แสดงให้รู้ว่าความก้าวหน้าด้านนาโนเทคโนโลยีของเมืองไทย ไม่ได้ทำเป็นแค่สารเคลือบสิ่งของหรือเสื้อผ้า
แต่ยังมีกลุ่มวิจัยเชิงลึกที่สามารถสร้างองค์ความรู้ เสริมความแข็งแกร่งให้กับภาคอุตสาหกรรมและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ
อย่างเช่นผลงานของ “ศาสตราจารย์ ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล” จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็น “ศาสตรเมธาจารย์ สวทช.” (NSTDA Chair Professor) คนแรกของประเทศเมื่อปี 2552โดยได้รับทุนจำนวน 20 ล้านบาทจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ภายใต้โครงการวิจัย เรื่อง “การออกแบบและผลิตวัสดุนาโนที่เป็นประโยชน์อย่างสูงต่ออุตสาหกรรม” ที่มุ่งเน้นศึกษาโครงสร้างของวัสดุที่มีขนาดในระดับนาโนเมตร ซึ่งจะนำไปสู่การออกแบบโครงสร้างใหม่ที่มีสมบัติและประสิทธิ ภาพที่ดียิ่งขึ้น
สำหรับผลการดำเนินงานโครงการดังกล่าว ศาสตราจารย์ ดร.จำรัส บอกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ทีมที่มีนักวิจัยทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมถึงนักวิจัยจากต่างประเทศ สามารถที่จะค้นพบวัสดุและคุณสมบัติใหม่ ๆ ของวัสดุ เช่น การพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยา อย่าง นาโนซีโอไลต์ ที่มีคุณสมบัติตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ การพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างท่อนาโนคาร์บอนและวัสดุคาร์บอนอื่น ๆ ที่สามารถประยุกต์ใช้ในอุปกรณ์นาโนอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตอนุภาคนาโนด้วยเทคโนโลยีการขยายตัวอย่างรวดเร็วของสารละลายเหนือ วิกฤติ ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ในกระบวนการนำส่งยา
นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างเช่นบริษัทสยามซีเมนต์กรุ๊ป ในการต่อยอดงานวิจัยในการเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของเสียในกระบวนการ ผลิตปูนซีเมนต์ให้เป็นท่อนาโน คาร์บอน วัสดุเสริมความแข็งแกร่ง ซึ่งนอกจากจะเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์แล้วยังช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีก ด้วย
ศาสตราจารย์ ดร.จำรัส บอกอีกว่า โครงการนี้ตั้งเป้า 4 ปี ต้องมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำของโลก 50 เรื่อง แต่นี่. เพียงแค่ 3 ปี ทีมงานสามารถตีพิมพ์ผลงานใหม่ ๆ ให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ถึง 63 เรื่อง และมีผลงานที่ได้รับการคัดเลือกเป็นผลงานเด่นลงปกวารสารของสมาคมเคมียุโรป ที่มีชื่อเสียงระดับโลกอีกด้วย
แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่สำคัญเท่า การแสดงให้เห็นว่างานวิจัยที่ผ่านมาสามารถช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมหรือเรียก ว่านำไปใช้งานได้จริง
ฝากไว้สำหรับการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาของประเทศ ศาสตรเมธาจารย์ สวทช. บอกว่า ทุกวันนี้ภาครัฐยังให้การสนับสนุนการวิจัยในภาคมหาวิทยาลัยน้อยไปหน่อย
ดูง่าย ๆ ปัจจุบันผลงานวิจัยของประเทศไทยทั้งประเทศรวมกัน ยังน้อยกว่าผลงานของมหาวิทยาลัยเล็ก ๆ อย่างยูทาห์ในสหรัฐ อเมริกาเสียอีก
น่าคิดไหม?.
รายการอ้างอิง :
นาตยา คชินทร. ศาสตรเมธาจารย์ด้านนาโน. เดลินิวส์ (กรอบบ่าย). ฉบับวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2556.– ( 108 Views)