การสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง การขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยและจริยธรรมนาโนเทคโนโลยี : แผนปฏิบัติการเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ AEC เป็นหัวข้อหนึ่งที่จัดในงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 9 (NAC 2013) เรื่อง ความพร้อมสู่ AEC ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Towards AEC with Science and Technology) ในช่วงระหว่างวันที่ 31 มีนาคม – 3 เมษายน 2556 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี สรุปเนื้อหาการบรรยายได้ดังนี้
แผนยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยและจริยธรรมนาโนเทคโนโลยี เริ่มมาตั้งแต่ช่วงเหตุการณ์น้ำท่วม ปลายปี 2554 และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และได้รับการอนุมัติเมื่อเดือนกันยายน 2555 จนออกมาสู่แผนปฏิบัติการ (Action plan) ซึ่งจะมีการระดมสมองจัดทำแผนฏิบัติการ ในการสัมมนาครั้งนี้ ใน 3 ยุทธศาสตร์ย่อย คือ
- ยุทธศาสตร์ที่ 1 : สร้างและบริหารจัดการองค์ความรู้ด้านความปลอดภัยและจริยธรรมนาโนเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์นาโน
- ยุทธศาสตร์ที่ 2 : พัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของมาตรการและกลไกการกำกับดูแลและบังคับใช้
- ยุทธศาสตร์ที่ 3 : สร้างความเข้มแข็งและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
แผนยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยและจริยธรรมนาโนเทคโนโลยี ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในกลุ่มอาเซียน ที่ทำแผนยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยและจริยธรรมนาโนเทคโนโลยี และคาดหวังว่าประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลาง (Hub) ในเรื่องนี้ในอาเซียน เป็นการขับเคลื่อนเพื่อทำให้ประเทศไทยมีทั้งในเรื่องการสนับสนุน การพัฒนาวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีและการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการบริหารความเสี่ยงด้านนาโนเทคโนโลยี เพื่อให้การพัฒนานาโนเทคโนโลยีของประเทศไทยเติบโตได้อย่างมั่นคง ยั่งยืนและปลอดภัย ถือเป็นเรื่องใหม่ที่รัฐบาลต่าง ๆ หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญอย่างมาก โดยหวังว่าแผนดังกล่าวจะนำไปสู่การประยุกต์ใช้ และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับประเทศต่าง ๆ
ที่มา ความสำคัญ และกระบวนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยและจริยธรรมนาโนเทคโนโลยี (พ.ศ. 2555-2559) สถานการณ์ที่ผ่านมา
- การนำนาโนเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาคุณภาพ / เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และเพื่อการพัฒนาประเทศ
- ขาดความรู้ ความเข้าใจผลกระทบของนาโนเทคโนโลยี
- ไม่มีแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจน และไม่มีหน่วยงานควบคุม ดูแล เฝ้าระวัง
ประเทศไทยจำเป็นต้องจัดทำ แผนยุทธศาสตร์ความปลอดภัยและจริยธรรมนาโนเทคโนโลยี
- เพื่อใช้สำหรับการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ควบคุม กำกับดูแล และบริหารจัดการด้านความปลอดภัยและจริยธรรมเกี่ยวกับนาโนเทคโนโลยี ควบคู่กับการพัฒนาทางด้านนาโนเทคโนโลยี
- เพื่อเป็นการป้องกันและเตรียมรับมือแก้ไขผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้และพัฒนานาโนเทคโนโลยีของประเทศไทย
คำว่า “นาโนเทคโนโลยี ” คือ เทคโนโลยีประยุกต์ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดการ การสร้าง การควบคุม การสังเคราะห์วัสดุที่มีขนาดเล็กอยู่ในช่วง 1-100 นาโนเมตร ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ซึ่งจะส่งผลให้โครงสร้างของวัสดุมีคุณสมบัติที่พิเศษขึ้นทั้งทางด้านกายภาพ เคมี และชีวภาพ ทำให้มีประโยชน์ต่อผู้ใช้สอยและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ นับเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคต และมีผลิตภัณฑ์นาโนในตลาดไทยมากมาย ซึ่งต้องมีการบริหารจัดการที่ดี เนื่องจากวัสดุนาโนเอง ก็เกี่ยวข้องกับความเป็นพิษเช่นเดียวกัน
ปัจจัยของอนุภาคนาโนที่มีผลต่อความปลอดภัย ปัจจัย 5S ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นพิษของวัสดุนาโน คือ Size, Surface area, Surface chemistry, Solubility และ Shape
15 รายการวัสดุนาโนที่ศึกษาและควรเฝ้าระวัง (15 NMs) โดย The Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) ได้แก่ Fullerenes (C60), Single-walled carbon nanotubes (SWCNTs), Multi-walled carbon nanotubes (MWCNTs), Silver nanoparticles, Iron nanoparticles, Carbon black, Gold nanoparticles, Titanium dioxide, Aluminium oxide, Cerium oxide, Zine oxide, Silicon dioxide, Polystyrene, Dendrimers และ Nanoclays– ( 94 Views)