magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก เซรามิก ไม่กลัวมืด
formats

เซรามิก ไม่กลัวมืด

ราว 5 ปีที่แล้ว “เซรามิกา อิมเมจ” เปิดตัวด้วยการนำเข้าโนว์ฮาวการผลิตภาพถ่ายบนแผ่นกระเบื้องจากญี่ปุ่น มาใช้ในโครงการคัดลอกภาพจิตรกรรมไทยลงบนแผ่นเซรามิกด้วยเฉดสีและภาพที่ไม่ เพี้ยนไปจากต้นฉบับ ก็เพื่อประโยชน์ด้านการอนุรักษ์จิตรกรรมบนฝาผนัง

โนว์ฮาวดังกล่าวได้จุดพลุให้วงการเซรามิกไทยปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีสมัยใหม่ และตอกย้ำความสำคัญของนวัตกรรมอีกครั้งกับ “เซรามิกเรืองแสง” ผลงานรับกระแสประหยัดพลังงาน ที่เกิดจากความร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ(เอ็มเทค)          :เก่าเขา ใหม่เรา
ตลาดวัสดุเซรามิกและซีเมนต์ในไทยมีมูลค่าสูงถึง 2 แสนล้านบาทต่อปี จึงน่าจะมีพื้นที่ให้บริษัทน้องใหม่ “เซรามิกา อิมเมจ” ในเครือ เอ.เอฟ.กรุ๊ป คอมพานี ยักษ์ใหญ่ในวงการเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมสนับสนุนชิ้นส่วนรถยนต์ และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับเซรามิก มานานถึง 39 ปี

เซรามิกา อิมเมจ เปิดตัวเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เพื่อดำเนินงานคัดลอกและจัดพิมพ์ภาพลงบนแผ่นเซรามิกด้วยการนำเข้าองค์ความ รู้และเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น พร้อมให้บริการด้านการทำเซรามิกสำหรับงานป้ายและสัญลักษณ์เพื่อการสื่อสาร สาธารณะ เช่น ป้ายแนะนำสถานที่ การสร้างภาพถ่ายบนเซรามิกซึ่งเป็นชิ้นงานที่ผลิตตามความต้องการของลูกค้า และการสร้างภาพศิลปกรรมบนเซรามิก ซึ่งเหมาะกับการอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมบนฝาผนัง

“วัสดุเซรามิกถือเป็นเรื่องเก่าสำหรับคนญี่ปุ่นแต่เป็นเรื่องใหม่สำหรับ เมืองไทยและกลุ่มผู้บริโภคยังเล็กมาก อาจด้วยต้นทุนการผลิตที่สูงทำให้ตลาดโตอย่างช้าๆ อีกทั้งรูปแบบการเข้าหาลูกค้าต้องใช้วิธีขายตรงแบบตัวต่อตัว เพื่ออธิบายที่มาที่ไปและความคุ้มค่าของวัสดุเซรามิกให้เข้าใจ” จักรวาล บรรดาประณีต ประธานกรรมการ กลุ่ม เอ.เอฟ.กรุ๊ป คอมพานี กล่าว

ปีที่ผ่านมา บริษัทมีความร่วมมือกับกรมศิลปากร ดำเนินโครงการเปลี่ยนป้ายแนะนำสถานที่ แผนที่ป้ายบอกประวัติความเป็นมาของวัด 24 วัด รวม 80 กว่าป้าย ด้วยการพิมพ์บนแผ่นกระเบื้องเซรามิก หลังจากนี้บริษัทมองว่าตลาดที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องน่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ สถานที่ท่องเที่ยว โบราณสถาน แหล่งท่องเที่ยวชายทะเล ที่ต้องการความคงทนถาวรของป้าย เป็นกลุ่มลูกค้าถัดไป

:นวัตกรรมสร้างทางรอด
องค์ความรู้ใหม่เรื่องเซรามิกจากญี่ปุ่นที่ได้มาไม่ได้อยู่นิ่งกับที่ จักรวาลพยายามหาลูกเล่นให้กับเซรามิกอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีการพิมพ์ภาพ สีที่ใช้ เพื่อให้ได้ชิ้นงานที่ลูกค้าต้องการออกมาดีที่สุด ทั้งยังนำเข้าแผ่นกระเบื้องที่ใช้ผลิตจากจีน ญี่ปุ่นและไต้หวัน

หนึ่งในไอเดียที่เกิดขึ้นจากธุรกิจเซรามิกคือการพัฒนาป้ายสัญลักษณ์เรืองแสง เซรามิก โดยร่วมมือกับนักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ(เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ มาได้เกือบ 2 ปีแล้ว

“ปัจจุบันงานก่อสร้างของไทยกำลังเติบโต และมีแนวโน้มที่จะใช้วัสดุที่ช่วยประหยัดพลังงานมากขึ้น แผ่นป้ายสัญลักษณ์เรืองแสงจึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ได้ดี” จักรวาลกล่าวและว่า แม้แผ่นป้ายสัญลักษณ์เซรามิกจะมีราคาสูงกว่าพลาสติกหรืองานพิมพ์ทั่วไป 2-3 เท่าตัว แต่มีความคุ้มทุนมากกว่า เนื่องจากเซรามิกเป็นวัสดุที่คงทนอยู่ได้นาน สีสันที่พิมพ์ลงไปก็เสมือนภาพต้นแบบมากกว่าวัสดุอื่น

พิทักษ์ เหล่ารัตนกุล หัวหน้าห้องปฏิบัติการหน่วยวิจัยเทคโนโลยีเซรามิกส์ เอ็มเทค กล่าวว่าทีมวิจัยได้สูตรสารเรืองแสงสำหรับนำไปเคลือบบนเซรามิก และเทคนิคการเคลือบให้สารเรืองแสงติดทนนานได้แล้ว โดยสามารถนำไปใช้งานกับสภาพแสงที่มีไฟนีออน หรือแสงแดดก็ได้ โดยประสิทธิภาพในการเรืองแสงให้ความสว่างอยู่ได้นาน 5-6 ชั่วโมง

“ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาสารเรืองแสงให้ได้มากกว่า 1 สูตร เพื่อรองรับการใช้งานในพื้นที่ที่มีความเข้มข้นของแสงต่างกัน” นักวิจัย กล่าวและว่า หลังจากพัฒนาสูตรสารเรืองแสงที่ใช้เคลือบบนเซรามิกได้สำเร็จ จะส่งมอบให้ผู้ประกอบการจะนำไปขยายผลในงานแผ่นป้ายสัญลักษณ์เซรามิกเรืองแสง ต่อไป ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้กับงานที่หลากหลายทั้งป้ายบอกทางในโรงภาพยนตร์ โรงพยาบาล โครงสร้างอาคารแบบเก่าที่ไม่เหมาะกับการเดินสายไฟ เป็นต้น

ทั้งเซรามิกเรืองแสงและเซรามิกเพื่อการอนุรักษ์ เป็นอีกระดับหนึ่งของการใช้ประโยชน์จากเซรามิก และเป็นนวัตกรรมที่จะเพิ่มทางรอดให้กับเซรามิกไทย ท่ามกลางสงครามราคาจากเพื่อนบ้าน ค่าแรงและพลังงานที่รุมเร้า

รายการอ้างอิง :
กานต์ดา บุญเถื่อน. เซรามิก ไม่กลัวมืด. กรุงเทพธุรกิจ. ฉบับวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2556.– ( 222 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


4 × two =

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>