เป็นที่ทราบกันดีว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรักใคร่และผูกพันกับสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นอย่างมาก โดยเสด็จฯเยือนแดนมังกรมาแล้วถึง 34 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2524 และเสด็จฯเยือนครบหมดแล้วในทุกมณฑลของผืนแผ่นดินจีน อีกทั้งยังทรงศึกษาภาษาจีน ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมจีน อย่างลึกซึ้งถึงแก่น จนได้รับพระสมัญญานามจากแดนมังกรให้ทรงเป็น “ทูตสันถวไมตรีไทย-จีน” จากการที่ทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับจีนมาอย่างแน่นแฟ้นต่อเนื่องยาวนาน ขณะที่ประชาชนชาวจีนมากกว่า 2 ล้านคน ลงคะแนนโหวตเทิดทูนและยกย่องพระองค์ให้ทรงเป็นหนึ่งใน “มิตรที่ดีที่สุดในโลก” ของประชาชนชาวจีน
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราช กุมารี หรือที่ประชาชนชาวจีนเรียกขานว่า “สิรินธร” เสด็จฯเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนครั้งแรก เมื่อปี 2524 และภายในปี 2547 ก็เสด็จฯเยือนได้ครบทุกมณฑลของแผ่นดินจีน นอกจากนี้ยังทรงศึกษาภาษาจีนจนเชี่ยวชาญรอบด้าน โดยเคยเสด็จฯไปศึกษาภาษาและวัฒนธรรมของจีน ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง เป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็ม เมื่อปี 2544 สร้างความปลาบปลื้มใจให้กับเหล่าคณาจารย์ชาวจีนที่ถวายการสอนเป็นอย่างยิ่ง โดยทางมหาวิทยาลัยทูลเกล้าฯถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่พระองค์ ด้านกระทรวงศึกษาธิการของจีนทูลเกล้าฯถวายรางวัลมิตรภาพด้านภาษาและวัฒนธรรมจีน ขณะที่สมาคมมิตรภาพวิเทศสัมพันธ์แห่งประชาชนจีน ได้ทูลเกล้าฯถวายพระสมัญญานามให้ทรงเป็น “ทูตสันถวไมตรีไทย-จีน” เมื่อต้นปี 2547
ในฐานะเอกอัคราชทูตจีนประจำประเทศไทยคนปัจจุบัน “กว่าน มู่” เล่าถึงความผูกพันระหว่างสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กับสาธารณรัฐประชาชนจีนว่า พระองค์ทรงเป็นหนึ่งในพระบรมวงศานุวงศ์แห่งราชวงศ์ไทย ที่ประชาชนชาวจีนเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง โดยนับตั้งแต่ปี 2524 พระองค์เสด็จฯเยือนประเทศจีนมาแล้วถึง 34 ครั้ง และได้เสด็จฯเยือนครบทุกมณฑลในผืนแผ่นดินจีน พระองค์ทรงสร้างคุณูปการอย่างอเนกอนันต์ในเรื่องการส่งเสริมความเข้าใจระหว่างประชาชนชาวจีนและชาวไทย อีกทั้งยังทรงมีพระทัยมุ่งมั่นอย่างยิ่งในการกระชับและเจริญสัมพันธไมตรีไทย-จีน
ทุกครั้งที่พระองค์เสด็จฯเยือนประเทศจีน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะทรงพระราชนิพนธ์หนังสือบันทึกเส้นทางการเสด็จฯเยือนประเทศจีนอยู่เสมอ ส่งผลให้กระแสนิยมภาษาจีนและวัฒนธรรมจีนเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวางและต่อเนื่องในสังคมไทย และทำให้การแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศประสบผลสำเร็จอย่างมาก เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นที่รักใคร่อย่างยิ่งของประชาชนชาวไทย จึงมีคนไทยจำนวนมากเดินตามรอยพระบาทศึกษาภาษาจีน และเดินทางไปเที่ยวประเทศจีนอย่างคึกคัก
