ศูนย์นวัตกรรมเพื่อความเข้มข้นของเกษตรกรรมที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย ( ACISAI) เชื่อการปลูกข้าวในเอเชีย ช่วยบรรเทาความยากจน และยกระดับความมั่นคงด้านอาหารโลกได้
สถาบันเอไอทีได้รับทุนสนับสนุนจำนวน 3.4 ล้านยูโร (4.37 ล้านเหรียญสหรัฐ) จากสหภาพยุโรปสำหรับโครงการ “การสร้างความยั่งยืนและการยกระดับแรงผลักดันสำหรับนวัตกรรมและการเรียนรู้ระบบการปลูกข้าวต้นเดี่ยวแบบอินทรีย์ ในลุ่มน้ำโขงตอนใต้” ซึ่งทุนการสนับสนุนดังกล่าวได้ทำให้เกิดการเปิดศูนย์นวัตกรรมเพื่อความเข้มข้นของเกษตรกรรมที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย (Asian Centre of Innovation for Sustainable Agriculture Intensification – ACISAI ที่สถาบันเอไอที ที่กรุงเทพมหานครขณะนี้นักวิจัยของสถาบันเอไอทีได้เริ่มโครงการพัฒนาเกษตรกรรมไทย-ลาว-กัมพูชา-เวียดนาม เพื่อกระตุ้นให้เกิดการทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืน ตั้งเป้าใช้เวลา 5 ปีผลิตเกษตรกรที่พอเพียง โดยแผนแรกจะสร้างระบบการปลูกข้าวต้นเดี่ยวแบบอินทรีย์หรือ System of Rice Intensification (SRI) ในลุ่มน้ำโขงตอนใต้ นำร่องให้เกษตรกรรายย่อยตื่นตัวและนำไปใช้อย่างแพร่หลายเสียก่อน
ดร.ปราพัธ คูมาร์ ผู้ประสานงานโครงการระดับภูมิภาค กล่าวว่า วิธีการดังกล่าวใช้ทรัพยากรน้ำ เมล็ดพันธุ์พืช พลังงาน และเงินลงทุนที่น้อยลงกว่าการปลูกข้าวแบบเดิม เพราะการปลูกข้าวต้นเดี่ยวแบบอินทรีย์ เป็นเทคโนโลยีทางเลือกใหม่ที่มีการจัดการดิน เมล็ดพันธุ์ น้ำ และสารอาหารในปริมาณที่จำกัดอย่างเป็นระบบ ทำให้นาข้าวเกิดกำไรมากกว่าขาดทุน
โครงการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายที่จะสนับสนุนการทำนาอย่างง่ายให้กับเกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีที่ดินของตนเอง ซึ่งปัจจุบันมีอยู่มากกว่าล้านคน รวมถึงเพิ่มความมั่นคงทางด้านอาหารและบรรเทาความยากจนให้สำเร็จ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายเรื่องการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ ในข้อที่ 1 ด้านการขจัดความยากจนและความหิวโหยอย่าง รุนแรงภายใน พ.ศ. 2558 ซึ่งรัฐสมาชิกสหประชาชาติ 189 แห่ง ตกลงยอมรับร่วมกันตั้งแต่ปี 2543 ว่าจะพยายามทำให้สำเร็จให้ได้
มุมขององค์การสหประชาชาติ มองว่า ถ้าในปี 2593 โลกมีจำนวนประชากร 9000 ล้านคน การผลิตอาหารสำหรับประชากรจำนวนมาก พร้อมกับการจัดการปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศและรักษาผืนดินให้อุดมสมบูรณ์ จะต้องมีการปรับปรุงอย่างมากมาย เพื่อให้ระบบเกษตรของโลกเติบโตแบบสัมพันธ์กับจำนวนประชากรโลก
ด้าน ดร.มิชรา กล่าวว่า การทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืนจะยกระดับชาวนา รวมถึงลดค่าใช้จ่ายของชาติเรื่องอาหาร ก่อให้เกิดธุรกิจสีเขียวที่ทำให้ประชากรที่ยากจนจำนวนมากอยู่ดีกินดีทั้งในชนบทและในเมืองใหญ่
ที่ผ่านมานักวิชาการจำนวนมาก ต่างเชื่อว่าการส่งเสริมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ไม่เพียงแต่สามารถเอาชนะความหิวโหยได้ แต่ยังสามารถแก้ปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศได้ด้วย ซึ่งพวกเขาเห็นตรงกันว่า การทำเกษตรกรรม จะเป็นตัวแปรสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงโลกไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวคาร์บอนต่ำในอนาคต
รายการอ้างอิง :
เอไอทีรับทุนยุโรปพัฒนาเกษตรกรรมไทย-ลาว-กัมพูชา-เวียดนาม. กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ (ไอที-นวัตกรรม : นวัตกรรม). วันที่ 13 เมษายน 2556.– ( 122 Views)