เพื่อประเทศไทยน่าอยู่ ที่สุดในโลก…..
ปัจจุบัน ถือเป็นยุคเทคโนโลยีสารสนเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงของโลกในหลายๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม อันนำไปสู่การปรับตัวเพื่อให้เกิดความสามารถในการแข่งขันท่ามกลางกระแสโลกา ภิวัฒน์ทุกประเทศทั่วโลกกำลังมุ่งสู่กระแสใหม่ของการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า สังคมความรู้ที่เป็นปัจจัยในการพัฒนาที่สำคัญอย่างหนึ่งของโลก เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติกระทรวงวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี (สวทช.) จัดงาน “มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 12 (Thailand ICT Contet Festival 2013) ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาความรู้ ความสามารถของเยาวชนไทยด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ สารสนเทศและการสื่อสารให้สามารถพัฒนาผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่นำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อ เศรษฐกิจและสังคม
โดยนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่าการจัดงานครั้งนี้เป็นการต่อยอด และส่งเสริมผลงานของเยาวชนโดยการช่วยเหลือและบ่มเพาะให้เค้าเหล่านั้นสามารถ เพิ่มเติมศักยภาพและได้รับการสนับสนุนในสิ่งที่จำเป็น เพื่อให้ผลงานที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่าง จริงจัง เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ที่สำคัญคือสามารถนำไปต่อยอดให้เกิดธุรกิจอุตสาหกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรม จนถึงขั้นเป็นเถ้าแก่น้อยได้ในอนาคต
ภายในงานได้รวบรวมสุดยอดผลงานประกวดของเยาวชนไทยจากทั่วประเทศไว้มากที่สุด การแข่งขันในครั้งนี้แบ่งออกเป็น 4 กิจกรรม ซึ่งเป็นการจัดการแข่งขันในประเภทย่อยๆ จำนวน 17 ประเภท เพื่อชิงถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 8 รางวัล รวมจำนวนรางวัลทั้งหมด 84 รางวัล
นายพีร์รุจ บริบาลบุรีภัณฑ์ จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม เป็นหนึ่งในสามผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์ รุ่นเยาว์และยังได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมชิงชัยในงาน Intel International Science and Engineering Fair (Intel ISEF) ณ เมืองฟินิกส์ มลรัฐแอริโซน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยส่งโครงงานเข้าประกวด “การประยุกต์ใช้เจเนติกอัลกอริทึมช่วยในการปรับปรุงการรู้จำตัวอักษรออนไลน์ โดยใช้โครงข่ายประสาทเทียมแบบPHIA”
นายพีร์รุจ บอกว่า “ผมดีใจมากที่โครงงานครั้งนี้ได้รับรางวัลและที่ภูมิใจที่สุดคือการได้เป็น ตัวแทนของประเทศไทย ผมสัญญาว่าจะทำหน้าที่นี้ให้ดีที่สุดครับ”
ด้านนายปัฐพงศ์ ไชยแสนวัง และคณะจากโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย จ.ลำปาง ได้รับรางวัลรองชนะเลิศจากการประกวดการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่น เยาว์ โครงงานชื่อว่า “มหัศจรรย์ของถ่านลิกไนต์คุณภาพต่ำ (ลีโอนาไดต์) กับการปรับปรุงคุณภาพน้ำเสีย” ซึ่งทีมนี้จะเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันในเวที I-SWEEEP ณ เมืองฮูสตัน มลรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา
โดยนายปัฐพงศ์ ไชยแสนวัง บอกว่า โครงงานครั้งนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากการเห็นถึงสภาพปัญหาน้ำเสียในปัจจุบัน ของประเทศที่มีปัญหาเพิ่มขึ้นทุกวัน จึงระดมความคิดกันเพื่อหาวิธีทางแก้ไขจนเกิดเป็นโครงงานนี้ขึ้นมา ผมและเพื่อนๆ รู้สึกดีใจมากครับที่ได้เป็นตัวแทนไปแข่งขันในเวที I-SWEEEP ซึ่งต้องขอบคุณศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ที่จัดงานนี้ขึ้นมาเพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้มาแสดงความสามารถ ผมและเพื่อนๆสัญญาว่าจะทำหน้าที่ตัวแทนประเทศนี้อย่างเต็มที่ครับ
เห็นได้ว่า เทคโนโลยีสารสนเทศมีผลเกี่ยวข้องกับทุกเรื่องในชีวิตประจำวันซึ่งมีแนวโน้ม ที่สำคัญมากยิ่งขึ้น การสนับสนุนให้เยาวชนรุ่นใหม่เรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นอีกแนวทางที่ดีในการช่วยพัฒนาการศึกษาของเยาวชน
อนาคตข้างหน้าเยาวชนเหล่านี้ จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศให้ก้าวหน้าและเกิดประโยชน์ต่อประเทศต่อไป
รายการอ้างอิง :
มหกรรมเทคโนโลยีเพื่อเด็กไทยคนเก่ง…สู่เวทีโลก. บ้านเมือง. ฉบับวันที่ 07 มีนาคม พ.ศ. 2556.– ( 74 Views)