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังทรงสนพระทัยศิลปวัฒนธรรมแขนงต่างๆของแดนมังกร ไม่ว่าจะเป็น การศึกษาเขียนลายสือจีน, การวาดภาพแบบจีน และการฝึกรำมวยไทเก๊ก ขณะเดียวกันยังทรงนำประสบการณ์จากการเยือนแผ่นดินจีนอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา ถ่ายทอดเป็นหนังสือพระราชนิพนธ์ให้คนไทยได้อ่านในรูปแบบของสารคดีท่องเที่ยว พร้อมกันนี้ ยังทรงหยิบนวนิยายเรื่องดังของจีนมาแปลเป็นภาษาไทยหลายเรื่อง โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า ในบทพระราชนิพนธ์แปลจากนวนิยายจีนเกือบทุกเรื่องมักจะมีตัวละครเอกเป็นผู้หญิง และสะท้อนถึงสภาพสังคมในยุคต่างๆของจีน
นับตั้งแต่ไทยและจีนสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2518 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน มีคนไทยคณะแล้วคณะเล่าผลัด เปลี่ยนหมุนเวียนกันเดินทางไปเยือนแผ่นดินจีนนับไม่ถ้วน แต่คงไม่มีครั้งไหนจะประสบความสำเร็จเท่า กับการเสด็จฯเยือนสาธารณ รัฐประชาชนจีนเป็นครั้งแรกของสมเด็จพระเทพรัตนราช สุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระหว่างวันที่ 12-19 พฤษภาคม 2524 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่พระราชวงศ์ชั้นสูงของราชวงศ์จักรีเสด็จฯไปเยือนจีน
“เติ้ง เสี่ยวผิง” ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย “นายกรัฐมนตรีจ้าว จื่อหยาง” ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยหลายครั้ง และกราบบังคมทูลเชิญพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯไปเยือนจีนทุกครั้ง เมื่อถึงวโรกาสอันควร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯแทนพระองค์เป็นอาคันตุกะของรัฐบาลจีน สร้างความปลื้มปีติยินดีแก่รัฐบาลจีนและประชาชนชาวจีนเป็นอย่างมาก โดยระหว่างการเสด็จฯเยือนจีน สถานีวิทยุปักกิ่งได้ออกรายการกระจายเสียงภาคภาษาไทย นำเสนอข่าวพระราชกรณียกิจของพระองค์อย่างใกล้ชิด
เป็นที่ร่ำลือกันว่า ในการเสด็จฯเยือนจีนครั้งนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงสร้างความประทับใจแก่ประชาชนชาวจีนที่มาเข้าเฝ้าฯรอรับเสด็จฯเป็นอย่างมาก โดยระหว่างเสด็จฯเยี่ยมชมโรงงานศิลปหัตถกรรมฝีมือของจีนแห่งหนึ่ง ได้มีพระราชดำรัสกับสาวโรงงานอย่างเป็นกันเอง ด้วยภาษาจีนชัดถ้อยชัดคำว่า “เหินห่าวขั้น ไจ้เจี้ยน เซียะเซียะหนี่” ถอดความเป็นภาษาไทยได้ว่า “ดูดีมาก ไว้พบกันใหม่ ขอบคุณ”
ในวโรกาสที่เสด็จฯเยือนประเทศจีนครั้งแรก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสว่า “ก่อนอื่นข้าพเจ้าขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ได้เชิญข้าพเจ้ามาเยือนประเทศจีน ทั้งจัดงานเลี้ยงต้อนรับข้าพเจ้าและคณะในค่ำวันนี้ เมื่อวานนี้เราได้เดินทางมาถึงประเทศจีน อันเป็นประเทศที่ข้าพเจ้าสนใจอยากรู้ นับแต่เป็นเด็ก ข้าพเจ้าได้ศึกษาประวัติศาสตร์จีนอ่านวรรณคดีหรือพงศาวดารจีนที่มีผู้แปลเป็นภาษาไทย เราถือกันว่า การอ่านวรรณคดีหรือพงศาวดารเหล่านี้ นอกจากจะทำให้มีความรู้แตกฉานในภาษาแล้ว ยังช่วยให้รอบรู้ปัญหาชีวิตและเข้าใจโลกได้ดี ขณะนี้ข้าพเจ้าสนใจและกำลังศึกษาภาษาจีน จึงหวังว่าการเยือนประเทศจีนครั้งนี้ จะช่วยให้ข้าพเจ้ามีความรู้ทางภาษาจีน รวมทั้งความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศจีนดีขึ้น
