นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ปัจจุบัน สภาพอากาศมีความแปรปรวน ภัยธรรมชาติมีความรุนแรงและเกิดถี่มากขึ้น การวางแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกเป็นเรื่องสำคัญ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) จึงได้ติดตั้งระบบแบบจำลองอากาศหรือ “วาฟ” (WRF: Weather Research and Forecasting Model) ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่ดีที่สุดสำหรับการพยากรณ์และคาดการณ์อากาศในยุค ปัจจุบัน โดยที่ผ่านมาในหลายประเทศที่มีปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ไต้หวัน ได้เริ่มใช้ซอฟต์แวร์ดังกล่าวแล้วทั้งนี้จากความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สสนก. และ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กับ Academia Sinica Grid Computing (ASGC) ประเทศไต้หวัน ทำให้สามารถเข้าถึงการประมวลผล “วาฟ” บนระบบ กริด คอมพิวติ้ง ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการประมวลผลให้ได้เร็วขึ้น สามารถเตือนภัยพิบัติต่างๆ ได้ทันท่วงที ซึ่งเรียกระบบใหม่ว่า “จีวาฟ”(gWRF) ทำให้ระบบพยากรณ์อากาศที่มีอยู่เดิม เพิ่มความแม่นยำมากขึ้น
สำหรับ‘จีวาฟ’ จะมีข้อมูลทุกชนิดจากทั่วโลกเกี่ยวกับเรื่องการคาดการณ์อากาศ คือ ลม อุณหภูมิ ความกดอากาศ ความชื้น และแสงแดด เป็นซอฟต์แวร์ที่ให้บริการฟรีสำหรับการวิจัยสภาพอากาศ สามารถนำมาใช้คาดการณ์สภาพอากาศล่วงหน้าได้ 3-7 วัน โดยในประเทศไทยมีหน่วยงานที่สามารถเข้าถึงซอฟต์แวร์ดังกล่าว คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กับ สสนก. ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สำหรับ สสนก. นั้น จำเป็นต้องใช้จีวาฟเพื่อการบริหารจัดการน้ำโดยเฉพาะ ซึ่งการบริหารจัดการน้ำจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นหากมีระบบการคาดการณ์เข้า มาช่วย
นายวรวัจน์ฯ กล่าวอีกว่า ส่วนใหญ่การคาดการณ์อากาศในประเทศไทยทุกวันนี้ รวมทั้งของ สสนก. นั้นจะมีความแม่นยำประมาณ 80% ซึ่งถือว่าแม่นยำพอสมควรแล้ว แต่เมื่อนำเทคโนโลยี “จีวาฟ” เข้ามาช่วยทำงาน ความแม่นยำจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 90% ทำให้สามารถเตือนภัยพิบัติต่างๆ เช่น พายุ น้ำท่วม ดินถล่ม ได้อย่างทันท่วงที ช่วยให้ระบบบริหารจัดการน้ำของประเทศมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และยังช่วยป้องกันหรือลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สิน ของประชาชนได้
รายการอ้างอิง :
ก.วิทย์ใช้ “จีวาฟ”ช่วยพยากรณ์อากาศแม่นยำถึง90%. เดลินิวส์ (ไอที). วันจันทร์ที่ 1 เมษายน 2556.– ( 50 Views)