นักวิทยาศาสตร์เผยผลการวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง คาดอุณหภูมิโลกพุ่งสูงอีก4-6องศาอีก50ปีข้างหน้า
ทีมนักวิทยาศาสตร์เผยผลการศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ภายใต้โครงการ แม่โขง เออาร์ซีซี (Mekong ARCC – Mekong Adaptation and Resilience to Climate Change) จากเงินทุนสนับสนุนจากองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐฯ สำนักงานภาคพื้นเอเชีย (USAID│Asia) พบว่าการเปลี่ยนแปลงในอุณหภูมิและปริมาณน้ำฝนที่มากขึ้น จะกระทบต่อความเหมาะสมในการปลูกพืชอุตสาหกรรมและพืชอาหารในลาว กัมพูชา ไทย และ เวียดนาม ในขณะเดียวกับภาคการประมงเสี่ยงทำให้ปลาบางชนะสูญพันธ์จากแม่น้ำโขง
นายเจอเรมี่ แครูว์-รี้ด หัวหน้างานศึกษาผลกระทบโครงการแม่โขง เออาร์ซีซี กล่าวว่า ผลจากการศึกษครครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สรุปภาพผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนที่สุด แต่เป็นเรื่องที่น่าตกใจอย่างยิ่งเพราะการศึกษาบ่งชี้ว่า ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างกำลังเผชิญกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงเกินกว่าที่นักวิจัยเคยคาดการณ์ไว้ ทั้งเรื่องอุณหภูมิอากาศที่อาจจะเพิ่มขึ้นในอีก 50 ปีข้างหน้าอีก 4 องศา และปริมาณน้ำฝนและพายุที่อาจจะมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจจะไม่ทันกับความสามารถในการปรับของคนและสัตว์ต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงของประเทศในกลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างได้
งานวิจัยครั้งนี้ ถือเป็นการศึกษาชิ้นแรกในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่มีการวิเคราะห์ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิและปริมาณน้ำฝนต่อผลผลิตทางการเกษตร อาทิ ข้าว ข้าวโพด ยางพารา มันสำปะหลัง ถั่วเหลือง และกาแฟ รวมถึงผลผลิตทางการประมงและปศุสัตว์ ซึ่งการศึกษาครั้งนี้ยังพบว่าพื้นที่เสี่ยง หรือพื้นที่เปราะบางมี หลายพื้นที่ในภูมิภาคที่อาจได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและน่าเป็นห่วง เช่น ประเทศเวียดนาม และจ.เชียงรายของไทยที่จะได้รับผลกระทบทางภาคประมงมากที่สุด
เขาบอกอีกว่า การกำหนดนโยบายของรัฐบาลในแต่ละประเทศจำเป็นต้องวางแผนรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงในอนาคตโดยโครงการแม่โขง เออาร์ซีซี และUSAID เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ศึกษาข้อมูลและช่วยส่งเสริมการวางแผนเพื่อความมั่นคงทางอาหาร และการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์มาช่วยให้ชุมชนและประเทศสามารถลดความเสี่ยง และสามารถรับมือกับผลกระทบจากอากาศเปลี่ยนแปลงที่จะมีต่อผลผลิตทางการเกษตรได้
นายเจอเรมี่ บอกอีกว่า ภูมิภาคทางแถบเอเซียพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก กว่าร้อยละ 70 ของประชากรลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ซึ่งมีประชากรสูงถึง 60 ล้านคน ที่เป็นชาวนาและชาวประมง ดังนั้น พื้นที่นี้มีความเปราะบางอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงกับการทำมาหากิน โดยการศึกษาครั้งนี้เป็นก้าวแรกของโครงการแม่โขง เออาร์ซีซี ที่บูรณาการวิทยาศาสตร์เข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่น ช่วยให้ชุมชนใน 4 ประเทศทำการประเมินและวางแผนเพื่อปรับตัวกับสภาพอากาศเปลี่ยน ผลการศึกษาครั้งนี้ยังจะช่วยให้ผู้นำภาครัฐและภาคธุรกิจใน 4 ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างมีการวางแผนเตรียมพร้อมในอนาคตด้วย
ทั้งนี้ นักวิจัยสภาพภูมิอากาศทั่วโลกลงความเห็นว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียสถือเป็นจุดวิกฤต หากเกินจากนี้จะก่อให้เกิดมหันตภัยแก่ผู้คนและสิ่งแวดล้อม ทว่า การศึกษาครั้งนี้กลับพบว่าหลายพื้นที่ในภูมิภาคนี้อาจเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นถึง 4-6 องศาเซลเซียส ภายในปี พ.ศ. 2593 หรือ อีก 50 ปีข้างนี้ ถึงแม้ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่จะรุนแรงไม่เท่ากัน แต่ทุกประเทศในลุ่มน้ำโขงตอนล่างจะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งในด้านบวกและลบต่อการปลูกพืชเชิงอุตสาหกรรมและเพื่อการยังชีพ ผู้นำภาคส่วนต่างๆในภูมิภาคจำเป็นที่จะต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้
นายลิค เจรโกรี่ (Rick Gregory) นักวิจัยที่ศึกษาผลกระทบด้านประมง กล่าวว่าในส่วนของประเทศไทย จังหวัดที่เชื่อมโยงกับแม่น้ำโขงตอนล่างมากที่สุดคือ จ.เชียงราย ซึ่งแน่นอนว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงทางด้านการประมง ซึ่งชาวประมงในพื้นที่ต้องรับมือ เพราะอาจจะลงผลกระทบต่อการวิถีชีวิต เช่น จำนวนปลาธรรมชาติ อาจลดลง หรืออาจสูญพันธุ์ได้ในบางชนิด เช่น ปลาบึก ปลากระโฮก และปลายี่สก ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อสภาพถิ่นที่อยู่ ในส่วนนี้กรมประมงควรจะมีการศึกษาและวางแผนรับมือถึงการเตรียมเพาะขยายพันธุ์ปลาที่อ่อนไหว เพื่อลดความเสี่ยงของการสูญพันธุ์ลง
“มองว่าประเทศไทยแม้จะมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบด้านประมง แต่พื้นฐานเดิมของคนไทยมีการปรับตัวอยู่กับน้ำ และคนที่ทำการประมงเขาจะเข้าใจสภาพดี ดังนั้นการปรับตัวของคนไทยไม่น่ามีปัญหา และชนิดพันธุ์ปลาที่อยู่ในพื้นที่ เช่น ปลาดุก ปลาหมอ ปลาช่อน และปลาอื่นๆ มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม แต่เมื่อเทียบกับอีก 3 พื้นที่ที่มีการศึกษาพบว่า พื้นที่ที่น่าห่วงที่สุดคือประเทศเวียดนาม เพราะเป็นพื้นที่ที่มีการเลี้ยงปลาในน้ำโขงมากที่สุด และความรู้และการปรับตัวของที่นี่ยังไม่มีความพร้อมเท่าที่ควร” นายลิค กล่าว
รายการอ้างอิง :
นักวิจัยชี้อีก50ปี อุณหภูมิโลกพุ่ง4-6องศา. กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ (การเมือง : คุณภาพชีวิต). วันที่ 2 เมษายน 2556– ( 123 Views)