magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก ตลาดเปิดทาง ‘อีโค ดีไซน์’
formats

ตลาดเปิดทาง ‘อีโค ดีไซน์’

อาคารประหยัดเพิ่มต้นทุน 5%แต่เพิ่มมูลค่าได้ 10-20%
หากกล่าวถึง “อีโค ดีไซน์” จากเศษวัสดุ วันนี้ไม่มีใครนึกถึงบุคคลอื่น นอกจาก สถาปนิก และอาจารย์ประจำ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

นอกจากมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย เป็นขวัญใจคออีโควัยเด็กแล้ว ยังเป็นมีลูกศิษย์ลูกหาวัย สว. เป็นลุงป้าจากวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ ที่เดินทางไกลมาร่ำเรียนการออกแบบจากเศษวัสดุ ที่ Scrap Lab ที่เปิดสอนบุคคลทั่วไปที่คณะ          นอกจากนี้ยังประสบความสำเร็จจากการสร้างแบรนด์ “Osisu” เฟอร์นิเจอร์จากเศษวัสดุ ที่มีตลาดส่งออกเป็นหลัก ด้วยประสบการณ์และใจรักที่จะสอน ทำให้เขาสามารถสร้างกระแส “อีโค ดีไซน์” แตกหน่อแบรนด์เฟอร์นิเจอร์จากเศษวัสดุที่มีเจ้าของเป็นทั้งคนรุ่นใหม่ และเจ้าของโรงงานขนาดเล็กมากมายในปัจจุบัน

สิงห์ เล่าสถานการณ์ตอนนี้ว่า กระแสกรีน ทำให้คนสนใจเรื่อง “อีโค ดีไซน์” นำวัสดุเหลือทิ้งมาทำเป็นผลิตภัณฑ์จำนวนมาก ขณะที่การลงมือดูแลสิ่งแวดล้อมกลับไม่มีคนลงมือทำจริงจังมากนัก เช่น ถุงผ้า ที่โปรโมทพักใหญ่ แต่ปัจจุบันพบว่า คนไม่สนใจถุงผ้า ส่วนห้างสรรพสินค้าก็กลับมาใช้ถุงพลาสติกเหมือนเดิม

หันกลับมามองอีโค ดีไซน์ ถือเป็นเทรนด์ของเด็กรุ่นใหม่ 20-30 ปีที่สนใจผลิตสินค้าจากเศษวัสดุ ซึ่งความจริงแล้วตนเองไม่ได้เริ่มคนแรก ปู่ยาตายายของเราเริ่มมาก่อน นำกระป๋องน้ำอัดลมมาทำหมวก แต่ที่ตนเองทำเป็นที่รู้จัก เพราะมีการใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้าไป ทำให้สินค้าสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้นหลายเท่า เกิดเป็นธุรกิจที่เลี้ยงตัวเองได้และมีผู้ประกอบการขนาดเล็กๆ กำลังเดินตามมามากมาย

ส่วนหนึ่งมาจากการส่งเสริมของรัฐ ที่จัดทำโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่สนับสนุนผู้ประกอบการไทยผ่านโครงการ “เปลี่ยนขยะให้เป็นทอง:รับกระแสโลกร้อนและสร้างคุณค่าวัสดุเหลือใช้ ” ซึ่งโครงการนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 4 แล้ว เพื่อสนับสนุนช่วยภาคอุตสาหกรรมแก้ปัญหาจากวัตถุดิบที่เหลือใช้ นำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ทำให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ตลาดต้องการได้ เกิดแบรนด์อีโคใหม่ๆ เข้ามาในตลาดอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังมีอีกโครงการเป็นการส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยสนับสนุนให้วิสาหกิจชุมชนนำเศษวัสดุในชุมชนมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ ร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

โครงการหลังพบว่า คนในชุมชนเรียนรู้การออกแบบ ทำให้ขายสินค้าได้ดีขึ้น แต่มักจะให้ตรวจแบบก่อนเสมอ เพราะขาดความมั่นใจ ซึ่งต้องหาแนวทางสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้น ส่วนช่องทางการทำตลาดนั้น ไม่ได้เป็นปัญหาอีกต่อไป

“สิงห์” กล่าวว่า ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนมีช่องทางขายสินค้าได้มากขึ้น เพราะงานโอท็อปมีตลอดทั้งปี และกระจายไปในจังหวัดต่างๆ และได้รับการตอบรับอย่างสูง แต่ประเด็น คือ บางส่วนขายยาก และถูกกดราคา

จึงพยายามผลักดันและส่งเสริมให้มีการส่งออก เพราะ”อีโค ดีไซน์” หลายแบรนด์ส่งออกไปแล้ว เพียงแต่ต้องมีออกใบรับรองอย่างชัดเจนว่าทำมาจากเศษวัสดุ เพื่อให้ตลาดต่างประเทศเชื่อมั่นโดยขณะนี้อยู่ระหว่างร่วมมือกับกระทรวง ทรัพยากรฯ เพื่อร่างฉลากสิ่งแวดล้อม เรียกว่า G-UPCYCLE คำว่า UPCYCLE นั้น ไม่ใช่รีไซเคิล แต่เป็นการอัพเกรด ทั้งมูลค่าและคุณภาพจากเศษวัสดุ ซึ่งคาดว่าฉลากนี้จะสามารถออกมาใช้ได้ในเดือนก.ย.ปีนี้

