“ดร.อดิสร” อัพเดตเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า อีกหนึ่งทางเลือกที่เข้ามาแก้ปัญหาวิกฤติพลังงาน กับผลงานของทีมนักวิจัยเกาหลี
ในชีวิตประจำวันของเรานี้ ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ว่า รถยนต์ไม่ใช่สิ่งจำเป็นในชีวิต แต่พลังงานที่จะนำมาใช้เพื่อทำให้รถยนต์แต่ละคันขับเคลื่อนไปได้นั้น จะต้องใช้พลังงานฟอสซิลจากน้ำมันมากมาย ทำให้ราคาน้ำมันแพงและจึงเกิดวิกฤติพลังงานไปทั่วโลก
และที่สำคัญคือก่อให้เกิดปัญหามลภาวะในอากาศจากคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมา จึงทำให้อุตสาหกรรมผู้ผลิตยานยนต์จากทั่วโลก ได้ตระหนักถึงการใช้พลังงานไฟฟ้าเข้ามาขับเคลื่อนยานยนต์ต่อไปในวันข้างหน้า
รถยนต์พลังงานไฟฟ้า จึงเป็นอีกทางเลือกที่เข้ามาแก้ปัญหาเหล่านี้ แม้ว่าขณะนี้จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการนำมาใช้งานจริง ไม่ว่าจะเป็น Nissan Leaf หรือแม้แต่รถสปอร์ตไฟฟ้าอย่างค่าย Tesla หรือ Fisker ก็ตาม แต่งานวิจัยต่างๆ ที่ทำการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบ ยังมีข้อจำกัดในการชาร์จไฟฟ้าเข้าไปไว้ในรถยนต์ เพราะการชาร์จไฟฟ้าในรถยนต์ต้นแบบในปัจจุบันนี้ อย่างเช่น Nissan Leaf ยังใช้เวลาในการชาร์จยาวนานถึง 8 ชั่วโมง วิ่งได้ไกลเพียง 120 กิโลเมตรเท่านั้น จึงยังไม่สามารถขับรถยนต์ไปในที่ห่างไกลจากบ้าน
ทีมวิจัยจึงมีแนวคิดว่า จะทำอย่างไรให้ผู้ขับขี่ไม่ต้องกังวลกับการชาร์จแบตเตอรี หรือกังวลว่าขับไปไกล จะไปถึงจุดมุ่งหมายไหม และทำอย่างไร รถยนต์ไฟฟ้าคันนี้ไม่จำเป็นต้องเสียบปลั๊กในการชาร์จอีกต่อไป จึงเกิดแนวคิดเรื่องการนำเทคโนโลยีการส่งพลังงานแบบไร้สาย หรือ Wireless Power Transmission กลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง ถ้าเราฝังขดลวดบนถนนเพื่อส่งพลังงานไฟฟ้าผ่านอากาศ ไปยังขดลวดตัวรับที่อยู่ใต้ท้องรถ ดังนั้น รถยนต์ไฟฟ้าของเราก็จะถูกชาร์จแบตเตอรีไปด้วยขณะวิ่งไปตามถนน
ทีมนักวิจัยเกาหลีจาก Korea Advanced Institute of Science and Technology (KAIST) เมือง Daejeon ได้พัฒนารถไฟฟ้าที่เรียกว่า on-line electric vehicle (OLEV) เพื่อสาธิตเทคโนโลยีดังกล่าวกับรถโดยสารขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในสวนสัตว์ในกรุงโซล ระยะทางทดสอบ 2.2 กิโลเมตร โดยมีการฝังขดลวดบนถนนเป็นระยะ 370 เมตร มีระบบการควบคุมให้รถโดยสารต้องวิ่งให้ตรงเพื่อให้ขดลวดวางเรียงตัวตรงกัน เพื่อให้การถ่ายเทพลังงานเกิดขึ้นได้ดีที่สุด และที่สำคัญคือระยะห่างระหว่างขดลวดทั้งสองต้องใกล้กันให้มากที่สุด
เคยมีการทดลองพบว่า ถ้าระยะห่างประมาณ 7.5 เซนติเมตร พลังงานสามารถถ่ายเทได้ ร้อยละ 65 ซึ่งก็ยังสูญเสียมากถึงร้อยละ 35 จริงๆ แล้วเรื่องการชาร์จโดยไม่ใช้สายเสียบชาร์จนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือเครื่องโกนหนวดยี่ห้อหนึ่งก็นำมาใช้กับอุปกรณ์ที่วางขายในท้องตลาด แต่โครงการรถยนต์ไฟฟ้า OLEV ดังกล่าวจะต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลถึง 750 ล้านบาท กับระยะทางเพียง 2 กิโลเมตรกว่าๆ
ดังนั้น การที่จะนำเทคโนโลยีนี้มาใช้งานได้จริง ถ้าเปรียบเทียบการลงทุนกับทรัพยากรที่ต้องใช้อาจไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ซึ่งเราก็ต้องตามดูกันต่อไปว่าจะมีประเทศไหนจะกล้าลงทุน หรือมันอาจเป็นเพียงงานวิจัยที่ไม่สามารถนำมาใช้ แต่ไม่ว่าจะเป็นไปในทางใด งานวิจัยนี้อาจนำไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าแบบใหม่ๆ ที่สามารถนำมาใช้ได้จริงในอนาคต
* ดร. อดิสร เตือนตรานนท์
ผู้อำนวยการหน่วยปฏิบัติการนาโนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องกลจุลภาค
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
เมธีวิจัย สกว. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
adisorn.tuantranont@nectec.or.th
รายการอ้างอิง :
ดร.อดิสร เตือนตรานนท์. รถไฟฟ้าไม่เคยเสียบปลั๊ก. เดลินิวส์ (ไอที-นวัตกรรม : นวัตกรรม). วันที่ 17 เมษายน 2556.
– ( 107 Views)