ในวาระครบรอบเอสซีจี 100 ปี ในปี 2556 เอสซีจี จึงต้องการนำองค์ความรู้ของชุมชนต้นแบบที่เอสซีจีได้เข้าไปมีส่วนร่วมให้ เกิดการพัฒนาต่อยอดเป็นชุมชนเข้มแข็งที่สามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเองอย่าง ยั่งยืน มาถ่ายทอดแนวคิด แนวปฏิบัติ ภูมิปัญญาและนวัตกรรมการสร้างสรรค์ในวิถีชุมชน เพื่อต่อยอดขยายองค์ความรู้เหล่านี้ไปสู่ชุมชนอื่นๆ อันจะเป็นการสร้างเครือข่ายชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้กระจายไปทั่วทุก ภูมิภาคของประเทศไทย ขณะเดียวกันก็เป็นการให้ความรู้กับประชาชนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ ผ่านการนำเสนอในรูปแบบที่ให้สาระและความบันเทิง
เอสซีจี จึงร่วมกับ รายการเจาะใจ สร้างสรรค์ โครงการ ‘SCG V Gen อาสายั่งยืน’ ในรูปแบบรายการเรียลลิตี้โชว์ขึ้น เพื่อสร้างคน Generation ใหม่ คนหัวใจอาสาที่พร้อมอุทิศแรงกายแรงใจที่จะไปเรียนรู้ ส่งต่อ สืบทอด และขยายองค์ความรู้ ตลอดจนนวัตกรรมจากชุมชนต้นแบบไปสู่อีกชุมชนหนึ่ง โดยมุ่งหวังให้เกิดการต่อยอดขยายผลสู่ชุมชนอื่นๆ ต่อไป
SCG V GEN คือใคร
SCG V GEN คือ คนรุ่นใหม่ผู้มีใจอาสาอยากเข้ามาเรียนรู้และช่วยเหลือสังคมร่วมกับเอสซีจี ซึ่งตัวอักษร ‘V’ มาจากคำว่า Volunteer หรืออาสาสมัครรุ่นใหม่ ที่ผ่านการคัดเลือกจากผู้สมัครทั่วประเทศให้เหลือเพียง 21 คน โดยชาว ‘SCG V GEN อาสายั่งยืน’ กลุ่มนี้ ต้องไปอยู่ ไปเรียนรู้ ไปลอง ไปทำ กับชุมชนต้นแบบ และนำในองค์ความรู้และภูมิปัญญาต่างๆ เหล่านั้นไปถ่ายทอดต่อสู่ชุมชนปลายทางด้วยการไปสอน ไปแนะนำ ไปสร้าง ไปให้ ซึ่งเหนือสิ่งอื่นใดการอาสาที่ยิ่งใหญ่ของพวกเขาคือ การอาสาที่จะเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนหัวใจ เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับคนรุ่นใหม่ทั่วประเทศ
รายละเอียดโครงการ
เพราะความยั่งยืนจะเกิดได้ต้องเริ่มต้นจาก ‘คน’ นี่จึงเป็นครั้งแรกของการรวมตัวของ 3 ตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่เป็นนักคิดและมีจิตอาสาอยากจะสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับสังคมไทย ด้วยการมารับหน้าที่เป็นแกนนำอาสายั่งยืน ไม่ว่าจะเป็น เป้-อารักษ์ อมรศุภศิริ, เต๋อ-ฉันทวิชช์ ธนะเสวี และโดนัท-มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล เพื่อร่วมออกเดินทางไปค้นหาแก่นแท้และตัวตนจากชุมชนที่อุดมไปด้วยภูมิปัญญา ร่วมกับน้องๆ SCG V GEN ทั้ง 21 คน พร้อมเสริมทัพด้วยพี่เลี้ยงเอสซีจีอาสายั่งยืน ที่มีประสบการณ์ในงานพัฒนาชุมชนมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน อีก 6 คน. สู่ 30 SCG V GEN อาสายั่งยืนรุ่นแรกของเมืองไทย โดย SCG V GEN ทั้ง 3 ทีม จะต้องร่วมออกเดินทางไปอยู่. กิน. นอน. ใน 3 ชุมชนต้นแบบ เพื่อเรียนรู้ภูมิปัญญาที่เป็นองค์ความรู้ของแต่ละชุมชน เพื่อนำไปถ่ายทอดสู่ชุมชนอื่นๆ เพื่อสร้างและขยายเครือข่ายชุมชนยั่งยืน
ต้นแบบชุมชนแห่งความยั่งยืน
