เมืองไทยตั้งอยู่ในย่านอิทธิพลมรสุมเขตร้อน ฝนชุก จึงมีพืชผลต้นผักที่มีประโยชน์ต่อร่างกายให้บริโภคมากมาย คนรุ่นก่อน ๆ รู้จักเลือกปรุงเป็นอาหาร จึงมีสุขภาพแข็งแรง ต้านทานโรคจนอายุยืนยาว ในยุคที่วิทยาศาสตร์การแพทย์เพิ่งเริ่มเขียนตำรา
แต่การจะบอกว่าพืชผักใดมีประโยชน์กับเรื่องใด กินใบไหน แก้โรคอะไร ในวงการแพทย์จะรับฟังผลการวิจัย การทดลองและกระบวนการสกัดเลือกที่ได้มาตรฐาน ไม่ใช่การพูดลอย ๆในการประชุมวิชาการโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ครั้งที่ 14 เพื่อนำเสนอรายงานความก้าวหน้าผลงานวิจัยของนักศึกษาปริญญาเอก ที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี เมื่อเร็วๆนี้ นายอภิรักษ์ สกุลปักษ์ นักศึกษาทุน คปก. รุ่นที่ 10 และ รศ.ดร.ภก.ภาคภูมิ พาณิชยูปการนันท์ อาจารย์ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รายงานการศึกษาสารต้านมะเร็งจากผักพื้นบ้านของไทย 2 ชนิด คือ ใบชะมวง และใบหมุย มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อโปรโตซัว ชื่อ ลิชมาเนีย เมเจอร์ (Leishmania major) ที่เป็นพิษต่อเซลล์ ได้ข้อสรุปว่า สารยับยั้งเชื้อโปรโตซัวที่ชื่ออ่านยาก ๆ นั้น มักมีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งได้
เป็นงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการที่ใช้อ้างอิง หรือต่อยอดพัฒนาได้นักวิจัยคณะนี้ รายงานว่า การแยกสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อโปรโตซัวจากใบชะมวง ทำให้ได้สารชนิดใหม่เป็นครั้งแรกของโลก ตั้งชื่อ “ชะมวงโอน” (chamuangone) มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อโปรโตซัว Leishmania major ได้ดี เมื่อลองทดสอบกับเซลล์มะเร็งปอด 2 ชนิด ได้แก่ A549 และ SCB3 cell lines และเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวอีก 2 ชนิด ชื่อ K562 และ K562/ADM cell lines พบว่าสารชะมวงโอนมีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งทั้ง 4 ชนิดได้ดี
ที่ว่าดีนั้น นักวิจัยอธิบายกับคนในวงการว่า มีค่า IC50 หรือหน่วยวัดปริมาณและความเข้มข้นของสารหรือตัวยาที่ต้องใช้ เท่ากับ 6.5, 7.5, 3.6 และ 2.2 M (ไมโครโมลาร์) ตามลำดับ ตรงนี้ ถ้าชาวบ้านอย่างเราอ่านแล้วไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร แต่สำหรับวงการวิจัยเพื่อเอาไปทำยา ต้องมีเกณฑ์อ้างอิง ไม่ใช่บอกห้วน ๆ ว่าดีหรือแก้โรคได้เฉย ๆ
ส่วนการแยกสารยับยั้งเชื้อโปรโตซัวจากใบหมุย ก็พบสารชนิดใหม่ในโลกอีก 2 ชนิด ตั้งชื่อ “มินูติน เอ” (minutin A) และ “มินูติน บี” (minutin B) ซึ่งศัพท์วิชาการ เรียกว่า เป็นสารอนุพันธ์ของคูมารินที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อโปรโตซัวลิชมาเนียได้ดี เมื่อนำไปทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งปอด 2 ชนิด ได้แก่ A549 และ SCB3 cell lines และเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวอีก 2 ชนิด เรียก K562 และ K562/ADM cell lines พบว่า ยับยั้งเซลล์มะเร็งทั้ง 4 ชนิด ได้ดี โดยสารมินูติน เอ มีค่า IC50 เท่ากับ 18.2, 23.7, 13.2 และ 9.5 ไมโครโมลาร์ ตามลำดับ และสารมินูติน บี มีค่า IC50 เท่ากับ 17.5, 9.6, 8.7 และ 6.7 ไมโครโมลาร์ ตามลำดับ
นักวิจัยผู้ค้นพบครั้งสำคัญรายนี้ อธิบายว่า การจะนำสารที่ได้จากการวิจัยไปใช้รักษาโรคมะเร็ง ยังมีกระบวน
การศึกษาเพิ่มเติมอีกหลายขั้นตอน เช่น ศึกษากลไกการออกฤทธิ์ ศึกษาผลกระทบต่อเซลล์ปกติ ศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการออกฤทธิ์ต้านมะเร็ง หรือการเพิ่มความจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง และคิดถึงการลดอาการข้างเคียง โดยเปลี่ยนสูตรโครงสร้างของสาร เพื่อการรักษาที่ได้ผลมากขึ้น หรือเพื่อลดอาการข้างเคียงในการใช้ยา
ผลสำเร็จของการค้นคว้าครั้งนี้ อยู่ที่ได้โครงสร้างใหม่ของสารที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง เพื่อเอาไปดัดแปลง พัฒนาเป็นยาต้านมะเร็งที่ออกฤทธิ์ดีขึ้น ลดอาการข้างเคียงต่อเซลล์ปกติ ทั้งเป็นการส่งเสริมให้สนใจรับประทานผักพื้นบ้าน เพื่อช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงในการเกิดโรค
เป็นคนไทย อยู่เมืองไทย ดินแดนในย่านมรสุมที่มีพืชผักให้เลือกกินมากมาย มีประโยชน์บำรุงสุขภาพ รักษาโรคภัยได้จิปาถะ ควรรู้จักฉวยคว้ามาบริโภคเพื่อคุณภาพชีวิตของตนเอง
ส่วนที่จะเป็นยาก็ให้นักวิจัยสกัดเอาสารสำคัญไปผลิตเพื่อช่วยชีวิตคนที่ อื่น ซึ่งธรรมชาติ สภาพแวดล้อมไม่เอื้อให้มีพืชผักมากมายเหมือนเรา
รายการอ้างอิง :
“หมุย-ชะมวง” ต้านมะเร็ง. เดลินิวส์ (บทความ). วันอังคารที่ 9 เมษายน 2556 .– ( 74 Views)