กระทรวงวิทยาศาสตร์ ฯ โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(สดร.) ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) นำนักเรียนยุววิจัยรุ่นแรกโชว์ผลงานวิจัยทางดาราศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น ในการประชุม Junior Session of Astronomical Society of Japan 2013 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยมีดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ พร้อมด้วยนายสุพจน์ วุฒิโสภณ หัวหน้าสาขาวิชาวิทยาศาสตร์รากฐาน สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.วิภู รุโจปการ วิทยากรและที่ปรึกษาโครงการ จาก Steward Arizona Observatory นำทีมนักเรียน 6 คน อาจารย์ที่ปรึกษา 2 คน จากโรงเรียนปัว จ.น่าน และโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ จ.ฉะเชิงเทรา เดินทางไปนำเสนอผลงานวิจัยดาราศาสตร์ระดับนักเรียน ในการประชุมดังกล่าว ซึ่งเป็นเวทีนำเสนอผลงานวิจัยดาราศาสตร์ของยุววิจัยดาราศาสตร์จากทั่วโลกดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า สดร. ได้คัดเลือกโรงเรียน โรงเรียนปัว จ.น่านและโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งครูและนักเรียนจะมาอบรมพร้อมกันเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับเทคนิคและวิธีการ ทำวิจัยทางดาราศาสตร์ นักเรียนจะต้องคิดโครงงานวิจัยขึ้นมาคนละ 1 เรื่องโดยมีครูที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำในการทำวิจัย มีทีมที่ปรึกษาช่วยเหลือในด้านเทคนิคดาราศาสตร์ต่างๆ แล้วคัดเลือกออกมา 6 โครงงาน นำไปเสนอผลงานใน Junior Session of Astronomical Society of Japan 2013 ขณะที่เด็กนักเรียนญี่ปุ่นมีการทำโครงงานทางดาราศาสตร์ในงานนี้กว่าร้อยโครง งาน ซึ่งญี่ปุ่นเน้นให้เด็กทำงานวิจัยอย่างมืออาชีพ เน้นการใช้ความคิด การวางแผน อุปกรณ์ต่างๆ ก็ขอยืมจากนักดาราศาสตร์สมัครเล่นใกล้เขตโรงเรียน รวมถึงการใช้กล้องโทรทรรศน์จากหอดูดาวซึ่งมีอยู่แทบทุกจังหวัด
สำหรับโครงงานวิจัยดาราศาสตร์ของเด็กไทยที่นำเสนอในการประชุมนี้ ค่อนข้างเป็นงานวิจัยในระดับสูง ทำการวิจัยโดยใช้กล้องโทรทรรศน์ที่ติดตั้งอยู่ ณ ประเทศชิลี ควบคุมระยะไกลผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และเนื่องจากเป็นกล้องขนาดใหญ่จำเป็นต้องมีการให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด จึงดำเนินการผ่านโชเชียลเน็ตเวิร์ค ผลการวิจัยที่ได้อาจไม่ใช่องค์ความรู้ใหม่ แต่เด็กจะได้ฝึกฝนการทำงานวิจัยดาราศาสตร์อย่างเป็นระบบ ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง เรียนรู้ด้วยตัวเอง รวมถึงการนำเสนอผลงานของตนให้เป็นที่ยอมรับ
อาจารย์จิราภรณ์ ก๋าแก้ว ครูจากโรงเรียนปัว จ.น่าน เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้รับว่า เป็นโอกาสดีที่เปิดโอกาสให้นักเรียนที่อยู่ห่างไกลได้เข้าร่วมโครงการฯ หากพูดถึงความรู้ด้านดาราศาสตร์ เด็กมักจะไม่เข้าใจ เด็กอยากรู้แต่ไม่มีใครอธิบาย แต่เมื่อเด็กได้มาเรียนรู้ ณ จุดนี้ เป็นสิ่งที่ดี และควรเปิดโอกาสให้เด็กที่สนใจไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนไหนได้มีโอกาสเข้ามา เรียนรู้
นายตุลยรัฐ รัตนประภา นักเรียนที่นำเสนอผลงานวิจัย กล่าวว่า ดีใจที่ได้รับการคัดเลือกให้ไปนำเสนอผลงานทางด้านดาราศาสตร์ที่ประเทศ ญี่ปุ่น และงานวิจัยนี้ ได้เรียนรู้ถึงวิธีในการทำวิจัยดาราศาสตร์ ฝึกฝนวิธีคิดอย่างเป็นระบบ และรู้จักวางแผนการทำงานอย่างเป็นขั้นตอน
ผลงานวิจัยที่นำเสนอแบบปากเปล่าในการประชุมดังกล่าว จำนวน 6 โครงงาน ประกอบด้วย 1. คาบการแปรแสงของระบบดาวคู่อุปราคา V357 Peg โดย นางสาวรัตนาวดี ฑีฆะวงษ์ โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฏิ์ ฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา 2. ความหนาแน่นของดาวฤกษ์เป็นฟังก์ชันของละติจูดในกาแลกซีทางช้างเผือกที่ ลองจิจูดที่ 0 โดย นายรัชชานนท์ บัวรอด โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฏิ์ ฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา
3. การหาความเร็วของดาวหาง C262p/McNaught-Russell ในเดือนตุลาคม 2555 โดย นายณปัณณ์ เจริญสินรุ่งเรือง โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฏิ์ ฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา 4. การหาระยะห่างของดาราจักรแมกเจลแลนใหญ่จากการแปรแสงของดาวแปรแสงแบบเซเฟอิด โดย นางสาวชลียา พรมมา โรงเรียนปัว จ.น่าน 5. การวัดระยะห่างจากโลกถึงกาแลกซีด้วย Supernova la โดย นายวสุทิน ขอดแก้ว โรงเรียนปัว จ.น่าน และ 6. ความรีของกาแลกซี่ทรงรีในกระจุกกาแลกซี่ฟอร์ฟอร์แนกซ์ โดย นายตุลยรัฐ รัตนะประภา โรงเรียนปัว จ.น่าน
รายการอ้างอิง :
เด็กไทยเสนอผลงานวิจัยดาราศาสตร์ที่ญี่ปุ่น. เดลนิวส์ (ไอที). วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน 2556– ( 198 Views)