magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย
formats

โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย

สวทช. ร่วมกับ สสวท. และองค์กรความร่วมมือแลกเปลี่ยนทางวิชาการสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เปิดตัว “โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย”

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และองค์กรความร่วมมือแลกเปลี่ยนทางวิชาการแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (DAAD) แถลงข่าวเปิดตัว “โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก        ประเทศไทย” ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อจุดประกายความคิดให้เด็กและเยาวชนเกิดแรงบันดาลใจ และมีทัศนคติที่ดีในการทดลองวิทยาศาสตร์ที่สนุก และมีความสุข ด้วยบรรยากาศทดลองเสมือนอยู่ในห้องปฎิบัติการของมหาวิทยาลัย ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยถึงโครงการมหาวิทยาลัยเด็กว่า    “โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก” เป็นโครงการที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา หนึ่งในมหาวิทยาลัยเด็กที่ประสบผลสำเร็จ คือ มหาวิทยาลัยบีเลเฟล สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้จัดตั้งขึ้นในปี 2547 โดย ศาสตราจารย์ Katharina Kohse-Hinghaus จากห้องปฏิบัติการทอยโทแลป มหาวิทยาลัยบีเลเฟล สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนได้ร่วมทำกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่หลากหลาย โดยมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และพี่เลี้ยงนักศึกษาระดับปริญญาตรี โท และเอก คอยดูแลให้คำแนะนำในการทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

จากการดำเนินงานที่ผ่านมาของโครงการนั้นประสบผลสำเร็จอย่างมากในการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้รับแรงบันดาลใจ และมีทัศนคติที่ดีในการทำการทดลองที่สนุก เกิดการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ โดยนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการพัฒนาทักษะทางด้านการสังเกต รู้จักตั้งคำถาม และค้นหาคำตอบด้วยตนเองเพิ่มมากขึ้น และต่อจากนั้นได้มีการนำโครงการไปขยายผลยังประเทศต่างๆ อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมชมโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ณ Shanghai Institutes for Biological Sciences เมืองเซี่ยงไฮ้         สาธารณรัฐประชาชนจีน ในเดือนกรกฏาคม พ.ศ. 2553 พระองค์ท่านทรงทราบว่าโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ได้รับผลสำเร็จเป็นอย่างมาก และได้รับการตอบรับที่ดีจากนักเรียนที่มาเข้าร่วมโครงการ

ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านวิชาการ และการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ได้แก่ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มหาวิทยาลัยเครือข่าย และองค์กรความร่วมมือแลกเปลี่ยนทางวิชาการแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี  (DAAD) จึงได้ร่วมกันจัดทำโครงการนำร่องมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทยขึ้นในปี พ.ศ. 2554 เพื่อวางรากฐานที่ดีให้นักเรียนไทยได้ฝึกฝนกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ผ่านกิจกรรมลงมือทดลองที่ท้าทายและน่าสนใจ โดยมีผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำ ตลอดจนเป็นการเตรียมความพร้อมให้นักเรียนเหล่านี้เติบโตไปเป็นนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร หรือบุคลากรที่มีจิตวิทยาศาสตร์ มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวว่าประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย คือนักเรียนระดับชั้นประถมตอนปลาย ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นในประเทศไทย ได้รับการส่งเสริมความรู้ ผ่านกระบวนการการลงมือปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ โดยใช้กิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในโครงการ ซึ่งปรับจากกิจกรรมต้นแบบของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทยเป็นเครื่องมือในการจุดประกายให้เกิดความสนใจและสามารถเรียนรู้วิทยาศาสตร์รอบๆ ตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ในส่วนของ สวทช. ได้มีการนำกิจกรรมการทดลองจากโครงการมหาวิทยาลัยเด็กไปทดลองและปรับใช้ในการจัดค่ายวิทยาศาสตร์และจัดอบรมครูวิทยาศาสตร์  โดยมีการจัดค่ายวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียน ม.ต้น และม.ปลาย จำนวน 7 ครั้ง มีคนเข้าร่วมทั้งสิ้น 440 คน กิจกรรมที่ทดลองจัด ได้แก่ การทดลองชุดผลไม้สกุลส้ม การทดลองชุดน้ำนม และการทดลองเรื่องกระดาษและน้ำหมึก

ผลการประเมิน พบว่านักเรียนมีความพึงพอใจ 100 เปอร์เซ็นต์   และการจัดอบรมครูสอนเด็กหูหนวก และนักเรียนหูหนวก จำนวน 2 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 88 คน สำหรับกิจกรรมที่นำมาทดลอง ได้แก่ การทดลองชุดผลไม้สกุลส้ม และการทดลองชุดน้ำนม ซึ่งจากการจัดอบรม พบว่านักเรียนและครูมีความสนใจเป็นอย่างมาก โดยครูสอนเด็กหูหนวกได้นำกิจกรรม ไปพัฒนาทำเป็นใบงานสำหรับเด็กหูหนวก  นอกจากนี้ สสวท. ก็มีโครงการที่จะนำกิจกรรมไปทดลองใช้กับศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพประจำภูมิภาค ในกำกับดูแลของ สสวท. พร้อมทั้งเชิญชวนมหาวิทยาลัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มาเข้าร่วมโครงการนี้ด้วย

สำหรับโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย  จะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ และมีการจัดกิจกรรมสาธิตการทดลองทางวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ในระหว่างวันที่ 29-31 ตุลาคม 2555 นี้  ณ       บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ       สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโครงการฯ ในวันที่ 30 ตุลาคม 2555

อาจารย์ดวงสมร  คล่องสารา รองผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า โครงการมหาวิทยาลัยเด็กเป็นโครงการหนึ่งของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งมีเป้าประสงค์หลักในการทำให้นักเรียนชอบและไม่กลัวที่จะเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ซึ่งจะส่งผลไปสู่การเห็นความสำคัญและเลือกเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น ซึ่งมีความสอดคล้องกับภารกิจของ สสวท.  ในการที่จะจุดประกายให้นักเรียนเกิดความสนใจและเรียนรู้วิทยาศาสตร์รอบตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สสวท. จึงได้ร่วมกับ สวทช. ส่งคณะนักวิชาการไปร่วมสังเกตการณ์ ศึกษาดูงาน ที่สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยได้ไปเยี่ยมชมศูนย์ Teutolab Chemistry ที่มหาวิทยาลัย Bielefeld และเยี่ยมโรงเรียนที่นำโครงการนี้ไปขยายผล

จากการสังเกตการณ์ ได้พบว่า นักเรียนที่ได้เข้าร่วมในโครงการมหาวิทยาลัยเด็กได้ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนโดยมีนักวิทยาศาสตร์เป็นพี่เลี้ยงอย่างมีความสุข โดยกิจกรรมเรื่องหนึ่ง ๆ ยังแบ่งเป็นกิจกรรมย่อย            3 กิจกรรม และกิจกรรมจะลุ่มลึกแตกต่างกันตามระดับชั้นของนักเรียนที่เข้าร่วมทำกิจกรรม

หลังจากการศึกษาดูงานดังกล่าวได้มีการนำกิจกรรมการทดลองจากสหพันธสาธารณรัฐเยอรมนีมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของเด็กไทย   ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2555  ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ที่ผ่านมา  โดยเฉพาะนิทรรศการและกิจกรรม “สสวท. ผจญภัยในดินแดนมหัศจรรย์”  ซึ่ง สสวท.  ได้นำการทดลองชุดน้ำนม ที่ได้รับมาจากสหพันธสาธารณรัฐเยอรมนี  มาปรับเป็นกิจกรรม ชื่อ “MilK  Milk Milk”  ใช้จัดกิจกรรมในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ของนิทรรศการและกิจกรรม “สสวท. ผจญภัยในดินแดนมหัศจรรย์” ด้วย ซึ่งพบว่า มีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมากและต่างก็มีความสนุกสนานเพลินเพลินไปกับความรู้และการทดลองทำสีจากน้ำนมที่พวกเขาได้เรียนรู้และทดลองด้วยตัวเอง

อาจารย์ดวงสมร กล่าวว่าในส่วนการขยายผลในประเทศไทยนั้น จะมีการเปิดตัวโครงการมหาวิทยาลัยเด็กในประเทศไทยในเดือนตุลาคม 2555  หลังจากนั้น  สสวท.  มีโครงการที่จะสนับสนุนและส่งเสริมการขยายผลการจัดกิจกรรมของโครงการมหาวิทยาลัยในโรงเรียนที่เป็นศูนย์โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของ สสวท. ทั้งหมด จำนวน 20 ศูนย์ทั่วประเทศ

จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยจุดประกายให้นักเรียนเกิดความรักในการเรียนรู้และเห็นคุณค่าของวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้นไป และจะนำไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือจำนวนนักเรียนที่สนใจเรียนต่อและทำงานด้านวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น เพื่อจะได้นำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาช่วยพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต

รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ได้เข้าร่วมโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย โดยทางมหาวิทยาลัยจะให้การสนับสนุนในเรื่องของบุคลากร สถานที่ รวมถึงวัสดุและอุปกรณ์การทดลองที่มีอยู่อย่างหลากหลาย

เพื่อถ่ายทอดทักษะและองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เน้นรูปแบบการเรียนรู้ด้วยความสนุกและทำให้นักเรียนไม่กลัวการเรียนวิทยาศาสตร์อีกต่อไป และนับว่าวิทยาศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิต สังคม และประเทศชาติ

รายการอ้างอิง :

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์.โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย. กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ (ไอที-นวัตกรรม : วิทยาศาสตร์). วันที่ 28 กันยายน 2555.– ( 174 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


one + = 6

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>