magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก ส่ง “พันธุ์ข้าว กข 51″ ลงพื้นที่น้ำท่วม พร้อมหนุนเข้าสู่ระบบการปลูกข้าว – บอกกล่าวเล่าขาน
formats

ส่ง “พันธุ์ข้าว กข 51″ ลงพื้นที่น้ำท่วม พร้อมหนุนเข้าสู่ระบบการปลูกข้าว – บอกกล่าวเล่าขาน

จากสภาพอากาศที่แปรปรวนทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทุกขณะ นับเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการทำการเกษตรของเกษตรกรไทยทุกสาขา โดยเฉพาะการทำนาที่ส่วนใหญ่ยังอาศัยฟ้าฝนเป็นหลัก ถ้าฝนน้อยไปก็แล้ง มากไปก็ท่วม ซึ่งไม่ว่าอย่างใดก็สร้างความเสียหายต่อผลผลิตข้าวทั้งสิ้น

นายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า กรมการข้าวเป็นห่วงพี่น้องชาวนาที่ต้องประสบกับปัญหารอบด้าน ทั้งแมลงศัตรูข้าวระบาดทำลายผลผลิต ปัญหาดินฟ้าอากาศไม่เอื้ออำนวย ต้นทุนการผลิตสูง ซึ่งล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของชาวนา ด้วยเหตุนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัด ได้ร่วมมือกันในการส่งเสริมให้ชาวนาเข้าสู่โครงการจัดระบบการปลูกข้าว เนื่องจากเป็นแนวทางที่จะช่วยแก้ปัญหาได้เบ็ดเสร็จ เพราะมีการบริหารจัดการทั้งเรื่องน้ำ ดิน แมลงศัตรูข้าวและต้นทุนการผลิตในส่วนของกรมการข้าวเองก็ได้พยายามศึกษาวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มี ประสิทธิภาพ เพื่อช่วยเหลือชาวนาในการฝ่าฟันกับปัญหา ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ข้าวต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล กข 49 เป็นพันธุ์ข้าวพันธุ์ล่าสุดที่มีความต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ศัตรูข้าวตัวร้ายที่สร้างความเดือดร้อนให้ชาวนาอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา และอีกพันธุ์หนึ่งที่กรมการข้าวภูมิใจนำเสนอ คือ พันธุ์ข้าว กข 51 ที่มีความทนต่อน้ำท่วมฉับพลันหรือน้ำท่วมขังนาน และยังสามารถให้ผลผลิตสูง จึงเป็นพันธุ์ข้าวที่จะทำให้ชาวนาที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม ฉับพลันลดความเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้น

สำหรับพันธุ์ข้าว กข 51 นั้น ได้พัฒนาขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี สำนักงานวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว กับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) โดยเป็นข้าวเจ้าสายพันธุ์ RGDU99003-1012-B-6-B ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 (พันธุ์แม่) ซึ่งเป็นเมล็ดพันธุ์คัดจากศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ กับสายพันธุ์ IR49830-7-1-2-2 (พันธุ์พ่อ) จากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ซึ่งมีคุณสมบัติทนน้ำท่วมฉับพลันได้นาน 12 วัน เนื่องจากมียีน SUR1 บนโครโมโซมที่ 9 ทั้งนี้ ได้มีการผสมพันธุ์กันถึง 4 ครั้ง เพื่อทำการประเมินความทนทานต่อน้ำท่วมฉับพลันในบ่อทดสอบ และคัดเลือกจนได้สายพันธุ์ที่ดีที่สุด

โดยลักษณะประจำพันธุ์ของข้าว กข 51 คือ เป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง สูงประมาณ 155 เซนติเมตร ออกดอกประมาณวันที่ 16 ตุลาคม-24 ตุลาคม เมล็ดข้าวเปลือกสีฟาง ระยะฟักตัวของเมล็ดประมาณ 8 สัปดาห์ มีคุณภาพเมล็ดทางกายภาพ เคมี การหุงรับประทานใกล้เคียงกับข้าวขาวดอกมะลิ 105 แต่สามารถทนน้ำท่วมฉับพลันในระยะเจริญเติบโตทางลำต้นได้ราว 12 วัน และที่โดดเด่นคือเมื่อฟื้นตัวจะให้ผลผลิตสูงกว่าขาวดอกมะลิ 105 คิดเป็นร้อยละ 82 หรือให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ 736 กิโลกรัมต่อไร่ จึงสามารถปลูกในพื้นที่นาน้ำฝนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบน

ขณะนี้ได้ประกาศรับรองพันธุ์ข้าว กข 51 เป็นพันธุ์ข้าวทนต่อน้ำท่วมฉับพลันเรียบร้อยแล้ว ฉะนั้นในฤดูต่อไปกรมการข้าว ได้เตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ประมาณ 20 ตัน ส่งเสริมให้กับพี่น้องชาวนาในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมฉับพลันปลูก อย่างไรก็ตาม ถ้าจะทำให้ได้ผลผลิตดี ลดต้นทุนการผลิต และลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น เกษตรกรควรจะดำเนินการตามแนวทางระบบการปลูกข้าวของกระทรวงเกษตรฯ คือ ปลูกข้าวปีละ 2 ครั้ง โดยเลือกใช้พันธุ์ข้าวที่มีความเหมาะสมหรือพันธุ์ข้าวที่ผ่านการรับรอง พันธุ์ของกรมการข้าว และควรปลูกพืชตระกูลถั่วหรือพืชปรับปรุงบำรุงดินคั่น เพื่อฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีในการปลูกข้าวฤดูต่อไปได้ด้วย

สำหรับเกษตรกรที่สนใจพันธุ์ข้าวพันธุ์ใหม่ กข 51 สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าการใช้พันธุ์ข้าว กข 51 ควบคู่กับการปลูกข้าวระบบใหม่ จะสามารถช่วยลดความสูญเสียจากปัญหาน้ำท่วมที่มักเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี.

รายการอ้างอิง :
ส่ง “พันธุ์ข้าว กข 51″ ลงพื้นที่น้ำท่วม พร้อมหนุนเข้าสู่ระบบการปลูกข้าว. เดลินิวส์ (เกษตร-บอกกล่าวเล่าขาน). วันจันทร์ที่ 8 เมษายน 2556.

– ( 70 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


× 4 = twenty

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>