magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก มหาวิทยาลัยมหิดล กับการเตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน
formats

มหาวิทยาลัยมหิดล กับการเตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน

ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็น “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” (ASEAN Economic Community: AEC) ในปี 2558 ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิก 10 ประเทศ ได้แก่ 1.บรูไนดารุสซาลาม 2.ราชอาณาจักรกัมพูชา 3.สาธารณรัฐอินโดนีเซีย 4.สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 5.มาเลเซีย 6.สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ 7.สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ 8.สาธารณรัฐสิงคโปร์ 9.สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และ 10.ราชอาณาจักรไทย โดยปัจจุบัน อาเซียนมีประชากรจำนวน 500 กว่าล้านคน ด้วยพื้นที่กว้างใหญ่ถึง 4.5 ล้านตารางกิโลเมตร ประเทศสมาชิกได้ขยายความร่วมมือกันอย่างแข็งขันในทุกด้าน และกำลังร่างกฎบัตรอาเซียนเพื่อเป็นแนวทางของอาเซียน ในการรับมือกับสิ่งท้าทายและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป          ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เมื่อเปิดการค้าเสรี ปัญหาสุขภาพจะไม่ใช่ปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็น “ASEAN Health” ดังนั้นอาเซียนจึงต้องเร่งสร้างมาตรฐานด้านสุขภาพโดยด่วน เพื่อเตรียมรองรับปัญหาต่างๆ ที่กำลังจะตามมา จากสถิติของผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกพบว่า ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีสถิติผู้ป่วยจำนวนมากสุด แต่ละปีพบผู้ป่วยไม่ต่ำกว่าปีละ 200,000 ราย จากผลสำรวจครึ่งปีแรก มีรายงานผู้ป่วยใน 7 ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ ไทย กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม รวม 69,213 ราย เสียชีวิต 57 ราย ด้วยสภาพภูมิประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น เหมาะสำหรับการแพร่พันธุ์ยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก
สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกเด็งกี่ในกลุ่มประเทศอาเซียน รศ.ดร.นายแพทย์สุธี ยกส้าน หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ประเทศเหล่านี้อยู่ในเขตร้อนของโลก มีความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อมที่คล้ายคลึงกัน ผู้คนเผชิญปัญหาของโรคไข้เลือดออกเด็งกี่มาเป็นเวลานานกว่า 50 ปี จนกลายเป็นโรคประจำถิ่น อีกทั้งมีการระบาดเป็นประจำทุก 1 ถึง 2 ปี ผู้ได้รับเชื้อไวรัสเด็งกี่จากยุงลายซึ่งเป็นพาหะจะมีอาการเพียง 1 ใน 3 รายเท่านั้น อาการทางคลินิกอาจมีมากหรือน้อย ขึ้นกับรายละเอียดของเชื้อไวรัสและพื้นฐานทางภูมิคุ้มกันของแต่ละบุคคล ผู้ที่มีอาการราว 1 ใน 100 คน จะมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นช็อค อัตราการตายประมาณ 1-2 ใน 1,000 คน ในประเทศไทยมีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกเด็งกี่ราว 50,000-100,000 คน เป็นประจำทุกปี ผู้มีโอกาสได้รับเชื้อครอบคลุมตั้งแต่อายุ 1 ขวบถึงสูงอายุ อัตราการตายในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคไข้เลือดออกมีสูงกว่าในวัยเด็ก เชื่อว่าสาเหตุเกิดจากการลืมคิดถึงโรคนี้ว่าเกิดในผู้ใหญ่ก็ได้เช่นเดียวกับ เด็ก ทำให้มารับการรักษาช้า
ปัจจุบันนักวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลประสบความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนไข้ เลือดออกเด็งกี่ชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ชนิดต้นแบบได้ครบทั้ง 4 ชนิด ได้มอบสิทธิบัตรในการผลิตวัคซีนดังกล่าว ให้แก่ฝ่ายอุตสาหกรรมผลิตวัคซีนของประเทศญี่ปุ่นเป็นที่เรียบร้อยแล้วในปี 2554 คาดว่าต้องจะใช้เวลาอีกประมาณ 6-8 ปี จึงจะมีวัคซีนเพื่อใช้ในงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคทั้งของประเทศไทยและ ประเทศอื่นๆ ในประชาคมอาเซียน
