มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้จัดทำฐานข้อมูลเชื้อพันธุกรรมอ้อย (http://cropthai.ku.ac.th) โดยมีข้อมูลเชื้อพันธุกรรมอ้อยซึ่งนักปรับปรุงพันธุ์สนใจมาก และพันธุ์อ้อยการค้าซึ่งเกษตรกรสามารถนำไปใช้ประโยชน์ ในส่วนเชื้อพันธุกรรมอ้อยเก็บรวบรวมลักษณะทางการเกษตรและทางพฤกษศาสตร์ เช่น ลักษณะลำต้น หูใบ แผ่นใบ สี กลุ่มขน ในส่วนพันธุ์อ้อยการค้า มีรูปภาพประกอบ ลักษณะทางการเกษตรมีอธิบายไว้เป็นจำนวนมาก เช่น ความหวาน ขนาด การแตกก่อ ลักษณะกลุ่มขน ยังมีข้อมูลสภาพดินที่เหมาะสมกับแต่ละพันธุ์ และในฐานข้อมูลยังรวบรวมพันธุประวัติอ้อย ความสัมพันธ์ของพันธุ์อ้อยแต่ละพันธุ์ ซึ่งมีประโยชน์ต่อนักปรับปรุงพันธุ์ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยังมีระบบฐานข้อมูลการผสมพันธุ์ การเพาะเมล็ด และการคัดเลือกพันธุ์ ซึ่งทำให้นักปรับปรุงพันธุ์ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เช่น เชื้อพันธุ์อ้อยแต่ละพันธุ์ออกดอกเมื่อไหร่ อ้อยแต่ละพันธุ์มีเพศดอกอะไร เคยผสมพันธุ์อ้อยคู่ใดเมื่อไหร่ อ้อยพันธุ์ใดผสมติดเมล็ดได้ดีหรือผสมไม่ติด อ้อยพันธุ์ใดผสมตัวเองไม่ติดบ้างหรือเป็นหมัน อ้อยพันธุ์ไหนให้ลูกผสมที่ดีเด่นบ้าง
บริษัท มิตรผล พัฒนาอ้อยและน้ำตาล จำกัด ได้ขยายพื้นที่ปลูกอ้อยไปยังประเทศลาว เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แต่ประสบปัญหาเหมือนไร่อ้อยในประเทศไทยคือ ไม่สามารถควบคุมโรคใบขาวในอ้อยได้ จนกระทั่งได้รับความรู้เรื่องเทคนิคการเพาะเลี้ยงอ้อยปลอดโรคและคำแนะนำให้จัดตั้งหน่วยผลิตอ้อยปลอดโรคที่ลาวจาก ดร.เฉลิมพล เกิดมณี จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ผลก็คือเมื่อนำอ้อยปลอดโรคจากหน่วยไปปลูกในไร่ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถแก้ปัญหาโรคใบขาวได้เป็นผลสำเร็จ
เรียบเรียงจากการบรรยายเรื่อง ผลงานวิจัยด้านอ้อยสู่การใช้ประโยชน์ ในการประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 9 วันที่ 3 เมษายน 2556 เวลา 9.00 – 15.45 น. ณ ห้องประชุม CC-405 อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย– ( 188 Views)