magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก วิถีลำไยอินทรีย์‘พรมกังวาน’
formats

วิถีลำไยอินทรีย์‘พรมกังวาน’

ลำไยอินทรีย์พรมกังวาน ไม่เพียงให้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ แต่ยังสร้างโอกาสในตลาดโลกโดยเฉพาะโซนยุโรปที่เน้นสินค้าเพื่อสุขภาพ

การทำเกษตรอินทรีย์ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องเริ่มจากสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรที่ลงมือปฏิบัติ แต่มุมของ ปรกชล พรมกังวาน การลงทุนกับสวนลำไยอินทรีย์คือความท้าทายและคุ้มค่า เมื่อไร่ลำไยอินทรีย์พรมกังวานพร้อมออกสู่ตลาด

:จากสวนเคมีสู่ลำไยอินทรีย์

ปรกชล พรมกังวาน กรรมการผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดพรมกังวาน กล่าวว่า เติบโตมาในครอบครัวที่ทำสวนลำไยมาตั้งแต่รุ่นปู่ทำให้ความคิดที่มีวนเวียนอยู่แต่เรื่องการพัฒนาเรือกสวนไร่นาตลอดเวลา กระทั่งเกิดความคิดที่จะเปลี่ยนสวนลำไยที่พึ่งพาปุ๋ยเคมีมาเป็นสวนลำไยอินทรีย์เมื่อ 6 ปีก่อนเพื่อลดต้นทุนการผลิตในแบบยั่งยืน“ธุรกิจลำไยก็เหมือนผักผลไม้ทั่วไปที่ต้องพบกับวิกฤติล้นตลาดและราคาตก เมื่อผลผลิตมากเกินความต้องการผู้บริโภค ทำให้ไร่พรมกังวานเริ่มคิดหาทางออกด้วยการเปลี่ยนจากสวนลำไยเคมีมาเป็นสวนลำไยอินทรีย์เพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมถึงนำผลผลิตที่ได้มาแปรรูปให้หลากหลาย ทั้งลำไยอบแห้ง ชาลำไย เพื่อให้มีความต่างและเป็นที่สนใจของผู้ซื้อ”ปรกชล กล่าว

สวนลำไยพรมกังวานเป็นเพียงธุรกิจครอบครัว ทำให้การขยับขยายกิจการในช่วงแรก ติดขัดเรื่องขั้นตอนการแปรรูปจนต้องนำโจทย์เข้ามาปรึกษาทีมวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ภายใต้โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ไอแท็ป) เมื่อ 5 ปีก่อนเพื่อหาทางออกในเรื่องการนำเทคโนโลยีแปรรูปลำไยที่เหมาะสมเข้ามาใช้ในธุรกิจ

เขาบอกว่า รู้จักไอแท็ปมาร่วม 7 ปี แต่มีโอกาสเข้าร่วมโครงการจริงจังเมื่อ 5 ปีก่อน เพราะสุกฤษฏิ์ สุขิตเจริญกุล เจ้าของกระเบื้องไม้งาม ซึ่งเข้าร่วมโครงการมาก่อนเป็นผู้แนะนำ กอปกับเขาเองก็คิดไม่ตกกับปัญหาการอบแห้งซึ่งแต่เดิมใช้วิธีคั่วในเตา พบว่าผลลำไยบุบแตก และสิ้นเปลืองแรงงานในการพลิกกลับลำไยในระหว่างที่ทำการอบ ซึ่งหลังจากเข้าร่วมโครงการฯก็ได้เตาอบต้นแบบมา 1 เครื่องสำหรับนำไปขยายผลต่อเชิงอุตสาหกรรมในเวลาไม่ถึงปี

:ลำไยอินทรีย์พร้อมสยายปีก

เมื่อเทคโนโลยีอบลำไยแห้งอยู่ตัว พรมกังวานก็เริ่มคิดค้นวิธีการแปรรูปลำไยต่อเนื่องกระทั่งได้เป็นผลิตภัณฑ์ชาผงลำไยพร้อมดื่มเมื่อ 3 ปีก่อน เพื่อให้ลำไยเกิดการแปรรูปอย่างครบวงจรและบริโภคง่ายที่สุด จากเดิมที่ท้องตลาดจะใช้ผลตากแห้งมาต้มน้ำดื่มซึ่งเสียเวลาต้มน้ำนานกว่าจะได้กินน้ำลำไยให้ชื่นใจสักแก้ว