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลยังได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการพัฒนาวัคซีนไข้ เลือดออกเด็งกี่ลูกผสมชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ซึ่งเกิดจากการตัดต่อสายพันธุ กรรม ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้มีการมอบไวรัสเด็งกี่ชนิดลูกผสมเชื้อเป็น 1-4 ดังกล่าวให้แก่ บริษัทไบโอเนท-เอเชีย จำกัด นำไปทดสอบในระดับปรีคลินิกและในลิง ซึ่งขณะนี้กำลังคอยสรุปผลของการทดลอง เพื่อเป็นการพัฒนางานด้านวัคซีนให้ครบวงจร จนถึงระดับสามารถตอบโจทย์ปัญหาสาธารณสุขของประเทศ มหาวิทยาลัยมหิดลได้ขยายขอบข่ายงานวิจัย โดยความร่วมมือเชื่อมโยงงานวิจัยกับอุตสาหกรรมภาคเอกชนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ได้มีการลงนามในข้อตกลงร่วมมือกันพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคที่มียุงเป็นพาหะ ชนิดอื่นๆ ได้แก่ วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (Japanese Encephalitis) และวัคซีนป้องกันโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ชิคุนกุนยา (Chikungunya) เป็นต้น เชื่อว่า ภายใต้กลยุทธ์การดำเนินงานที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ บุกเบิก จะเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวกระโดดไปข้างหน้า นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนมีความพร้อมในการแข่งขัน
ในขณะเดียวกัน ทั่วโลกกำลังตระหนักถึงการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ โดยปัจจุบันพบว่ามีผู้เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ถึง 25 ล้านคนทั่วโลก ศ.พญ.พรรณี ปิติสุทธิธรรม หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการทดสอบวัคซีนทางคลินิก คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โรคเอดส์เกิดจากการได้รับเชื้อไวรัส HIV เข้าไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันโรคต่าง ๆ ของร่างกายจนเป็นโรคเอดส์ เชื้อ HIV สามารถเข้าสู่ร่างกายด้วยการรับเลือด น้ำอสุจิ สารคัดหลั่งจากช่องคลอด หรือการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ปัจจุบันทั่วโลกพยายามหาวิธีในการป้องกันการติดเชื้อ HIV ซึ่งการพัฒนาวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HIV เป็นแนวทางที่ดีที่สุด
ประเทศไทยกำหนดเป้าหมายการเกิดอุบัติการณ์โรคเอดส์อยู่ที่ศูนย์ภายในปี 2559 ตามคำประกาศขององค์การอนามัยโลก และองค์การเอดส์แห่งสหประชาชาติ โดยได้มีการทดสอบวัคซีนป้องกันโรคเอดส์มาตั้งแต่ปี 2536 ผลสำเร็จของงานวิจัยครั้งนั้นได้นำไปสู่การพัฒนาศึกษาประสิทธิผลของวัคซีน ระยะที่ 3 ในกลุ่มผู้ติดยาเสพติด ซึ่งนำมาสู่การพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2 โดยมุ่งเน้นไปที่ระบบภูมิคุ้มกันแบบพึ่งพาเซลล์ จากผลการทดสอบ ระหว่างปี 2542-2545 พบว่า วัคซีนมีความปลอดภัยและสามารถกระตุ้นการตอบสนองภูมิคุ้มกันทั้งในเลือดและใน เซลล์ในระดับที่ยอมรับได้ ซึ่งจากผลดังกล่าว นำไปสู่การวิจัยในมนุษย์ระยะที่ 3 ในปี 2546 พบว่า วัคซีนมีประสิทธิผลสามารถลดการติดเชื้อได้ 31.2% นับเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาวัคซีน เพราะเป็นครั้งแรกของโลกที่พบว่าวัคซีนเอดส์มีประสิทธิภาพในการป้องกัน ขณะนี้มีโครงการศึกษาต่อเนื่องอีกสองโครงการ เพื่อพัฒนาต่อยอดให้ทราบถึงกลไกของวัคซีน โครงการแรกมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นแกน
ส่วนอีกโครงการมีศูนย์ทดสอบวัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นแกน ร่วมกับศูนย์วิจัยทางคลินิก สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหารฝ่ายไทย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งโครงการหลังนี้กำลังอยู่ในกระบวนการอนุมัติ คาดว่าทั้งสองโครงการจะสามารถสรุปผลได้ในปี 2559 ในขณะเดียวกัน สถานการณ์ไข้หวัดนกในประเทศเพื่อนบ้าน ก่อให้เกิดความกังวลว่าอาจจะมีการระบาดได้ ทางกระทรวงสาธารณสุขและศูนย์ทดสอบวัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ร่วมมือทำการทดสอบวัคซีนไข้หวัดนกซึ่งกำลังอยู่ในระยะต้น โดยหวังว่าประเทศไทยจะมีศักยภาพที่สามารถมีวัคซีนป้องกันไข้หวัดนกเพื่อใช้ เองได้ในอนาคต
“อนาคตโลกมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย จีนกลายเป็นผู้นำเศรษฐกิจของโลก เกาหลีเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พม่ามีการเปิดประเทศให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม มีความเจริญด้านเศรษฐกิจขึ้นตามลำดับ ดังนั้น ประเทศไทยโดยหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนพยายามเร่งพัฒนาเพื่อการแข่งขันได้ใน ประชาคมอาเซียน ในส่วนของมหาวิทยาลัยมหิดลตั้งปณิธานจะเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” โดยอาศัยความเข้มแข็งด้านองค์ความรู้ และงานวิจัย เพื่อสังคมไทยต่อไป” อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว

รายการอ้างอิง :
มหาวิทยาลัยมหิดล กับการเตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน. บ้านเมือง. ฉบับวันที่ 05 มีนาคม พ.ศ. 2556.

                                      – ( 181 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


two × = 12

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>