ต้นแบบชุมชนที่ยั่งยืน หมายถึง ชุมชนที่มีกระบวนการเรียนรู้ แก้ปัญหาและพัฒนาตนเองร่วมกัน เพื่อให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง สามารถช่วยเหลือพึ่งพาตัวเองได้ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ เกิดความสามัคคีในชุมชนและร่วมกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืน เพื่อเป็นต้นแบบที่สามารถขยายผลและถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนอื่นๆ ต่อไป
ชุมชนสร้างฝาย…ฝายสร้างชีวิตชุมชนสาสบหก อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง
ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นกับชุมชนแห่งนี้ คือ การประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงในฤดูแล้ง และน้ำไหลท่วมชุมชนในฤดูฝน จนกระทั่งเอสซีจีเข้าไปให้ความรู้ และเชิญชวนแกนนำชุมชนไปศึกษาการฟื้นฟูป่าและน้ำ ด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำ ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทำให้ชาวบ้านได้เรียนรู้วิธีการสร้างฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริ รวมถึงการอนุรักษ์ป่าและน้ำ ที่จะช่วยให้ชุมชนมีน้ำใช้ได้ตลอดปี เกิดเป็นแรงบันดาลใจที่จะนำความรู้กลับมาฟื้นฟูป่าห้วยหกของชุมชน โดยชุมชน ได้ร่วมกันสร้างฝายชะลอน้ำขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2550 และร่วมแรงร่วมใจดำเนินการสร้างฝายชะลอน้ำอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับเรียนรู้กระบวนการ ‘สร้างฝายในใจคน’ โดยใช้ฝายชะลอน้ำเป็นเครื่องมือให้คนในชุมชนหันมาพูดคุยและแก้ไขปัญหาร่วม กัน ส่งผลให้ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าและน้ำคืนกลับมาสู่ชุมชน สร้างอาชีพ เสริมรายได้ เกิดเป็นชุมชนที่เข้มแข็งอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นต้นแบบในการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่ชุมชนอื่นๆ
ฟื้นฟูดินเค็ม…ชุบชีวิตใหม่แก่ชุมชน ชุมชนบ้านไผ่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น
ชุมชนบ้านไผ่ ตั้งอยู่ที่ ต.หัวหนอง อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ประสบปัญหาดินเค็มซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในภูมิภาคนี้ ส่งผลให้การทำเกษตรมีผลผลิตต่ำ จึงทำให้พื้นที่การเกษตรบางแห่งในชุมชนถูกทิ้งร้าง เกษตรกรละทิ้งถิ่นฐาน ด้วยเหตุนี้ เอสซีจี ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และกรมพัฒนาที่ดิน จึงร่วมนำความรู้ และวิธีการแก้ปัญหาดินเค็ม เช่น การปรับปรุงคุณภาพดิน การเพิ่มอินทรีย์วัตถุในดิน การปลูกพืชเศรษฐกิจทนเค็ม พร้อมส่งเสริมอาชีพ เพื่อสร้างรายได้เสริมให้เกษตรกร ส่งผลให้ปัจจุบันชาวบ้านในชุมชนสามารถพลิกฟื้นผืนดินที่เคยมีปัญหา ให้กลับมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ ทำให้เกิดเป็นการรวมกลุ่มและก่อตั้งศูนย์บ่มเพาะพัฒนาเกษตรกรพื้นที่ดินเค็ม นำไปสู่การต่อยอดถ่ายทอดความรู้ระหว่างกัน อันเป็นเครือข่ายที่แข็งแรงและยั่งยืน เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้นี้แก่เกษตรอย่างยั่งยืนต่อไป
พลิกชีวิต…ด้วยเกษตรทฤษฎีใหม่ ชุมชนสองสลึง อ.แกลง จ.ระยอง
