แม้อะลูมิเนียมจะจัดอยู่ในกลุ่มโลหะสีเขียวที่นำกลับมาหลอมเพื่อใช้งานใหม่ได้ แต่กระบวนการหลอมกลับไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อต้องสูญเสียพลังงานมหาศาล ถือเป็น “จุดเปลี่ยน” ให้กับแนวคิดการสร้างมูลค่าให้เศษอะลูมิเนียมที่มากถึง 12 ตันต่อวัน
“ดีไซน์ที่แตกต่าง” เป็นทางเลือกที่มาทดแทนการหลอม และเป็นจุดเริ่มต้นของ ALUCLE แบรนด์เฟอร์นิเจอร์อะลูมิเนียมน้องใหม่ โดดเด่นด้วยรูปทรงแปลกตา ภายนอกให้ความรู้สึกแข็งแกร่งด้วยฟอร์มโลหะ ภายในแฝงด้วยอารมณ์ขันจากมุมมองนักออกแบบ จึงสะดุดตาผู้พบเห็น
ดีไซน์แปลกต่าง
เอ็ม ที ไดนาสตี้ บริษัทผลิตอะลูมิเนียมเพื่อใช้ในงานสถาปัตยกรรมและเฟอร์นิเจอร์ จึงมีเศษอะลูมิเนียมที่เหลือจากกระบวนการผลิต ทั้งลักษณะที่เป็นท่อนและเส้น ที่ไม่ได้ขนาดเหมาะสมพอจะนำกลับมาใช้ใหม่ เศษโลหะวันละ 12 ตันเหล่านี้จะถูกนำกลับไปหลอม คิดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเดือนละกว่า 1 ล้านบาท
ปี 2553 บริษัทมองหาแนวทางใหม่ในการแก้ปัญหาเศษวัสดุเหลือทิ้ง และประสบโอกาสเข้าร่วมโครงการเปลี่ยนขยะเป็นทองของ ผศ.สิงห์ อินทรชูโต สถาปนิคมือทอง แห่ง scrap Lab คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายใต้โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย หรือ iTAP สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยได้พัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์จากเศษ ตามแนวคิด UPCYCLING
พีรพล ธนทวี ผู้จัดการโครงการพัฒนาวัสดุต้นน้ำและผลิตภัณฑ์จากเศษเหลือใช้ เอ็มทีไดนาสตี้ กล่าวว่า ดีไซน์แปลกตาสามารถขายได้ตั้งแต่ราคาหลักพันไปจนถึงหลักหมื่น ปัจจุบันบริษัทได้พัฒนาดีไซน์จากเศษอะลูมิเนียมไม่ต่ำกว่า 6 รูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น เก้าอี้ Origami จากแนวคิดกระดาษพับ เก้าอี้สำนักงานรูปทรงไขว้กันเลียนแบบคลิปหนีบกระดาษ ไปจนถึงเก้าอี้ตัวยาวที่ทำจากโครงอะลูมิเนียม สร้างความโดดเด่นด้วยแถบลวดลายฉลุคาดกลาง
“เฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นยังคงกลิ่นอายความเป็นอุตสาหกรรม แวววาว ไม่มีสีแต่มีแสง ช่วยสร้างความสมดุลให้กับที่พักอาศัย” เขากล่าว
หมดยุคขยะ
วัสดุเหลือทิ้งจากภาคอุตสาหกรรมที่รอการเสื่อมสภาพ ไม่ว่าจะเป็น เศษชิ้นส่วนไม้ กระดาษ พลาสติก ยางสังเคราะห์ เศษผ้า เศษกระจก อะลูมิเนียม เศษแก้ว เศษเหล็ก เป็นปัญหาใหญ่ต่อสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมที่ต้องหาทางกำจัด
ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. มองว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการเปลี่ยนขยะเป็นทองมากกว่า 30 บริษัท ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานเฟอร์นิเจอร์รูปแบบใหม่ จากเศษไม้ เศษกระจกและอะลูมิเนียมที่เหลือจากกระบวนการผลิต
“นอกจากการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ร่วมกับวัสดุหลากหลายชนิด แต่ยังคงความแข็งแรง และเป็นที่ต้องการของตลาด แม้จะมาจากเศษเหลือทิ้ง โครงการเปลี่ยนขยะเป็นทองยังมองถึงการสร้างแบรนด์ และเปิดตลาดจำหน่ายสินค้าในตลาดต่างประเทศ แสดงให้เห็นศักยภาพของผู้ประกอบการไทยในตลาดสีเขียว หรือ Green Market”
ด้าน ผศ.สิงห์ ผู้เชี่ยวชาญจากโครงการเปลี่ยนขยะเป็นทอง เสริมว่า ขยะอุตสาหกรรมเป็นหนึ่งปัจจัยของปัญหา ซึ่งขณะนี้ในประเทศไทยอุตสาหกรรมที่พบมาก อาทิ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมไม้ และอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ดังนั้นในโครงการจึงพบเศษไม้ เศษผ้า และเศษกระจกเป็นจำนวนมาก จึงมีแนวคิดในการนำสิ่งเหล่านี้มาพัฒนาเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือของใช้ สร้างมูลค่าเพิ่มจากเศษที่เหลือใช้ในอุตสาหกรรม
ในปีนี้เป็นระยะที่ 3 แล้วของโครงการ โดยมีทั้งหมด 9 บริษัทที่เข้าร่วม แต่ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก แต่ทางโครงการสามารถรับได้เพียงจำนวนจำกัดเท่านั้น เนื่องจากในการอบรมต้องใช้ระยะเวลา เพราะเป็นสิ่งใหม่ของผู้ประกอบการ ซึ่งร้อยละ 90 ของผู้ที่เข้าร่วมโครงการไม่เคยทำเฟอร์นิเจอร์มาก่อน
อย่างไรก็ตาม ปี 2556 โครงการได้เปิดรับผู้ประกอบการเพิ่มอีก 8 ราย โดยจะเน้นผลักดันศักยภาพของดีไซเนอร์ให้ทำงานร่วมกับเอกชนมากขึ้น และที่สำคัญคือต้องฝึกให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาสินค้าใหม่จากเศษวัสดุได้ด้วยตัวเอง บนพื้นฐานทางศาสตร์ของการออกแบบอย่างยั่งยืน แม้ไม่มีผู้เชี่ยวชาญให้ความช่วยเหลือ
รายการอ้างอิง :
จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา. อะลูมิเนียมแต่งสวย. กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ (ไอที-นวัตกรรม : วิทยาศาสตร์). วันที่ 20 มีนาคม 2556.– ( 129 Views)