เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภคชี้ พฤติกรรมคนขับ-สภาพรถ คือ 2 สาเหตุสำคัญทำให้อุบัติเหตุรถตู้โดยสารสาธารณะเกิดบ่อย จี้กรมขนส่งฯ เอาผิดรถตู้ดัดแปลงผิดกฎหมาย พร้อมเข้มงวดตรวจจับความเร็วเกินกำหนด เตรียมวิจัยหาทางออกเหตุการณ์ซ้ำซากเพื่อนำเสนอรัฐบาล
จากกรณีรถตู้โดยสารสาธารณะสายกรุงเทพฯ-สระแก้ว-เขาสอยดาว ที่กำลังมุ่งหน้าไป อ.เขาสอยดาว จ.จันทบุรี ซึ่งบรรทุกผู้โดยสารมาเต็มคันรถและขับมาด้วยความเร็วสูง ได้เกิดอุบัติเหตุพุ่งเข้าชนท้ายรถบรรทุกสิบล้อขณะกำลังแซง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 4 ศพ และบาดเจ็บอีก 4 ราย เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ที่ผ่านมา อีกทั้งในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมานี้ได้มีอุบัติเหตุในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก เช่น กรณีรถตู้โดยสารร่วม บ.ข.ส. สายกรุงเทพฯระยอง ประสบอุบัติเหตุชนป้ายจราจรบริเวณสนามพีระอินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.ชลบุรี จนเกิดไฟลุกท่วมทั้งคัน ทำให้มีผู้โดยสารถูกไฟคลอกเสียชีวิตรวม 7 ศพ เมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา หรือกรณีรถตู้โดยสารชนกับรถกระบะ บริเวณถนนสาย 334 บ้านบึง-แกลง อ.วังจันทร์ จ.ระยอง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ศพ และบาดเจ็บ 8 ราย เมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากรถตู้โดยสารสาธารณะ
ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ นักวิจัยประจำเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ได้วิเคราะห์ถึง สาเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดจากรถตู้โดยสารสาธารณะ ว่ามีสาเหตุหลักอยู่ด้วยกัน 3 ประการคือ 1.พฤติกรรมของผู้ขับขี่ ไม่ว่าจะเป็นอาการหลับใน การขับโดยใช้ความเร็วเกินกำหนดเพื่อที่จะทำรอบต่อวันให้ได้มากที่สุด หรือการดื่มแล้วขับ เหล่านี้เป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้น 2.สภาพ ของรถตู้โดยสารที่มีการดัดแปลงโดยการเพิ่มเบาะนั่งให้ได้มากที่สุดเท่าที่ กฎหมายกำหนด คือ 15 ที่นั่ง หรือบางคันก็เพิ่มมากกว่านั้น เพื่อให้สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้วรถตู้ตามโครงสร้างเดิมที่ออกมาจากโรงงานจะมีเบาะนั่งเพียง 12 ที่นั่งเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามหลักมาตรฐานด้านความปลอดภัยของรถโดยสาร
แต่จากการวิจัยของเครือข่ายฯ พบว่า เจ้า ของรถตู้โดยสารนั้นนอกจากจะมีการเพิ่มเบาะนั่งแล้ว ยังมีการติดตั้งถังแก๊สบริเวณท้ายรถเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงอีกด้วย ซึ่งส่งผลให้น้ำหนักของรถเพิ่มมากขึ้นกว่ารถตู้ปกติถึง 400 กิโลกรัม ทำให้เสียสมดุลของรถ และยากต่อการบังคับทิศทางในเวลาคับขัน และ 3.สภาพถนนที่มีความชำรุดทรุดโทรม เส้นขอบทางไม่ชัดเจน ฯลฯ รวมถึงป้ายจราจรและไฟส่องทางที่ติดตั้งไม่ทั่วถึงอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่าปัจจัยสำคัญจริงๆ ที่ทำให้รถตู้โดยสารเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งคือ ปัจจัยด้านพฤติกรรมของผู้ขับขี่และสภาพของรถตู้ ซึ่งถือเป็น 2 ปัจจัยหลักที่พบเห็นได้บ่อยในรายงานข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์อีกด้วย
ดร.ศราวุธกล่าวต่อว่า สำหรับประชาชนผู้ที่จำเป็นต้องใช้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะนั้น เวลาจะใช้บริการควรสังเกตสภาพรถตู้ว่ามีสภาพที่เก่า ชำรุดทรุดโทรมหรือไม่ มีจำนวนผู้โดยสารภายในรถมากน้อยเพียงใด ถ้ามีมากเกินความเหมาะสม แสดงว่ารถคันนั้นผ่านการดัดแปลงเพิ่มเบาะที่นั่งจนเกินมาตรฐานความปลอดภัย ตามที่กฎหมายกำหนด ก็ควรที่จะเลือกคันต่อไปหรือใช้บริการรถโดยสารชนิดอื่นแทน โดยเฉพาะรถตู้โดยสารสาธารณะที่วิ่งประจำเส้นทางต่างจังหวัดมักพบว่ามีการยืน บนรถตู้อีกด้วย ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม อยากให้กรมการขนส่งทางบกเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องของ การดัดแปลงเพิ่มที่นั่งรถตู้โดยสารสาธารณะจนทำให้มีมาตรฐานความปลอดภัยต่ำลง การบรรทุกผู้โดยสารเกินกำหนด และการตรวจจับความเร็วของรถตู้ เพื่อความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้รถสาธารณะ นอกจากนี้ นักวิชาการจากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภคกำลังร่วมกันทำการวิจัย เกี่ยวกับการป้องกันอุบัติเหตุจากรถตู้โดยสารสาธารณะ ซึ่งอยากจะขอให้หน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) ของกรมการขนส่งทางบก เห็นความสำคัญและช่วยสนับสนุนเรื่องเงินทุนในการดำเนินงานของโครงการวิจัย ดังกล่าว เพื่อเป็นการศึกษาถึงวิธีการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากรถตู้โดยสารสาธารณะ และจะได้นำเสนอต่อรัฐบาลต่อไป.
รายการอ้างอิง :
เตือนภัยรถตู้โดยสารดัดแปลงผิดกม. ไทยโพสต์. ฉบับวันที่ 02 เมษายน พ.ศ. 2556.– ( 138 Views)