รัฐเดินหน้าจัดระเบียบที่ดิน ปักหมุดหลักฐาน 350 ล้านไร่ ซ้อนทับภาพถ่ายดาวเทียม สร้างแผนที่มาตราส่วนกลาง ปรับข้อมูลให้อยู่บนมาตรฐานเดียวกัน หนุนใช้ซอฟต์แวร์ คาดการณ์อนาคตช่วยรัฐกำหนดนโยบายจัดการที่ดิน คาดแล้วเสร็จใน 5 ปี
ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยคณะกรรมการภูมิสารสนเทศแห่งชาติ ได้เดินหน้าโครงการจัดทำข้อมูลที่ดินของประเทศใหม่ทั้งหมด ซึ่งโครงการดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของสภาพัฒน์ฯ ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำแผนที่ อาทิ กรมที่ดิน กรมแผนที่ทหาร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น“ก่อนที่โครงการนี้จะเดินหน้าอีกครั้ง สิ่งที่เราต้องดูคือที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานได้ดำเนินการในพื้นที่ใดไปบ้าง แล้ว และบนมาตรฐานอะไร เนื่องจากปัจจุบันการเก็บข้อมูลทางอากาศสามารถทำได้ตั้งแต่ 18 เซนติเมตร ไปจนถึง 60 เซนติเมตร แล้วแต่ภารกิจ” ดร.อานนท์กล่าว
การที่แต่ละหน่วยงานต่างพัฒนาแผนที่เพื่อใช้ในภารกิจของตัวเองเป็นที่ตั้ง ทำให้กลายเป็นปัญหาเวลาที่หน่วยงานอื่นต้องการขอข้อมูลทำไปใช้ ไม่สามารถใช้งานได้ คณะทำงานจึงต้องกลับมาศึกษาถึงข้อมูลที่มีอยู่ และข้อมูลที่ขาดหายไป
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีระยะเวลา 5 ปี (2554-2559) โดยในปี 2554 ได้มีการรวบรวมภาพถ่ายทางอากาศโดยใช้เครื่องบินบินถ่ายภาพมาแล้วบางส่วน ตลอดจนมีการนำเข้าแปลงที่ดินไปแล้ว 9 ล้านแปลง สำหรับภารกิจในปี 2556 เป้าหมายคือนำเข้าที่ดินเพิ่มเติมอีก 19 ล้านแปลง พร้อมกับเก็บข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศทั้งประเทศ ให้ครบถ้วน
ดร.อานนท์ยืนยันว่า โครงการนี้ไม่ได้มุ่งเน้นทำแผนที่ แต่เป็นการทำฐานข้อมูลที่มีอยู่ให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน หรือ มาตราส่วน 1:4000 คลาดเคลื่อนได้ไม่เกิน 30 เซนติเมตร ซึ่งเป็นมาตรฐานส่วนของแผนที่ระดับปฏิบัติการ เพื่อบริหารจัดการ การใช้ประโยชน์ที่ดินที่ของประเทศ 350 ล้านไร่ ให้ตรงกับศักยภาพและเกิดความเป็นธรรม แผนที่มาตราส่วน 1:4000 มีความแตกต่างจากแผนที่มาตราส่วน 1:50000 ซึ่งเป็นแผนที่ที่เหมาะกับงานวางแผน กำหนดนโยบาย มากกว่าระดับปฏิบัติการ
“สิ่งที่ภาครัฐกำลังเดินหน้าคือการมองภาพใหญ่ของประเทศ ในอนาคตเราจะสร้างแบบจำลอง หรือฉายภาพอนาคต เพื่อเป็นฐานข้อมูลในรัฐบาลนำไปกำหนดนโยบายในเชิงพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เกิดปัญหา ซึ่งตอนนี้รัฐบาลไม่รู้อะไรเลย” ดร.อานนท์กล่าวยอมรับตรวจสอบชัดใครถือครองที่ดิน
อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาที่ดินของประเทศต้องขึ้นอยู่กับผู้นำไปใช้ เช่น ในเหตุการณ์น้ำท่วม ภาพถ่ายดาวเทียมสามารถใช้กำหนดขอบเขตน้ำ และรู้ได้ทันทีว่าที่ดินแปลงนี้ใครเป็นผู้ถือครองกรรมสิทธิ์
ดร.อานนท์ขยายความว่า ในโฉนดที่ดินแปลงเดียวกัน เป็นไปได้ว่ามีบ้านหลายหลังและมีเจ้าบ้านหลายคน ในอนาคตจะรู้ได้แม้กระทั่งพื้นที่เพาะปลูกในแต่ละแปลงว่าผู้เป็นเจ้าของ กรรมสิทธิ์ที่ดิน และใครเป็นผู้เช่าใช้ที่ดินทำเกษตรกรรม การที่มีข้อมูลที่แม่นยำจะช่วยให้การชดเชยความเสียหายเป็นไปอย่างถูกต้องและ เป็นธรรม