…จีนและไทยเป็นประเทศที่มีอารยธรรมสูงมาแต่โบราณกาล วัฒนธรรมประเทศทั้งสองมีส่วนคล้ายคลึงกันในกาลก่อน ประชาชนของประเทศทั้งสองได้ไปมาหาสู่กัน มีความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีระหว่างกัน ดังจะเห็นได้จากความใกล้ชิดสนิทสนมระหว่างชาวไทยกับชาวจีนที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย
…โดยที่ประเทศไทยและจีน ล้วนเป็นประเทศกำลังพัฒนาในขั้นพื้นฐาน เป้าหมายของการพัฒนาประเทศตามโครงการสี่ทันสมัยของจีนนั้น ก็มิได้แตกต่างจากเป้าหมายของแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย กล่าวคือ มุ่งเน้นในการสร้างสรรค์ประเทศและสังคมที่มั่นคง เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีและเป็นสุข ข้าพเจ้าเชื่อว่าการที่ประเทศทั้งสองมีเป้าหมายในการพัฒนาประเทศคล้ายคลึงกัน ทั้งความเกี่ยวพันในด้านวัฒนธรรมและความรู้สึกคุ้นเคยที่มีมาแต่ครั้งอดีต ย่อมเกื้อกูลให้ความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างประชาชนของประเทศทั้งสองเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆขึ้น
…ในระหว่างเยือนประเทศจีนครั้งนี้ ข้าพเจ้าจะได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมสถานที่สำคัญต่างๆ และโบราณสถานหลายแห่ง ข้าพเจ้าตระหนักเป็นอย่างดีว่า มรดกตกทอดทางประวัติศาสตร์อันล้ำค่าของจีนนั้น เป็นผลมาจากความขยันขันแข็งและสติปัญญาของชนชาวจีนทั้งสิ้น ข้าพเจ้าและคณะจะนำเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้และพบเห็น โดยเฉพาะมิตรไมตรีจิตของประชาชนจีน ถ่ายทอดให้แก่ประชาชนชาวไทย ได้ทราบถึงความสำเร็จในการเยือนจีนครั้งนี้ด้วย”
ทั้งนี้ ตลอดเวลาที่ประทับอยู่ในกรุงปักกิ่ง และเสด็จฯเยือนเมืองต่างๆของสาธารณรัฐประชาชนจีน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงแสดงพระองค์เป็นผู้ใฝ่ในความรู้อย่างยิ่งยวด โดยทรงจดบันทึกเรื่องราวทุกสิ่งทุกอย่างที่ทรงพบเห็น และทรงซักถามสิ่งที่สงสัยจนเป็นที่กระจ่าง ขณะเดียวกัน ก็ทรงพยายามเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของไทย โดยทรงแสดงให้ชาวจีนได้เห็นถึงความงดงามของพระราชจริยวัตรแบบไทยแท้ๆ ด้วยการทรงฉลองพระองค์ทุกชุดเป็นผ้าไทย
เมล็ดพันธุ์แห่งไมตรีจิตได้ถูกหว่านลงไปบนผืนแผ่นดินมังกร ตั้งแต่ครั้งแรกที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯเยือนจีน เมื่อปี 2524 และยิ่งนับวันจะหยั่งรากลึกลงเรื่อยๆ พร้อมกับสัมพันธภาพที่แนบแน่นขึ้นทุกวันระหว่างสองมหามิตรแห่งเอเชีย ก็ด้วยพระอัจฉริยะภาพอันลึกซึ้งและพระปรีชาสามารถอันเฉียบคมของทูลกระหม่อมทูตสันถวไมตรีไทย-จีน พระองค์นี้นั่นเอง
ในวโรกาสคล้ายวันพระราชสมภพครบ 58 พรรษา วันที่ 2 เมษายน 2556 ข้าพระพุทธเจ้าทีมข่าวหน้าสตรี นสพ.ไทยรัฐ ขอน้อมเกล้าฯถวายพระพร ให้พระองค์ทรงพระเจริญ ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง สถิตย์เป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทยตราบนานเท่านาน.
รายการอ้างอิง :
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีมิตรที่ดีที่สุดในโลกของประชาชนชาวจีน. ไทยรัฐออนไลน์ (ไลฟ์สไตล์). วันอังคารที่ 2 เมษายน 2556.
– ( 109 Views)