magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home การแพทย์/สาธารณสุข ลดอุณหภูมิรักษาชีวิต
formats

ลดอุณหภูมิรักษาชีวิต

การลดอุณหภูมิร่าง กายให้ต่ำกว่าปกติ เพื่อยื้อชีวิตผู้ป่วยที่สมองขาดออกซิเจนฉับพลัน สกัดภาวะเจ้าชาย เจ้าหญิงนิทรา แนวทางรักษาใหม่ที่ต้องจับตา

การลดอุณหภูมิร่างกายให้ต่ำกว่าปกติ เพื่อยื้อชีวิตผู้ป่วยที่สมองขาดออกซิเจนฉับพลัน สกัดภาวะเจ้าชาย เจ้าหญิงนิทรา แนวทางรักษาใหม่ที่ต้องจับตา

ราว 1 เดือนก่อน “ฉัตรชัย” วิศวกรหนุ่มวัย 33 ปี ล้มสิ้นสติต่อหน้าเพื่อน เพื่อนและทีมพยาบาลใช้เวลาปฐมพยาบาลกู้ชีพนานร่วม 47 นาที กระทั่งถูกนำส่งโรงพยาบาล และชีวิตรอดปลอดภัยจนถึงทุกวันนี้

ภาวะหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับฉัตรชัย พบได้น้อยในคนที่ไม่มีประวัติมาก่อน โดยเฉพาะไม่มีโรคประจำตัว อีกทั้งครอบครัวก็ไม่มีประวัติเป็นโรคทางพันธุกรรมใดๆนพ.สมบัติ มุ่งทวีพงษา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะวิกฤติทางสมอง โรงพยาบาลพญาไท 2 อินเตอร์เนชั่นแนล อธิบายว่า อาการที่ปรากฏคือ วูบหมดสติ ใบหน้าม่วงคล้ำ กัดลิ้นตัวเอง และหัวใจหยุดเต้น ให้รีบปฐมพยาบาลด้วยการปั๊มหัวใจ ด้วยการกดลงที่หน้าอกด้านซ้ายต่อเนื่องหรือทำนองเดียวกับเพลง “สุขกันเถอะเรา” เฉลี่ยแล้วจะนับได้ประมาณ 100 ครั้งต่อนาที เพื่อให้อากาศถ่ายเทเข้าสู่ปอดจนกว่ารถพยาบาลจะมา อย่างน้อยก็ยื้อชีวิตจนกว่าจะถึงมือหมอเพื่อทำการรักษาต่อไป

การที่ร่างกายคนเราหยุดหายใจ มีผลทำให้สมองขาดเลือดไปเลี้ยงและเซลล์สมองจะค่อยๆ ตาย ที่ผ่านมาผู้ที่อยู่ในภาวะหัวใจหยุดเต้นแต่ถูกช่วยชีวิตจนฟื้นกลับมาได้หลายคนอยู่ในสภาพเจ้าหญิงหรือเจ้าชายนิทรา แต่สำหรับกรณีของฉัตรชัย หลังการปฐมพยาบาล เขาได้รับการรักษาต่อเนื่องด้วยวิธีการลดอุณหภูมิร่างกาย (Hypothermia) เพื่อลดการสูญเสียของเซลล์สมอง

“คนไข้จะถูกลดอุณหภูมิร่างกายจากปกติ 37 องศาเซลเซียส ให้เหลืออยู่ที่ 33 องศาเซลเซียส เพื่อกอบกู้สมองหลังเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น ซึ่งถือเป็นวิธีการป้องกันอันตรายที่เกิดกับเซลล์สมองได้โดยตรง” นพ.สมบัติกล่าวและว่า การรักษาแบบนี้ใหม่สำหรับประเทศไทย เพราะเริ่มนำมาใช้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ขณะที่ในโรงพยาบาลต่างประเทศได้ใช้มานานกว่า 10 ปีแล้ว

การรักษาด้วยวิธีลดอุณหภูมิ ไม่เพียงรักษาภาวะหัวใจหยุดเต้นได้เท่านั้น ยังสามารถใช้กับผู้ที่มีปัญหาด้วยโรคสมองอื่นๆ ได้บ้าง ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ เพราะปัจจุบันยังไม่ถือเป็นการรักษามาตรฐาน และยังมีค่าใช้จ่ายสูงถึงหลักแสนบาท

ผลข้างเคียงของการรักษาด้วยการลดอุณหภูมิของร่างกาย นพ.สมบัติ อธิบายว่า มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ แต่หากปฏิบัติตามแพทย์แนะนำก็พบโอกาสที่จะเกิดภาวะดังกล่าวได้น้อยมาก อย่างกรณีของฉัตรชัย หลังทำการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว แพทย์ได้ผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ สำหรับป้องกันภาวะหัวใจหยุดเต้นในระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นซ้ำได้อีก
ฉัตรชัยได้รับการลดอุณหภูมิร่างกายต่อเนื่อง 3 วันโดยไม่รู้สึกตัว ตอนนี้อาการดีขึ้นมาก แต่ยังต้องทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูการทำงานของเซลล์สมอง เช่น การฝึกเขียน ฝึกอ่าน ฝึกเล่นดนตรี ทั้งที่ก่อนหน้านี้สามารถเล่นเปียโนได้จนชำนาญ รวมถึงการฝึกใช้ชีวิตในรูปแบบอื่นๆ ที่เคยทำได้ดี

“ก่อนหน้าที่จะเป็นไม่เคยมีอาการ หรือสัญญาณเตือนอะไรบอกล่วงหน้ามาก่อน มีเพียงการทำงานที่จริงจังและนอนดึกเท่านั้น ที่คิดว่าน่าจะเป็นเหตุทำให้หัวใจเกิดการเหนื่อยล้าและหยุดเต้นเอาดื้อๆ หลังฟื้นขึ้นมาได้ก็อยู่ในช่วงพักรักษาตัวและฟื้นฟูสมองให้กลับมาเหมือนเดิมมากที่สุด”

นพ.สมบัติ กล่าวต่อว่า กรณีฉัตรชัยสามารถลุกขึ้นได้ในเวลาเพียง 1 เดือนถือว่าร่างกายแข็งแรงมาก แต่ก็ยังต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูสมองส่วนที่ซับซ้อน เช่น การฝึกเขียน ฝึกอ่าน ฝึกฟัง ฝึกปฏิบัติ ให้ค่อยๆ กลับมาใช้การได้เหมือนเดิม จากปกติจะใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 6 เดือน จึงพร้อมที่จะกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ

“จากเคสของฉัตรชัย หมออยากให้ทุกคนหันมาใส่ใจเรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อช่วยเหลือคนรอบข้างได้อย่างถูกต้องและทันการณ์เมื่อต้องตกอยู่ในเหตุการณ์ลักษณะอย่างนี้ เพราะทุกครั้งที่คนไข้ได้รับการปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง นั่นหมายถึงชีวิตที่มีโอกาสรอดเพิ่มขึ้นด้วย”นพ.สมบัติ

รายการอ้างอิง :
กานต์ดา บุญเถื่อน. ลดอุณหภูมิรักษาชีวิต. กรุงเทพธุรกิจ (Life Style : สุขภาพ). วันที่ 20 มีนาคม 2556.

– ( 151 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


seven + = 9

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>