“แผนที่บนมาตราส่วนเดียวกันจะช่วยให้การบริหารจัดการ การชดเชย ช่วยลดความซ้ำซ้อน ในการจัดการที่ดิน ลดการรั่วไหล และทำให้กระบวนการชดเชยเป็นไปได้เร็วขึ้นใน 3-7วัน” ดร.อานนท์กล่าว และว่า แผนที่นี้อาจไม่เหมาะสำหรับใช้เป็นข้อมูลชดเชยในพื้น ฟลัดเวย์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความชัดเจนอยู่แล้ว แต่จะใช้กับพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงในทุกปี เช่น การขายกรรมสิทธิ์ การปล่อยเช่า ที่ต้องการการตรวจสอบทุกปี โดยระบบข้อมูลจะช่วยให้การติดตามเป็นไปอย่างแม่นยำเป้าหมายทำแผนที่ใหม่ ทุก 5 ปี
การทำแผนที่ในโครงการดังกล่าวได้กำหนดชั้นข้อมูลหลักของประเทศไว้ที่ 13 ชั้นข้อมูล เช่น การใช้ที่ดิน แปลงที่ดิน ถนนเส้นทางคมนาคม หมุดหลักฐาน ภาพถ่ายดาวเทียม ภาพถ่ายทางอากาศ แหล่งน้ำ เส้นทางน้ำ ชายทะเล ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้มีอยู่แล้ว การปรับให้อยู่บนมาตรฐานเดียวกันไม่ใช่เรื่องยาก
ดร.อานนท์กล่าวว่า เป้าหมายของการทำแผนที่คืออัปเดตทุก 5 ปี โดยงบประมาณที่ใช้มาจากงบประมาณกลาง แบบบูรณาการแต่ละโครงการ ภายใต้คณะกรรมการภูมิสารสนเทศแห่งชาติ ภายใต้ชั้นข้อมูลภูมิสารสนเทศกลางที่กำหนด ในแต่ละแผนงาน อาทิ กระทรวงไอซีที พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเรื่องไอที เช่น ระบบคราวน์ สตอร์เรจ
สำหรับทำชั้นข้อมูลมาตราส่วนใหญ่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งศูนย์ยูเอวีในแต่ละจังหวัด เพื่อบินตรวจสอบในพื้นที่ เช่น พื้นที่ปลูกป่าเพื่อป้องปราม รวมถึงการสร้างเครือข่ายภาคประชาชน ช่วยรายงานสถานการณ์เข้ามายังส่วนกลาง
ดร.อานนท์มองว่า การใช้พื้นที่ให้ตรงกับศักยภาพและให้เกิดความเป็นธรรม ไม่ใช่ว่าพื้นที่ใดเพาะปลูกได้ดีก็จะเปลี่ยนพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่เพาะปลูก ทั้งหมด แต่ต้องบริหารจัดการพื้นที่ปลูกให้ได้ประโยชน์สูงสุด โดยดูจากปัจจัยด้านเส้นทางคมนาคม ศักยภาพด้านแหล่งน้ำ และสภาพภูมิอากาศ สร้างให้เกิดความเป็นธรรมในการกระจายรายได้ เพิ่มผลผลิต และสร้างโอกาส
“ในภาพรวมจะต้องสามารถกำหนดพื้นที่เพาะปลูก ได้อย่างแม่นยำ สอดรับกับนโยบายรัฐหากต้องการจัดการพื้นที่เพาะปลูกเพื่อเป้าหมายในการเป็น ผู้นำในตลาด เพื่อกำหนดราคา หรือต้องการจัดการพื้นที่เพื่อความเป็นธรรม” ดร.อานนท์กล่าว และว่า ในส่วนของกระทรวงวิทย์ ณ ตอนนี้ อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบไอที หรือซอฟต์แวร์ช่วยบริหารจัดการพื้นที่ โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)11 มี.ค.เวิร์คช็อปจัดการที่ดิน
ซอฟต์แวร์ดังกล่าวจะนำเข้าข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากปัจจัยต่างๆ อาทิ ปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม ดิน อากาศ เพื่อฉายภาพอนาคตในแต่ละพื้นที่ โดยพัฒนาระบบให้มีความยืดหยุ่น และหาจุดกึ่งกลางที่เหมาะสม
“เรามองไปถึงว่าบางทีในบางพื้นที่อาจให้เลิกปลูกไปเลย แต่จะมีแนวทางชดเชยอย่างไร หรือในพื้นที่ที่ไม่มีการเพาะปลูก แต่เป็นที่ที่เหมาะสม อาจมีการซื้อคืนพื้นที่ถือครองอยู่เป็นจำนวนมากกลับคืน เพื่อให้เกิดผลประโยชน์โดยรวมต่อประเทศชาติ” ดร.อานนท์กล่าว และทิ้งท้ายว่า ในวันที่ 11 มี.ค. นี้ คณะกรรมการภูมิสารสนเทศเห็นชาติจะจัดประชุมใหญ่ ในเรื่องระบบข้อมูล ที่ตึกสันติไมตรี โดยเปิดเวทีให้เจ้าของข้อมูล กับกลุ่มผู้ใช้งานมาร่วมเวิร์คช็อป เคลียร์ใจ เพื่อให้การทำแผนที่ของประเทศบนมาตราส่วนเดียวกันสามารถเดินหน้าต่อไปได้
รายการอ้างอิง :
รัฐรื้อระบบจัดที่ดินใหม่ดาวเทียมสแกน 350ล.ไร่. กรุงเทพธุรกิจ. ฉบับวันที่ 05 มีนาคม พ.ศ. 2556.– ( 125 Views)