ดินเค็มเป็นปัญหาหนักอกของเกษตรกรในภาคอีสานมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้การทำเกษตรได้ผลผลิตต่ำ รายได้น้อย และทำให้พื้นที่การเกษตรบางแห่งถูกทิ้งร้าง เกษตรกรละทิ้งถิ่นฐาน กลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจและสังคม
แม้กรมพัฒนาที่ดินจะเข้าไปดูแลเยียวยา แต่ก็แก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง เห็นจากตัวเลขการแก้ไขปัญหาดินเค็มในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ที่มีพื้นที่ดินเค็มกว่า 8 หมื่นไร่ ช่วง 10 ปีที่ผ่านไป (2543-2553) สามารถแก้ไขปัญหาได้เพียง 1.4 หมื่นไร่เท่านั้น และก็แก้ปัญหาได้แค่ในระดับปรับปรุงดินจากเค็มมากให้เหลือเค็มปานกลางและ เค็มน้อยเท่านั้น เพื่อให้ชาวบ้านสามารถใช้ที่ดินทำมาหาเลี้ยงชีพได้ ยังไม่สามารถปรับปรุงดินให้อยู่ในสภาพปกติได้ เนื่องด้วยงบประมาณและบุคลากรมีจำกัด
การแก้ปัญหาที่ผ่านมา กรมพัฒนาที่ดินทำได้เพียงค้นหาพืชทนเค็มมาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก อย่างกระถินออสเตรเลีย หรือหญ้าดิ๊กซี เพื่อลดการแพร่กระจายของดินเค็มไปสู่บริเวณข้างเคียง แม้จะช่วยลดดินเค็มได้บ้าง แต่มีปัญหาปลูกไปแล้ว ชาวบ้านได้ประโยชน์แค่ทำฟืนเผาถ่านเท่านั้น ไม่สามารถตัดไปขายทำเงินได้
แต่วันนี้เกษตรกรใน อ.น้ำพอง อ.บ้านแฮด และ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น เริ่มมองเห็นลู่ทางอันสดใสในอาชีพมากขึ้น เมื่อกรมพัฒนาที่ดินร่วมกับบริษัท สยามฟอเรส-ทรี จำกัด ในเครือเอส-ซีจี เปเปอร์ ได้ให้ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ปรับปรุงสายพันธุ์ยูคาลิปตัส “พันธุ์เอช4 (H4)” ให้ทนดินเค็มได้ระดับหนึ่ง เพื่อไปปลูกทดลองเป็นโครงการนำร่องบนคันนาแทนหญ้าดิ๊กซี และกระถินออสเตรเลีย
เพราะยูคาลิปตัสมีรากลึก นอกจากจะช่วยดูดซับความเค็มของดินและลดการแพร่กระจายของดินเค็มได้แล้ว ยังเป็นไม้เศรษฐกิจขายได้ราคา เป็นการเพิ่มรายได้ให้ชาวนาอีกทาง
ผลปรากฏว่ายูคาลิปตัสพันธุ์เอช4 ทนดินเค็มได้ดี แม้แต่พื้นที่บางแห่งจะเป็นพื้นที่ถูกทิ้งให้ว่างเปล่าเพราะไม่สามารถปลูก อะไรได้เลย ยูคาลิปตัสพันธุ์นี้ก็ยังขึ้นได้
ส่วนการส่งเสริมให้ปลูกบนคันนาดินเค็ม เท่าที่บริษัท สยามฟอเรส-ทรี ได้ทำโครงการทดลองร่วมกับสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 (ขอนแก่น) ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ยูคาลิปตัสพันธุ์เอช4 เจริญเติบโตดี…ชาวบ้านแฮปปี้เพราะจะได้มีรายได้เพิ่มจากยูคาลิปตัส ดีกว่าทำนาอย่างเดียว.
รายการอ้างอิง :
ยูคาฯเอช4 แก้จนแก้เค็ม. ไทยรัฐ (กรอบบ่าย-หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน). ฉบับวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2556.– ( 61 Views)