ใครจะไปนึกว่าผู้หญิงร่างเล็กวัยใกล้ 60 ที่อดทนดิ้นรนสู้ชีวิตในพื้นที่ดินเค็มปลูกอะไรไม่ขึ้นมาค่อนชีวิต จนสามารถเอาชนะความยากจน ด้วยการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริมาปรับประยุกต์ใช้เพื่อ เป็นแบบอย่างให้ชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงในฐานะ “ปราชญ์ชาวบ้าน” ด้านดินเค็มแห่งบ้านหนองนาบัว ต.หัวหนอง อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแอ่งพื้นที่ดินเค็มมากที่สุดแห่งหนึ่งในภาคอีสาน
กว่า 20 ปีที่ “ระเบียบ สละ” เกษตรกรบ้านหนองนาบัวที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนพลกผืนดินเค็มบนเนื้อที่ 15 ไร่เศษ มาเป็นผืนนาข้าวหอมมะลิ ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสารอินทรีย์ โดยผ่านการสนับสนุนของ เอสซีจี และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ(ไบโอเทค) ที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านดินเค็มอย่าง ดร.เฉลิมพล เกตุมณี คอยให้คำปรึกษาแนะนำ การแก้ปัญหาดินเค็มเริ่มจากหลักการง่ายๆ นำเศษวัสดุจากธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ง่ายไปใส่ในพื้นที่ดินเค็มสลับกับการ ปลูกปอเทืองและพืชตระกูลถั่ว จากนั้นก็ไถฝังกลบเพื่อเพิ่มจุลินทรีย์ในดิน เมื่อถึงฤดูทำนาก็ปลูกข้าว ซึ่งทำได้ปีละครั้ง เนื่องจากมีปัญหาเรื่องน้ำ ชลประทานเข้าไม่ถึง ต้องพึ่งพาน้ำฝนอย่างเดียว หลังเก็บเกี่ยวเสร็จก็ไถกลบตอซัง ทำแบบนี้ต่อเนื่องทุกปีจนสามารถแก้ปัญหาดินเค็มได้ในที่สุด
ลำพังปลูกข้าวนาปี บนเนื้อที่เพียง 15 ไร่ คงไม่มีรายได้มากพอที่จะส่งเสียลูกสองคนเรียนหนังสือ จึงคิดหารายได้เพิ่มด้วยการเจียดเนื้อที่บางส่วนประมาณ 5 ไร่ ทำสวนเกษตรผสมผสาน ปลูกพืชผักสมุนไพรไปจนถึงไม้ผลชนิดต่างๆ อาทิ กล้วย ฝรั่ง มะม่วง มะละกอ ฯลฯ ไม่เพียงเท่านั้นยังสร้างโรงเรือนเพาะเห็ดอีก 8 โรง หวังมีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้ตลอดทั้งปี
“ฉันมีลูกสองคน คนโตผู้ชายจบวิศวะลาดกระบัง ทำงานอยู่กรุงเทพพักหนึ่ง ตอนนี้กลับมาช่วยฉันที่บ้านแล้ว ส่วนคนน้องเป็นผู้หญิงกำลังเรียนหมออยู่ที่ ม.ขอนแก่น” ระเบียบกล่าวอย่างภูมิใจระหว่างเก็บเห็ดขอนขาวในโรงเรือนเพื่อส่งลูกค้า แม้เนื้อนที่เพียง 5 ไร่ แต่กลับทำรายได้หลักสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว ในขณะที่รายได้จากการทำนาจะนำมาเป็นเงินออม
ระเบียบเล่าว่า หลังลูกชายกลับมาช่วยที่บ้านได้ประมาณปีกว่า ทำให้มีการขยายโรงเรือนเพาะเห็ดเพิ่มขึ้นและมีการทำในเชิงธุรกิจแบบครบวงจร มากขึ้น เพราะนอกจากมีโรงเรือนเพาะเห็ดเพื่อเก็บดอกขายแล้ว ยังทำก้อนเชื้อเห็ดขายอีกด้วย ซึ่งขณะนี้มีลูกค้าที่สนใจสั่งจองเข้ามาทุกวันจากหลายจังหวัดในภาคอีสานไม่ เว้นแม้กระทั่งภาคกลางอย่าง จ.สระบุรี ก็สั่งก้อนจากที่นี่ไป โดยสนนในราคาจำหน่ายก้อนละ 8-10 บาท
ส่วนดอกเห็ดที่เหลือจากขายก็จะนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ แหนมเห็ด 3 อย่าง(ขอนขาว ภูฏาน ฮังการี) เห็ดดอง เห็ดอบแห้ง ฯลฯ ส่วนก้อนเชื้อที่หมดอายุก็จะไม่ทิ้งเปล่าประโยชน์ แต่จะนำไปใส่ในแปลงนาเพื่อแก้ปัญหาดินเค็มต่อไป
ระเบียบ สละ นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จในการต่อสู้กับปัญหาดินเค็ม โดยการใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านผ่านการประสานความร่วมมือกับเอสซีจีและศูนย์พันธุ วิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ(ไบโอเทค) ก่อนขยายผลไปสู่ชุมชนอื่นๆ ต่อไป
รายการอ้างอิง :
สุรรัตน์ อัตตะ. พลิกดินเค็มสู่นาข้าวอินทรีย์เส้นทางสู้ชีวิต ‘ระเบียบ สละ’. คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2556.– ( 71 Views)