จากบริษัทที่ก่อตั้งจากนักชีวเคมีเมื่อ 104 ปีก่อน โดยมีผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกคือ น้ำยาย้อมผม ลอรีอัล กลายเป็นบริษัทความงามอันดับหนึ่งของโลก มีแบรนด์ระดับโลก 27 แบรนด์ วางจำหน่ายใน 130 ประเทศ มียอดขายกว่า 9 แสนล้านบาทในปี 2555
หนึ่งในปัจจัยความสำเร็จคือ การให้ความสำคัญทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม: เปิดแลปความงาม
แพทริเชีย พีโน ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารวิทยาศาสตร์ ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมลอรีอัล กล่าวว่า ลอรีอัลให้ความสำคัญกับงานวิจัยและพัฒนา โดยมีศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมความงามที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยศูนย์วิจัย 19 แห่ง และศูนย์ประเมินผลิตภัณฑ์อีก 17 แห่งทั่วโลก
“งานวิจัยของเราแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคืองานวิจัยขั้นสูง, งานวิจัยประยุกต์ และการพัฒนาจากงานวิจัยไปสู่ตัวผลิตภัณฑ์ โดยในปี 2555 ที่ผ่านมา ลอรีอัลใช้งบประมาณเพื่อการวิจัย กว่า 3 หมื่นล้านบาท” แพทริเชียกล่าว พร้อมเสริมว่า การทดลองวิจัยนี้นำมาซึ่งการจดสิทธิบัตร 611 รายการ
ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารวิทยาศาสตร์ ยกตัวอย่างงานวิจัย 3 ประเภทของลอรีอัล โดยงานวิจัยขั้นสูง (Advanced Research) จะมุ่งเน้นไปที่การคิดค้นโมเลกุลใหม่ๆ สร้าง ส่วนผสมที่สำคัญ และแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ โดยทีมวิจัยจะวิเคราะห์และเลือกส่วนผสมหลักจากความรู้และหลักฐานทางวิทยา ศาสตร์ ประกอบกับกระบวนการประเมินผลที่มีความแม่นยำสูง
หนึ่งในผลการวิจัยคือ LR2412 โมเลกุลลิขสิทธ์ของลอรีอัล ที่ได้จากการเลียนแบบการทำงานของเซลล์ของพืช ในการสามารถซ่อมแซมและสร้างเซลล์ใหม่ LR2412 เป็นโมเลกุลที่ต่อต้านความร่วงโรย ช่วยฟื้นบำรุงผิว และเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับผิว ลอรีอัลนำ LR 2412 มาใช้เป็นส่วนผสมสำคัญในผลิตภัณฑ์ Lancome Visionnaire โดยสูตรสำหรับคนเอเชีย จะมีผิวสัมผัสที่แตกต่างจากสูตรที่วางขายในยุโรป
ในขณะที่งานวิจัยประยุกต์ (Applied Research) จะมุ่งไปที่การพัฒนาสูตร และเทคโนโลยีที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ เช่น การพัฒนา Hybrid pigment เพื่อใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เช่น แป้ง และลิปสติก Hybrid Pigment ให้เม็ดสีที่สดและชัด และไม่เปลี่ยนสีเมื่อสัมผัสกับผิว แตกต่างจากเม็ดสีทั่วไป ที่เราเห็นเป็นเฉดหนึ่ง แต่เมื่อทาแล้ว สีไม่เหมือนที่เห็น หรือการสร้างอณูแป้งชนิดที่เคลือบด้วยโพลิเมอร์ชนิดพิเศษ ที่ทำหน้าที่เป็นเกราะกันน้ำและน้ำมัน ทำให้แป้งนวลเนียนบนใบหน้าได้ยาวนานโดยไม่เป็นคราบหรือเปลี่ยนสี
นอกจากนี้ยังมีการผสมผสานระหว่างไฟเบอร์และโพลิเมอร์ ในการสร้างสูตรมาสคาร่า เพื่อช่วยทำให้ขนตาดูหนา ยาว งอนขึ้น และอยู่ตัวได้นานทั้งวัน พร้อมลักษณะต่างๆของขนแปรงมาสคาร่าที่ถูกออกแบบมาสำหรับขนตาของสาวเอเชียที่ ตรงและทิ่มลงโดยเฉพาะ กลายมาเป็นสูตรของมาสคาร่า Lashionista ของเมย์เบลลีน นิวยอร์ก ที่ได้กลายเป็นมาสคาร่าที่ขายดีที่สุดของญี่ปุ่น
