จักรวาล บรรดาประณีต เชื่อว่าตลาดเซรามิกส์ในไทยมีโอกาสจะเติบโตในอีกไม่ช้า จึงเปิดบริษัท เซรามิกา อิมเมจ พร้อมรับมือกับกระแสอนาค
3 ปีก่อนเซรามิกา อิมเมจ นำเข้าโนว์ฮาวการผลิตภาพถ่ายบนเซรามิกส์จากญี่ปุ่น จนโด่งดังไปทั่ววงการเซรามิกส์ในไทย เพราะเป็นความรู้ใหม่และยังต้องสร้างพื้นฐานความเข้าใจกับผู้บริโภคอยู่ค่อนข้างมาก เนื่องจากราคาต้นทุนการผลิตที่แพง แต่ด้านความคุ้มสามารถอนุรักษ์จิตกรรมบนฝาผนังได้นานแสนนาน
:เซรามิกา อิมเมจ พร้อมเกิด
นายจักรวาล บรรดาประณีต ประธานกรรมการ กลุ่มเอ.เอฟ.กรุ๊ป คอมพานี กล่าวว่า ตลาดวัสดุเซรามิกส์และซีเมนต์ในไทย มีมูลค่าสูงถึง 2 แสนล้านบาทต่อปี จึงคิดว่าน่าจะมีโอกาสหรือพื้นที่ให้บริษัทน้องใหม่อย่างเซรามิกา อิมเมจ ได้สร้างผลงานอยู่บ้าง จากเดิมที่คลุกคลีในวงการเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมสนับสนุนชิ้นส่วนรถยนต์ และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับเซรามิกส์มานานถึง 39 ปีเซรามิกา อิมเมจ เปิดตัวเมื่อ 5 ปีที่แล้ว กับการนำเข้าโนว์ฮาวและเรื่องจักรบางส่วนจากประเทศญี่ปุ่น โดยมีทีมงานที่พร้อมให้บริการด้านการทำเซรามิกส์สำหรับงานป้ายและสัญลักษณ์เพื่อการสื่อสารสาธารณะ ซึ่งเหมาะกับการทำเป็นป้ายแนะนำสถานที่ การสร้างภาพถ่ายบนเซรามิกส์ซึ่งเป็นชิ้นงานที่ผลิตตามความต้องการของลูกค้า และการสร้างภาพศิลปกรรมบนเซรามิกส์ซึ่งเหมาะกับการอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมบนฝนผนัง
“วัสดุเซรามิกส์เก่าสำหรับคนญี่ปุ่นแต่ใหม่สำหรับคนไทยและกลุ่มผู้บริโภคยังเล็กมาก อาจด้วยต้นทุนการผลิตที่สูงทำให้ตลาดโตอย่างช้าๆ และรูปแบบการเข้าหาลูกค้าต้องใช้วิธีขายตรงแบบตัวต่อตัว เพื่ออธิบายที่มาที่ไปและความคุ้มค่าของวัสดุเซรามิกส์ให้เข้าใจ มากกว่าการนั่งรออยู่กับที่ให้เขามาซื้อเอง”ประธานกรรมการ กลุ่มเอ.เอฟ.กรุ๊ป คอมพานี กล่าว
ฮาวน์ทูเรื่องเซรามิกส์ที่ได้มาไม่ได้อยู่นิ่งกับที่ จักรวาล กล่าวและว่า เขาพยายามหาลูกเล่นให้กับเซรามิกส์ที่ลงทุนอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีการพิมพ์ภาพ สีที่ใช้ เพื่อให้ชิ้นงานเซรามิกส์ที่ลูกค้าต้องการออกมาดีที่สุดสมราคาที่เขาต้องควักกระเป๋าจ่าย
:เซรามิกส์เรืองแสง
หนึ่งในไอเดียที่เกิดขึ้นจากธุรกิจเซรามิกส์คือ การพัฒนาป้ายสัญลักษณ์เรืองแสงเซรามิกส์ โดยมีความร่วมมือกับ ดร.พิทักษ์ เหล่ารัตนกุล หัวหน้าห้องปฏิบัติการหน่วยวิจัยเทคโนโลยีเซรามิกส์ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) มาได้เกือบ 2 ปีแล้ว
“ปัจจุบันงานก่อสร้างของไทยกำลังเติบโต และมีแนวโน้มที่จะใช้วัสดุที่ช่วยประหยัดพลังงานมากขึ้น แผ่นป้ายสัญลักษณ์เรืองแสงเซรามิกส์จึงน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ตอบโจทย์ได้ดี”ประธานกรรมการ กลุ่มเอ.เอฟ.กรุ๊ป คอมพานี กล่าวและว่า แม้แผ่นป้ายสัญลักษณ์จากเซรามิกส์จะมีราคาสูงกว่าพลาสติกหรืองานอิงค์เจ็ท 2-3 เท่า แต่เรื่องความคุ้ม เซรามิกส์เป็นวัสดุที่คงทนอยู่ได้นาน สีสันที่พิมพ์ลงไปก็เสมือนภาพจริงต้นแบบมากกว่าวัสดุอื่น จะเสียก็ตรงที่รอยต่อของแผ่นต่อแผ่นเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันบริษัทนำเข้าแผ่นกระเบื้องที่ใช้ผลิตจากประเทศจีน ญี่ปุ่นและไต้หวัน
ดร.พิทักษ์ เหล่ารัตนกุล หัวหน้าห้องปฏิบัติการหน่วยวิจัยเทคโนโลยีเซรามิกส์ กล่าวว่า ขณะนี้การพัฒนาสารเรืองแสงอยู่ระหว่างพัฒนาสูตรให้ได้หลายๆสูตร เพื่อให้เหมาะกับการนำไปใช้ในสภาพแสงที่มีความเข้มข้นของแสงต่างกัน
“ทีมวิจัยได้สูตรสารเรืองแสงสำหรับนำไปเคลือบบนเซรามิกส์ และเทคนิคการเคลือบให้สารเรืองแสงติดทนนานได้แล้ว โดยสามารถนำไปใช้งานกับสภาพแสงที่มีไฟนีออน หรือแสงแดดก็ได้ โดยประสิทธิภาพในการเรืองแสงให้ความสว่างอยู่ได้นาน 5-6 ชั่วโมง”นักวิจัย กล่าวและว่า หลังจากพัฒนาสูตรสารเรืองแสงที่ใช้เคลือบบนเซรามิกส์ได้สำเร็จ จะส่งมอบให้ผู้ประกอบการจะนำไปขยายผลในงานแผ่นป้ายสัญลักษณ์เซรามิกส์เรืองแสงต่อไป ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้กับงานที่หลากหลายทั้งป้ายบอกทางในโรงภาพยนต์ โรงพยาบาล เป็นต้น
รายการอ้างอิง :
กานต์ดา บุญเถื่อน. เซรามิกส์ตอบโจทย์. กรุงเทพธุรกิจ (ไอที-นวัตกรรม : นวัตกรรม). วันที่ 19 เมษายน 2556.– ( 165 Views)