โจทย์ต่อมาที่เกิดขึ้นหลังการคิดค้นชาลำไย ปรกชล กล่าวต่อว่า อยู่ตรงที่การเกาะตัวกันหลังการผลิตของชาลำไยไม่กระจายตัวเป็นผงชาอย่างที่ต้องการ ทำให้ต้องขอความร่วมมือจากไอแท็ปเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งครั้งนี้มีการจับคู่ธุรกิจกับเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมจากเนเธอร์แลนด์ (พัม) ทำให้ได้รับการแก้ปัญหาที่กระบวนการผลิตจนประสบความสำเร็จในเวลาเพียงแค่ 2 สัปดาห์เท่านั้น

นอกจากผู้เชี่ยวชาญจากเนเธอร์แลนด์จะเดินทางมาช่วยเหลือที่โรงงานโดยตรงแล้ว ปรกชลยังมีโอกาสเดินทางไปดูการทำงานของโรงงานที่เนเธอร์แลนด์ซึ่งมีกระบวนการผลิตคล้ายๆกัน และปิ๊งไอเดียที่จะลงทุนสั่งซื้อเครื่องจักรกลับมาประยุกต์ใช้กับลำไยพรมกังวาน

“ปัญหาตอนนี้ติดที่เครื่องจักรมีราคาสูงมากสำหรับการลงทุนด้วยตัวเอง เพราะแค่เครื่องขนาดเล็กยังมีราคาสูงถึง 80 ล้านบาท ทำให้ตอนนี้อยู่ระหว่างตัดสินใจและวางแผน ว่าจะลงทุนได้อย่างไร และเมื่อลงทุนแล้วจะใช้เครื่องจักรนั้นทำอะไรบ้าง วัตถุดิบที่มีจะพร้อมสำหรับนำมาป้อนเพื่อเดินเครื่องผลิตตลอดทั้งปีหรือยัง”ปรกชล กล่าว

โอกาสที่เขามองไว้ หากนำเข้าเครื่องจักรจากเนเธอร์แลนด์สำเร็จ เขามีมะม่วง ลิ้นจี่ มังคุด สตอว์เบอร์รี่ และลำไย ไว้รองรับการผลิต เพราะเครื่องจักรดังกล่าวจะสามารถเดินเครื่องได้ 200 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ซึ่งโอกาสของธุรกิจไม่เพียงแค่แปรรูปผลิตผลที่มีในมือเท่านั้น แต่เขายังอาจทำหน้าที่เป็นโรงงานที่รับจ้างผลิตจากสวนอื่นๆได้ด้วย รวมถึงเป็นฐานการผลิตข้ามชาติหากไทยเปิดประเทศสู่ประชาคมอาเซียนก็ยังได้ เพราะสามารถประยุกต์ใช้กับพืชหรือผลไม้อื่นได้อีกมากมาย

:เทคโนโลยีพร้อมคนพร้อม

สำหรับปีนี้พรมกังวานมีแผนจะขยายกิจการเพิ่มขึ้น 200% สำหรับธุรกิจลำไยแปรรูปทุกผลิตภัณฑ์ โดยมีฟาร์มที่ทำงานร่วมกันอยู่ประมาณ 300 กว่าไร่ โดยเป้าหมายหลักของชาลำไยจะเป็นลูกค้าต่างชาติ เพราะคนไทยยังไม่นิยมบริโภคชาร้อนมากนัก โดยเฉพาะชาที่มีรสหวาน

สินค้าพรมกังวานจะเน้นส่งไปยังที่ที่มีคนนิยมบริโภค เพื่อให้ซื้อง่ายขายคล่อง สำหรับตลาดอาเซียนที่กำลังจะเปิดอาจยังไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายโดยตรง เพราะอย่างประเทศจีนเขาก็มีชาให้เลือกมากมาย การจะตีตลาดเขาได้จะต้องลงทุนและทำตลาดอีกมาก

“ผมเชื่อว่า การที่เราเดินทางตามคนที่สำเร็จ เราก็จะสำเร็จด้วย เพราะพัมมีผู้เชี่ยวชาญ 3,000 กว่าคนที่มีประสบการณ์ในการทำงานจริงมากว่า 30 ปีและเกษียณงานออกมาเป็นผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมจะคอยให้คำแนะนำกับคนที่นำโจทย์ไปให้”

รายการอ้างอิง :
กานต์ดา บุญเถื่อน. วิถีลำไยอินทรีย์‘พรมกังวาน’. กรุงเทพธุรกิจ (ไอที-นวัตกรรม : นวัตกรรม). วันที่ 19 มีนาคม 2556.– ( 304 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


six − = 5

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>