magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home การศึกษา 3 ร 1 ว 4 สุดยอดทักษะ ปฏิวัติเด็กไทยสายพันธุ์ใหม่
formats

3 ร 1 ว 4 สุดยอดทักษะ ปฏิวัติเด็กไทยสายพันธุ์ใหม่

องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี และสังคมบริโภคนิยมที่ในยุคนี้ผลักดันให้วิถีชีวิต และทัศนคติของเด็กไทยรุ่นใหม่ เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แรงกดดันในการ ปั้นเด็กให้เติบโตมาเป็น “คนเก่ง” เพราะเชื่อมั่นว่า ความเก่งคือ หนทางคู่ขนาดไปกับความอยู่รอด และหน้าที่การงานที่มั่นคงแต่การพัฒนาศักยภาพของเด็ก จำเป็นต้องทำไปในสองด้าน ทั้งความเก่ง และความดี
หลายปีที่ผ่านมา บ้านเรามุ่งพัฒนาคนเก่ง จนลืมที่จะปลุก และ ปลูก สำนึกในความเป็นพลเมือง สำนึกของความเป็นเยาวชนที่ดีเข้าสู่จิตใจของเด็กไทย เด็กไทยไม่น้อยที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางสมรภูมิของการแข่งขัน และช่วงชิงกันเพื่อให้ได้มาซึ่งที่นั่งในสถาบันการศึกษาอันมีชื่อ แต่ปราศจากสำนึกที่ดีต่อสังคมและเพื่อนมนุษย์ ก็ก่อให้เกิดปัญหากับสังคมมาแล้วไม่น้อย

ท่ามกลางเป้าหมายในการพัฒนาให้เด็กไทยเติบโตมาเป็นคนเก่ง และคนดี วันนี้ ผู้ใหญ่ในบ้านเราเริ่มออกมาตั้งคำถามว่า ทิศทางในการเลี้ยงดู และอบรมบ่มนิสัยให้กับเยาวชนของชาติเรานั้นถูกต้องแล้วหรือไม่

ในงานประชุมวิชาการประจำปีครั้งที่ 1 ของหน่วยงานจัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะ 15 หน่วยงานของบ้านเรา อาทิ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) นักวิชาการ และผู้ใหญ่คนสำคัญได้ชี้ให้เห็นถึงแนวทางการพัฒนาเด็กไทยในปัจจุบัน เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกให้กับบรรดาผู้ปกครอง หรือบุคลากรที่ทำงาน ด้านการพัฒนาเยาวชนได้ตระหนัก และย้อนกลับไปถามตัวเองว่า นี่เรากำลังหลงทางอยู่หรือไม่?

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ทิศทางการสร้างเด็กพันธุ์ใหม่เพื่ออนาคตไทย” ว่า วันนี้เรายังเห็นเด็กยุคใหม่ขาดทักษะการเรียนรู้ การใช้ชีวิต และเอาตัวรอด การศึกษาจึงไม่ควรหยุดอยู่แค่วิชาการเท่านั้นแต่ต้องมีสุดยอดทักษะ 4 ประการ

นั่นคือ 3 ร 1 ว ซึ่งได้แก่ 1.แรงบันดาลใจ 2.เรียนรู้ 3.ร่วมมือ 4.วินัย ซึ่งจะทำให้เด็กเรียนรู้ได้เองโดยไม่ต้องสอน หรือ “งอกงามจากภายใน” นั่นเอง

“การศึกษาในศตวรรษที่ 21 เราต้องเรียนรู้โดยลงมือปฏิบัติ เพื่อให้เกิดทักษะ หรือการลงมือทำเป็นทีม เช่น การทำโครงงาน เด็กจะได้ทักษะการต่อรอง ยอมรับ ผลัดกันรับหน้าที่ เข้าใจกัน จนจะเกิดทักษะบูรณาการ ขณะที่เด็กและครูจะต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันแบบคู่ขนาน

นอกจากนี้เด็กไทยควรมีทักษะด้านภาษา ศิลปะ เศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และความเป็นพลเมืองและรัฐ และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว

ขณะที่ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า การจะพัฒนาเด็กให้เติบโตเป็นเด็กที่เก่งและดีได้นั้น จะต้องมี 4 องค์ ประกอบ คือ 1.เครือข่ายครอบครัวที่เข้มแข็ง 2.ระบบโรงเรียน ที่พัฒนาทักษะการเรียนรู้และทักษะการใช้ชีวิตให้แก่เด็ก 3. การสร้าง ชุมชน เพื่อน สิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก และ 4.สื่อสร้างสรรค์

ในขณะที่ดร.ทินสิริ ศิริโพธิ์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายบริหาร และ การสื่อสาร สำนักเลขาธิการรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศอาเซียนกำลังมีการปรับรูปแบบการศึกษา เพื่อให้คุณภาพชีวิตของเด็ก และเยาวชนพัฒนาไปในทิศทางที่แต่ละประเทศยังขาด ซึ่งทุกชาติเริ่มต้นแล้ว   “การจะช่วยให้เด็กไทยสามารถยืนหยัดอยู่ในเวทีโลกได้นั้น จะต้องตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน คือ 1. สังคมแห่งความร่วมมือในภูมิภาค 2.สังคมที่ต้องติดต่อและแข่งขันกันทั่วโลก 3.สังคมที่ใช้เทคโนโลยีอย่างมาก และ 4.สังคมที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเด็กไทยจะต้องรู้จักสมรรถนะภูมิภาค คือเข้าใจและเคารพวัฒนธรรมที่หลากหลาย มีความรู้และคุณธรรม รู้จักการทำงานร่วมกันเป็นทีม มีภาวะความเป็นผู้นำ และต้องมีความรับผิดชอบทางสังคม” ดร.ทินสิริกล่าว  เป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรใน บ้านเรา จำเป็นต้องเริ่มดูแลตั้งแต่ฐานราก การปลูกฝังให้เยาวชน และเด็กๆ เติบโตมาอย่างมีคุณภาพ สมบูรณ์พร้อมทั้งสุขภาพร่างกาย และสุขภาพจิต รวมทั้งมีเกราะคุ้มกันด้านศีลธรรม จึงเป็นงานหนัก ที่ผู้ใหญ่ในวันนี้ลงมือทำอย่างต่อเนื่อง และจะเป็นหน้าที่ผูกพัน ตลอดไป

รายการอ้างอิง  :
3 ร 1 ว 4 สุดยอดทักษะ ปฏิวัติเด็กไทยสายพันธุ์ใหม่. กรุงเทพธุรกิจ (สร้างสุข). ฉบับวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2556.– ( 147 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


seven + = 10

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>