เปิดตัวเครื่องตรวจ คัดกรองดาวน์ซินโดรมฝีมือนักวิจัยไทยเครื่องแรกของประเทศ เผยสามารถช่วยหญิงตั้งครรภ์ลดเสี่ยงแท้งบุตร ได้ 8 แสนคนต่อปี
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) เปิดตัวเครื่องตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมฝีมือนักวิจัยไทยเครื่องแรกของประเทศ เผยสามารถช่วยหญิงตั้งครรภ์ลดเสี่ยงแท้งบุตร ได้ 8 แสนคนต่อปี เพราะไม่ต้องเจาะตรวจน้ำคร่ำ และค่าตรวจถูกกว่าเดิม
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้การสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อประชาชน อีกทั้งยังสามารถนำไปต่อยอดถ่ายทอดงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ได้ ความสำเร็จในการพัฒนาเครื่องตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมของทารกในครรค์เพื่อลดความเสี่ยงการแท้งบุตรในครั้งนี้จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี เนื่องจากในแต่ละปีจะมีหญิงตั้งครรค์จำนวนมากถึง 800,000 คน
นายนเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวว่า TCELS ได้ลงนามความร่วมมือกับ สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ดำเนินโครงการการพัฒนาระบบตรวจวินิจฉัย เพื่อคัดกรองการเกิดดาวน์ซินโดรมของทารกในครรภ์ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา
ซึ่ง NECTECได้พัฒนาเครื่องตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมของทารกในครรภ์ หรือเครื่องเอสพีอาร์แบบภาพ ถือเป็นเครื่องแรกของประเทศไทยที่สามารถตรวจวัดสารตัวอย่างพร้อมกันสูงสุดได้ถึง 8 ตัวอย่าง จากเดิมที่ตรวจได้ครั้งละ 1 ตัวอย่างเท่านั้น การพัฒนาครั้งนี้ เพื่อรองรับการตรวจคัดกรองซึ่งมีตัวอย่างที่มีจำนวนมากอีกทั้งค่าใช้จ่ายในการตรวจแต่ละครั้งแต่เดิมจะอยู่ที่ประมาณ 2,000 บาท แต่ด้วยเทคโนโลยีใหม่นี้ จะมีค่าตรวจลดลงถึง 50% สำหรับชุดทดสอบที่จะใช้กับเครื่องดังกล่าวนั้น ผู้ร่วมวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลกำลังพัฒนาและจะสามารถนำมาใช้ได้ในอีกในปีหน้า
ด้าน น.พ.วีรยุทธ ประพันธ์พจน์ หัวหน้าศูนย์วิจัยพันธุศาสตร์การแพทย์ สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมใช้วิธีเจาะน้ำคร่ำเพื่อตรวจโครโมโซมซึ่งวิธีการนี้เสี่ยงต่อการแท้งบุตรจึงนิยมทำเฉพาะหญิงตั้งครรภ์กลุ่มเสี่ยงคืออายุ 35 ปีขึ้นไป แต่หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี ก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะดาวน์ซินโดรมได้เช่นกัน
ดังนั้นการตรวจคัดกรองเพื่อหาความเสี่ยงก่อนการเจาะน้ำคร่ำเพื่อตรวจโครโมโซม จึงเป็นวิธีการที่เหมาะสมเพื่อลดปัญหาการเจาะน้ำคร่ำฟรีโดยไม่จำเป็น ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะการแท้งบุตรด้วย
ทั้งนี้ น.พ.วีรยุทธ ได้หยิบยกผลการศึกษา เพื่อสนับสนุนคำกล่าวข้างต้นว่า ในแต่ละปีมีหญิงตั้งครรภ์ จำนวนประมาณ 800,000 คน ประมาณ 700,000 คน อายุต่ำกว่า 35 ปี มีความเสี่ยงที่ทารกในครรภ์จะเป็นดาวน์ซินโดรม 1:600 ขณะที่หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ซึ่งต้องเจาะโครโมโซมนั้น มีจำนวน 100,000 คน มีความเสี่ยง 1:300 และ หญิงตั้งครรภ์ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยง 1:100
รายการอ้างอิง :
เปิดตัวเครื่องตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม. กรุงเทพธุรกิจ (ไอที-นวัตกรรม : วิทยาศาสตร์). วันที่ 31 มีนาคม 2556
– ( 73 Views)