ชุมชนสองสลึง จ.ระยอง เป็นชุมชนที่เกษตรกรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวน ซึ่งแนวคิดดั้งเดิมของการทำสวนของเกษตรกรในชุมชนนี้ก็เหมือนกับชาวสวนทั่วไป ที่เมื่อใครทำอะไรรวยก็มักทำตามๆ กัน ตัวอย่างหนึ่งของเกษตรกรในชุมชนนี้ คือ คุณลุงสมศักดิ์ เครือวัลย์ วัย 59 ปี ที่เริ่มต้นจากทำสวนผลไม้เหมือนเกษตรกรคนอื่นๆ แต่เมื่อผลผลิตออกมาเหมือนกันจนล้นตลาด ราคาก็ตกต่ำ ทำให้ขาดทุน เป็นหนี้สินมากมาย คุณลุงสมศักดิ์ จึงหันกลับมาคิดทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น สุดท้ายได้นำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติ เพียง 3 เดือนก็สามารถขายปุ๋ยจนใช้หนี้หมด
สิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณลุงสมศักดิ์เผยแพร่ไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้คนในชุมชนนี้นำแนวคิดนี้ไปปฏิบัติและเกิดการรวมกลุ่มกันทำปุ๋ย อินทรีย์ มีการแลกเปลี่ยนความรู้ จนเกิดการสะสมเป็นองค์ความรู้ที่ครบทุกด้าน ในที่สุดคุณลุงสมศักดิ์จึงเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรพอเพียงให้ผู้คนทั่วไป เข้ามาศึกษา โดยมีฐานการเรียนรู้ต่างๆ อาทิ การทำปุ๋ย การทำไบโอดีเซลและพลังงานทดแทน ปัจจุบัน คุณลุงสมศักดิ์ ได้นำพาชาวบ้านในชุมชนให้อยู่อย่างยั่งยืนด้วยตัวเอง ตามแนวทางแห่งความพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่
เรื่องราวการเรียนรู้ของ SCG V Gen ทั้ง 3 ทีมนี้ จะถูกถ่ายทอดผ่านทางรายการเจาะใจ รายการทีวีที่สร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้คนและสังคมไทยมายาวนานกว่า 2 ทศวรรษ ในรูปแบบของเรียลลิตี้โชว์ตลอด 6 สัปดาห์ โดยจะออกอากาศตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2556 – 11 กรกฎาคม 2556 เพื่อเป็นสื่อกลางที่จะพาคนไทยก้าวสู่การเรียนรู้วิธีคิด ภูมิปัญญา และนวัตกรรม เพื่อทำความรู้จักกับหัวใจที่ยั่งยืนไปพร้อมๆ กับชาว ‘SCG V Gen อาสายั่งยืน’ ทั้ง 30 ชีวิต
คุณสมบัติผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ
เพศ หญิง/ชาย อายุระหว่าง 18-24 ปี เป็นนิสิต นักศึกษา ที่กำลังศึกษาอยู่ระดับปริญญาตรี ไม่จำกัดสถาบันการศึกษา
มีจิตอาสาและอยากเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคม
มีความพร้อมด้านสภาพร่างกาย สามารถร่วมทำกิจกรรมต่างๆ กับโครงการได้ตามที่กำหนด
มีความพร้อมสามารถเดินทางไปค้างคืนต่างจังหวัดได้
ไม่มีโรคประจำตัว หรือข้อจำกัดทางร่างกายในการทำกิจกรรมอาสา
โดยสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ SCG V GEN อาสายั่งยืน ได้ทาง www.scg.co.th/scgvgen, www.facebook.com/scgwater, www.johjai1991.com/scgvgen, www.facebook/johjai
หรือดาวน์โหลดใบสมัครจากเวบไซต์ข้างต้นแล้วส่งใบสมัครมาได้ที่ รายการเจาะใจ (โครงการ SCG V GEN อาสายั่งยืน) บริษัท เจ เอสแอลโกลบอลมีเดีย จำกัด 154 ถนนลาดพร้าว (ซอย 107) คลองจั่น บางกะปิ กรุงเทพฯ 10240 และทางอีเมล : scgvgen@johjai1991.comโดยจะประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือก 21 คน ในวันศุกร์ที่ 22 มีนาคม 2556 ทางเวบไซต์ดังกล่าว
รายการอ้างอิง:
โครงการ “SCG V GEN อาสายั่งยืน” รับสมัครจิตอาสา สร้างเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง. เนชั่นสุดสัปดาห์. ฉบับวันที่ 08 – 14 มีนาคม พ.ศ. 2556.– ( 785 Views)