ส่วนที่ 3 คือการพัฒนา ซึ่งเป็นการส่งมอบสูตรนวัตกรรม สำหรับแบรนด์ต่างๆ เพื่อนำไปประยุกต์และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ผู้ บริโภค
: เติมสวยด้วยวิทย์
“การสร้างสรรค์นวัตกรรม ต้องอาศัยความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นสภาพภูมิอากาศ วัฒนธรรม ลักษณะของผิวพรรณและเส้นผมของผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งความต้องการและความคาดหวังของผู้บริโภค ทั้งหมดนี้มีสำคัญต่อการพัฒนาวัสดุและเทคโนโลยีที่จะใช้ ซึ่งลอรีอัล ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในการเข้าใจความต้องการและความคาดหวังจากผู้ บริโภค” สเตฟาน ออทิซ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนวัตกรรมลอรีอัลภูมิภาคเอเชียอธิบาย
ลอรีอัลได้มีการศึกษาผู้บริโภค 800 คน เพื่อทำความเข้าใจลักษณะของผิวพรรณที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุ และได้จัดทำ Skin Ageing Atlas หรือพจนานุกรมผิวและศาสตร์ความร่วงโรยของผิว
นอกจากนี้ เพื่อสนองตอบกระแสสังคม ลอรีอัลยุติการทดสอบผลิตภัณฑ์กับสัตว์ทดลองในปี 2532 และหันมาใช้เซลล์ผิวหนังสังเคราะห์แทน โดยเซลล์ผิวหนังสังเคราะห์ของลอรีอัล เป็นเซลล์ที่มีชีวิต มีชั้นผิว เม็ดสีผิว ต่อมเหงื่อและต่อมผลิตน้ำมัน ที่มีปฏิกิริยาและกระบวนการต่างๆเหมือนเซลล์ผิวหนังของมนุษย์จริงๆ
ผิวหนังสังเคราะห์หรือ Bio Skin เพื่อจำลองลักษณะต่างๆของผิวหน้า จากผิวหน้าจริงของผู้หญิงหลายๆคน ด้วยซิลิโคนชนิดพิเศษ ที่จะแสดงถึงรูขุม สิว ริ้วรอย ได้อย่างละเอียด สำหรับวิจัยผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ใช้บนผิวหน้า ไม่ว่าจะเป็นแป้ง รองพื้น BB Mousse เพื่อตรวจสอบการกระจายตัวของเนื้อผลิตภัณฑ์ และส่วนผสมพิเศษที่ทำให้เกิดการกระจายและหักเหของแสง ซึ่งจะช่วยทำให้มองเห็นริ้วรอยต่างๆได้น้อยลง
“เราพัฒนาเซลล์ผิวหนังสังเคราะห์หลากหลายชนิด ทั้งผิวของคนเอเชีย ผิวของคนอินเดีย ผิวของคนแอฟริกา ผิวของเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ เพื่อใช้ในการวิจัย และในปัจจุบัน ลอรีอัลสามารถผลิตเซลล์ผิวหนังสังเคราะห์เป็นจำนวนมากพอที่จะให้บริษัทอื่นๆ สามารถนำไปใช้ได้ด้วย” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนวัตกรรมลอรีอัลภูมิภาคเอเชียชี้
สำหรับประเทศไทย ค่าใช้จ่ายด้านความงามโดยเฉลี่ย ปี 2555 มีมูลค่า 2250 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งสูงขึ้น 40% จากปี 2554 สูงเป็นอันดับ 5 ในเอเชีย (ญี่ปุ่น 12,000 บาท สิงคโปร์ 10,600 บาท เกาหลี 7,000 บาท มาเลเซีย 2,600 บาท)
สดับพิณ คำนวณทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ลอรีอัล ประเทศไทย (จำกัด) กล่าวว่า ตลาดความงามในไทยมองเห็นความสำคัญของนวัตกรรม โดยเฉพาะผู้บริโภคที่เพิ่มพฤติกรรมในการหาข้อมูลเกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์ก่อน จะตัดสินใจซื้อ
“ผู้บริโภคของไทยใส่ใจกับปัญหาผิวที่ตนเองกังวลเป็นหลัก จากนั้นจึงจะดูสภาพผิว และเลือกผลิตภัณฑ์ความงามที่เหมาะสมกับผิว ซึ่งนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กระตุ้นการซื้อเช่นกัน”
รายการอ้างอิง :
วิทยาศาสตร์ในลอรีอัล. กรุงเทพธุรกิจ (Innovation). วันที่ 22 มีนาคม 2556.– ( 55 Views)