สำหรับตลาดที่เปิดกว้างสำหรับ “อีโค ดีไซน์” นั้น ขณะนี้กลับมาอยู่ที่เอเชีย เพราะตลาดยุโรปไม่มีแรงซื้อจากเศรษฐกิจตกต่ำ เช่นเดียวกับแบรนด์ “Osisu” ที่มีลูกค้าอยู่ในเอเซียสัดส่วนมากขึ้น จากเดิมเป็นตลาดยุโรปและสหรัฐ แต่เชื่อว่าหากเศรษฐกิจดีขึ้นก็อาจกลับมาสั่งซื้อสินค้าเพิ่ม

สิงห์ บอกถึงเป้าหมายสูงสุดของเขาว่า ต้องการให้เมืองไทยมีชื่อเสียงด้าน “อีโค ดีไซน์” แม้จะเป็นความฝันสูงสุด แต่เชื่อว่าเป็นไปได้ โดยต้องการให้คนนอกประเทศมอง ว่า “MADE IN THAILAND” เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เหมือนเรามองญี่ปุ่นเป็น “Simple” มองอิตาลี เป็นโมเดิน ฝรั่งเศส คือความหรูหรา เป็นต้น แม้ทุกคนจะไม่เป็นอย่างนั้นก็ตาม

อย่างไรก็ตามการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้านการดีไซน์ อาจไม่ต้องมาจากเศษวัสดุก็ได้ แต่เป็นผลิคตภัณฑ์ย้อมผ้าโดยไม่ใช้สารเคมี ไม่ฟอกขาว มองไทยเป็นเมืองน่ำสะอาด อากาศบริสุทธิ์ และทำให้ไทยกลายเป็นจุดของการออกใบรับรองสินค้าอีโค ดีไซน์ ที่ได้รับความ

เชื่อถือ เหมือนกับปัจจุบันที่ต้องส่ง
สินค้าไปออกใบรับรองที่สหรัฐ เพื่อให้
ได้ตราว่า เป็น “รีไซเคิลคอนเทนท์”

สิงห์ ให้มุมมองถึงงานที่เขาทำอย่างมีความสุขว่า เป็นเพราะมีพื้นฐานว่า คนเราเกิดมาเพื่อทำลาย เป็นซาตาน หากจะเปลี่ยน ต้องได้ประโยชน์ ทำให้เราไม่เสียใจที่จะไม่เห็นคนลงมือทำเพื่อสิ่งแวดล้อม

“มนุษย์เป็นสิ่งเดียวที่สร้างขยะ ดังนั้นเมื่อตระหนักอย่างนี้ ก็ต้องทำให้เขาได้ประโยชน์จากขยะด้วย การให้มนุษย์มีแต่จิตอาสาย่อมไม่ยั่งยืน เหมือนรณรงค์ใช้ถุงผ้า ที่ทำได้ไม่นานกระแสก็แผ่วลง เมื่อเข้าใจแล้วจะมีความสุขมากขึ้น”

เขา บอกถึงภารกิจสร้างคนรักโลกว่าตนเองโชคดี ที่เข้ามาอยู่ในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มีการเรียนการสอน “กรีน อาร์คิเทค”หรือสถาปัตยกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแห่งเดียว และมีคณบดีและอาจารย์รักสิ่งแวดล้อมทั้งคณะ

ดังนั้นการฝึกอบรมนักศึกษาจึงไม่ได้มีตนเองคนเดียว เพราะเด็กหันซ้ายขวาก็เจอสิ่งแวดล้อมแบบนี้ แต่ยอมรับว่ามีนักศึกษาบางส่วนที่จบออกไปแล้ว ไปเจอสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ส่งเสริม เช่น ไปทำงานกับเจ้าของกิจการที่ไม่รู้ และเข้าใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็จะถูกกลืนไป ดังนั้นก็ต้องรอคนรุ่นใหม่เข้ามาเปลี่ยนแปลงเมื่อเติบโตขึ้น

สิงห์ กล่าวย้ำตอนท้ายว่า การกรีน อาร์คิเทค ไม่ได้เท่ากับอาคารประหยัดพลังงาน และความจริงแล้ว หากอาคารประหยัดพลังงาน แต่วัสดุไม่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม อยู่แล้วป่วย ก็ไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้นเราไม่ควรมองมุมเรื่องพลังงานเพียงอย่างเดียว ต้องเน้นการใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย

นอกจากนี้การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ต้องอาศัยกฎหมายบังคับส่วนหนึ่งด้วย เหมือนในยุโรปที่มีกฎหมายควบคุมด้วย สำหรับไทยก็เริ่มมีกฎระเบียบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว แม้จะสร้างตลาดสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยกฎ แต่ก็ช่วยได้

“คนไม่ลงมือทำ นโยบายรัฐไม่ชัดเจน ระบบภาษีไม่เอื้ออำนวย ระบบจัดการต่างๆ ไม่สร้างองค์ความรู้เรื่องกรีนประกอบกับไทยไม่มีงบในการลงทุนวิจัยและพัฒนา นอกจากนี้คนในโรงงาน และเจ้าของโรงงานไม่อยากทำก็เป็นอุปสรรค รวมถึงแบรนด์ไทยแลนด์ ที่ยังไม่ดีนัก เป็นแค่ประเทศโลกที่ 3 ในมุมมองต่างชาติ จะขายของมูลค่าสูงจึงยาก นี้คืออุปสรรค”

‘มนุษย์เป็นสิ่งเดียวที่สร้างขยะ ดังนั้นเมื่อตระหนักอย่างนี้ ก็ต้องทำให้เขาได้ประโยชน์จากขยะด้วย’

รายการอ้างอิง :
ตลาดเปิดทาง ‘อีโค ดีไซน์’. กรุงเทพธุรกิจ (GR>Industry). ฉบับวันที่ 04 เมษายน พ.ศ. 2556.– ( 131 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


5 − two =

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>