magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home การประชุมวิชาการประจำปี ความพร้อมสู่ AEC ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในมุมมองแต่ละภาคส่วน
formats

ความพร้อมสู่ AEC ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในมุมมองแต่ละภาคส่วน

หัวข้อสัมมนาในงานประชุมวิชาการ สวทช. NAC 2013 ที่ได้รับความสนใจมากหัวข้อหนึ่งก็คือ “ความพร้อมสู่ AEC ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในมุมมองแต่ละภาคส่วน” อันเป็นหัวข้อเสวนาที่ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานชั้นนำของประเทศไทย ได้แก่ คุณกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) คุณพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย คุณพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คุณสาธิต ชาญเชาวน์กุล เลขาธิการ BOI และ ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช.

ประเด็นสำคัญที่ได้มีการพูดถึงในฐานะผู้แทนของภาคส่วนต่างๆ ของประเทศไทย มีหลากหลายประเด็น ดังเช่นคุณกานต์ ได้ให้แนวคิดเดียวกับการพัฒนาธุรกิจว่าจะต้องนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ตั้งแต่กระบวนการวิจัย พัฒนา โดย SCG ได้ทุ่มงบประมาณจำนวนมากเพื่อการวิจัย พัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเอง จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เรียกว่า HVA Brand (High Value Added Brand) หรือสินค้าและบริการที่เป็นนวัตกรรมก้าวหน้าที่เกิดจากกระบวนการสร้างระบบ Creative Management อย่างครบวงจรการบริหารจัดการ พร้อมๆ กับการส่งเสริมเรื่อง Creative Idea กับบุคลากรในองค์กร จนก่อให้เกิดกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมก้าวหน้า และมีบทบาทสำคัญที่ทำให้วันนี้ผลิตภัณฑ์หลายประเภทของเครือซิเมนต์ไทย ขึ้นมาอยู่แถวหน้าไม่ใช่เฉพาะในไทย และภูมิภาค แต่เป็นในระดับโลก ทั้งยังสามารถสร้างยอดขายจากสินค้ากลุ่ม HVA เป็นกอบเป็นกำ จากสัดส่วนของสินค้ากลุ่มนี้ที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด

สำหรับภาคเกษตร คุณพรศิลป์ ได้ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์โดยภาครัฐ และหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในรูปของห่วงโซ่คุณภาพ (Value Chain) ตลอดทั้งสายการผลิต ไม่ใช่การนำ ว และ ท มาใช้เพียงจุดใดจุดหนึ่งของสายการผลิต อันจะทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณและไม่ยั่งยืน และสินค้าที่ได้อาจจะไม่ได้คุณภาพ ดังเช่น กรณีที่ USDA ได้กักกันสินค้าทางการเกษตรของไทย ซึ่งผลลัพธ์ก็คือ เป็นการกีดกันสินค้าในนามประเทศไทย ไม่ใช่ในนามผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่ง ดังนั้นการนำ ว และ ท มาประยุกต์ จึงมีความสำคัญและจำเป็นมากทั้งสายการผลิต

คุณพยุงศักดิ์ ในฐานะประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมขนาดกลางและใหญ่ SMEs เป็นหลัก โดยมุ่งเน้นการทำยุทธศาสตร์ 6 ด้านเพื่อช่วยผลักดันในอุตสาหกรรมไทยก้าวสู่ AEC อันได้แก่

  • ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างคุณค่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอย่างครบวงจร และสามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม
  • ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาอุตสาหกรรมให้อยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างยั่งยืน
  • ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาการดำเนินธุรกิจแบบคลัสเตอร์ และ Supply Chain Management
  • ยุทธศาสตร์ที่ 4 มาตรการเชิงรุกสำหรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)
  • ยุทธศาสตร์ที่ 5 การสนับสนุนปัจจัยเอื้อต่อการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรม
  • ยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สู่ความยั่งยืนของอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ยุทธศาสตร์ที่ 1 เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญและเกี่ยวกับเนื้อหาในครั้งนี้ โดยมีการกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องออกมาหลายมาตรการในลักษณะความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น การร่วมมือกับ สวทช. ในการพัฒนาผู้ประกอบการ มาตรการการลดภาษี เป็นต้น

คุณสาธิต ในฐานะ BOI ได้เน้นไปที่กองทุนร่วมทุน (Venture Capital : VC) ของรัฐและเอกชน และมาตรการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อภาคอุตสาหกรรม อันประกอบด้วย

  • มาตรการจูงใจ สนับสนุนการลงทุนใช้จ่ายใน R&D ของอุตสาหกรรม
  • มาตรการสร้างความเข้มแข็งโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการวิจัยของภาคอุตสาหกรรม
  • มาตรการส่งเสริมการพัฒนาและเชื่อมโยงการวิจัยส่เชิงพาณิชย์
  • มาตรการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงจากผลงานวิจัย
  • มาตรการการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาของผลงานวิจัย

ปิดท้ายด้วยผู้อำนวยการ สวทช. ที่ได้สะท้อนให้เห็นมุมมองของ “งบประมาณ” ด้าน ว และ ท ที่จะสนับสนุนจากภาครัฐอันส่งผลต่อผลผลิต ตลอดทั้งแนวทางการทำงานของ สวทช. ที่มีต่อผู้ประกอบการ โดย สวทช. ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างมาตรการต่างๆ อันจะทำให้งานวิจัยพัฒนาก้าวไปสู่การประยุกต์ใช้ได้จริง แทนการขึ้นหิ้ง การให้บริการสนับสนุนภาคเอกชนในรูปแบบต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

ในระหว่างการเสวนา ก็มีการสอบถามผู้บรรยายในประเด็นน่าสนใจ เช่น ความคืบหน้าของ VC มาตรการด้านภาษี รวมทั้งแนวทางการวิจัยและพัฒนาสำหรับอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) นับเป็นช่วงการเสวนาที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ท่านที่สนใจรายละเอียดของแต่ท่านวิทยากร สามารถศึกษาเนื้อหาเพิ่มเติมได้จากสไลด์ ดังนี้

 

 – ( 251 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


eight + 7 =

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>