เคยสงสัยไหมครับว่า เครื่องถ่ายเอกสารทำงานกันอย่างไร ว่าแล้วเราลองมาชำแหละกระบวนการทำงานของเจ้าเครื่องนี้กันเลยดีกว่า โดยเริ่มที่อุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดก่อน คือลูกกลิ้งซึ่งถือว่าเป็นพระเอกของงานนี้ ลูกกลิ้งตัวนี้ถูกเคลือบด้วยสาร “Selenium” ซึ่งเป็นตัวนำไฟฟ้าชนิดพิเศษที่เรียกว่า “Photoconductor” ความพิเศษของมันคือตอนอยู่ในที่มืดจะทำตัวเป็นฉนวน แต่พอโดนแสงลูกกลิ้งจะกลายเป็นตัวนำไฟฟ้าแทน
ขั้นตอนการทำงานเริ่มแรก เราจะทำการเหนี่ยวลูกกลิ้งเคลือบ Selenium ให้มีประจุไฟฟ้าบวกก่อน ก็ด้วยการกดปุ่มบนเครื่องถ่ายเอกสาร เมื่อวางต้นฉบับลงไปเครื่องจะทำการฉายแสงผ่านต้นฉบับลงไปกระทบที่ลูกกลิ้ง โดยส่วนที่เป็นเงาของตัวอักษรสีดำแสงจะไม่สามารถผ่านไปได้ (สีดำมีคุณสมบัติดูดแสง) ลูกกลิ้งส่วนที่โดนแสงจะกลายเป็นตัวนำไฟฟ้า ซึ่งตัวนำไฟฟ้ามีประจุเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ ประจุก็เลยไหลปรื๊ดออกไปหมด แต่ส่วนที่เป็นเงานั้นไม่โดนแสงก็เลยยังเป็นฉนวนอยู่ ซึ่งประจุไฟฟ้าที่อยู่ในฉนวน มิอาจเคลื่อนที่ไปไหนได้ เลยค้างเติ่งอยู่ตรงนั้นเรียงแถวเป็นตัวหนังสืออยู่ตามเงาของต้นฉบับเรานั่นเอง
ขั้นต่อมาเครื่องถ่ายเอกสารจะสาด “Toner” หรือ “ผงหมึก” ที่อุดมไปด้วยประจุลบลงบนลูกกลิ้ง ผงหมึกจะไปติดอยู่บนส่วนที่เป็นเงาของต้นฉบับอย่างสวยงาม เพราะส่วนนี้ยังมีประจุบวกเรียงรายอยู่
ขั้นตอนสุดท้าย เครื่องถ่ายเอกสารจะนำกระดาษมาแต๊บลงลูกกลิ้ง ผงหมึกก็จะติดไปบนกระดาษ เสร็จแล้วเอาไปผ่านความร้อนอีกรอบให้ผงหมึกละลายติดกระดาษเป็นอันเสร็จพิธี
แหล่งที่มา :
“Physics Style : เครื่องถ่ายเอกสาร” plook. (27) : มีนาคม 2556
– ( 535 Views)