สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ว่า ที่ประชุมนานาชาติประจำปีว่าด้วยวิทยาศาสตร์อวกาศเรียกร้องให้ประเทศที่ ดำเนินโครงการด้านอวกาศ เร่งกำจัดขยะที่ลอยเวียนอยู่ตามแนววงโคจรโลกโดยเร็ว เนื่องจากหากปล่อยทิ้งไว้ ชิ้นส่วนเหล่านี้อาจเป็นอุปสรรคในการทำงานของดาวเทียมสำรวจโลกในอนาคต
ศาสตราจารย์ ไฮเนอร์ คลิงค์ราด ผู้อำนวยการศูนย์ติดตามขยะอวกาศแห่งองค์การอวกาศยุโรป ( อีเอสเอ ) แถลงระหว่างการประชุมประจำปีของหน่วยงานด้านอวกาศจากทั่วโลก ที่เมืองดาร์มชตัดท์ ประเทศเยอรมนี ว่าปริมาณขยะอวกาศ ที่รวมถึงเศษซากชิ้นส่วนดาวเทียมและจรวดเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า ตั้งแต่ปี 2521 ซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้นของอีเอสเอร่วมกับองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่ง ชาติ ( นาซา ) ของสหรัฐ พบว่า ในจำนวนขยะอวกาศหลายแสนชิ้นที่ลอยอย่างไร้จุดหมายอยู่ในระบบสุริยะนั้น กว่า 23,000 ชิ้น มีเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 10 เซนติเมตร ส่วนที่เหลือจะมีขนาดระหว่างน้อยว่า 1 เซนติเมตร ถึง 10 เซนติเมตรแม้ขยะอวกาศเหล่านี้จะมีขนาดเล็ก แต่ด้วยความเร็วเฉลี่ยในการเคลื่อนที่ซึ่งอยู่ที่ 25,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้ผู้เชี่ยวชาญหวั่นเกรงว่า หากไม่มีการเก็บกวาดหรือกำจัดเสียตั้งแต่วันนี้ ชิ้นส่วนปริมาณมหาศาลดังกล่าวย่อมจะเพิ่มขึ้นอีก และอาจลอยไปสร้างความเสียหายให้แก่สถานีอวกาศนานาชาติ ( ไอเอสเอส ) ตลอดจนดาวเทียมสื่อสารและสำรวจภูมิศาสตร์โลกอีกหลายดวง ที่กำลังเคลื่อนที่อยู่บริเวณชั้นบรรยากาศโลก
ที่ประชุมจึงเสนอให้รัฐบาลของทุกประเทศที่มีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้าน อวกาศ ร่วมกันจัดสรรงบประมาณในการเก็บกวาดและรักษาความสะอาดของชั้นบรรยากาศโลก ซึ่งศ.คลิงค์ราดแนะนำว่า ควรกำจัดขยะอวกาศให้ได้อย่างน้อย 5-10 ชิ้นต่อปี
รายการอ้างอิง :
นักวิทย์เตือนทั่วโลกเร่งแก้ปัญหา “ขยะอวกาศ”. เดลินิวส์ (ต่างประเทศ). วันศุกร์ที่ 26 เมษายน 2556.
– ( 77 Views)