเดย์ (สัมภาษณ์พิเศษ). ฉบับวันที่ 04 มีนาคม พ.ศ. 2556.– ( 63 Views)