magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก วิรัตน์ อาชาอภิสิทธิ์ ประเด็นร้อน มอก.’สุขภัณฑ์-กระเบื้อง”…แนะนำให้รีบขอฉลากแต่เนิ่น ๆ’
formats

วิรัตน์ อาชาอภิสิทธิ์ ประเด็นร้อน มอก.’สุขภัณฑ์-กระเบื้อง”…แนะนำให้รีบขอฉลากแต่เนิ่น ๆ’

กลายเป็นประเด็นฮอตของวงการสุขภัณฑ์และกระเบื้องเซรามิก เมื่อ “สมอ.-สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม” เตรียมออกฉลากมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมภาคบังคับ (มอก.ภาคบังคับ) กับวัสดุ 2 ตัว คือ “ส้วมนั่งราบ” (สุขภัณฑ์แบบฟลัช-ชักโครก) และ “กระเบื้องเซรามิก”

นำมาสู่การที่ผู้นำเข้าสุขภัณฑ์กระเบื้องเซรามิกยักษ์ใหญ่รายหนึ่งได้ออกมา ตั้งสมมติฐานว่า การออก มอก.ภาคบังคับครั้งนี้อาจเป็นการกีดกันสินค้านำเข้า โดยเฉพาะสุขภัณฑ์แบบฟลัชจากจีนที่มีตั้งแต่ราคาชิ้นละกว่า 1 พันบาท ถูกกว่าสินค้าผลิตในประเทศมีราคาเริ่มต้นที่ชิ้นละประมาณ 5 พันบาท          ขณะเดียวกันมีความเป็นห่วงว่าจำนวนแล็บทดสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่มีจำนวนน้อย จะกลายเป็นปัญหาได้ ล่าสุด “วิรัตน์ อาชาอภิสิทธิ์” รองเลขาธิการ สมอ. ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงการออก มอก.ภาคบังคับส้วมนั่งราบและกระเบื้องเซรามิก

ที่มาของนโยบาย
เหตุผลที่ สมอ.ตัดสินใจยกระดับเป็น มอก.ภาคบังคับ เพราะจากการศึกษาพบว่าสินค้าที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน หรือคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน เช่น สุขภัณฑ์พบการรั่วของอากาศ ทำให้น้ำรั่วซึม กระเบื้องมีการดูดซึมน้ำสูง ฯลฯ จึงอาจทำให้เกิดความเสียหายกับผู้บริโภคได้ หากปูกระเบื้องหรือติดตั้งสุขภัณฑ์ไปแล้วต้องรื้อใหม่

ขณะเดียวกันพบว่าการนำเข้าส้วมนั่งราบและกระเบื้องเซรามิกมีปริมาณเพิ่มขึ้น ในช่วง 5 ปีหลัง หากปล่อยให้สินค้านำเข้าคุณภาพต่ำเข้ามาเพิ่มขึ้นจะเกิดความเสียหายกับผู้ บริโภคได้ โดย สมอ.เริ่มจัดทำร่าง มอก.ภาคบังคับเมื่อปี 2552 ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา โดยส้วมนั่งราบจะมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราช กิจจาฯ 120 วัน ส่วนกระเบื้องเซรามิกคือ 180 วัน เพื่อให้มีเวลาดำเนินการ

เรามีข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และกรมศุลกากร ปี 2551 สินค้ากระเบื้องเซรามิกมีปริมาณนำเข้า 27.63 ล้านตารางเมตร ยอดจำหน่ายในประเทศมีปริมาณ 151.58 ล้านตารางเมตร ส่วนปี 2555 มีปริมาณการนำเข้าเพิ่มเป็น 63.82 ล้านตารางเมตร ขณะที่ยอดขายจำหน่ายในประเทศปริมาณเพิ่มเป็น 187.64 ล้านตารางเมตร

ส่วนส้วมนั่งราบ ปี 2551 มีปริมาณนำเข้า 3.49 แสนชิ้น ยอดจำหน่าย ในประเทศอยู่ที่ 1.956 ล้านชิ้น ส่วนปี 2555 มีปริมาณนำเข้าเพิ่มเป็น 4.97 แสนชิ้น ขณะที่ยอดจำหน่าย ในประเทศอยู่ที่ 1.934 ล้านชิ้น

ขั้นตอนการขอฉลาก มอก.
สำหรับการตรวจสอบตัวอย่างผลิตภัณฑ์ สมอ. กำหนดเป็นมาตรฐานว่า ตั้งแต่ขั้นตอนการรับคำขอใบอนุญาต ตรวจประเมินโรงงาน เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์และทดสอบ ประเมินผล และออกใบอนุญาต จะใช้เวลาภายใน 43 วันทำการ นี่คือกรณีเอกสารครบถ้วน แต่บางกรณีมีล่าช้าบ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นกรณีสินค้านำเข้าที่ต้องไปตรวจสอบโรงงานผลิตที่ต่างประเทศ เนื่องจากต้องใช้เวลาทำเรื่องเดินทางต่างประเทศ

สำหรับการตรวจสอบจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1)ตรวจสอบโรงงานผลิต ซึ่งจะต้องตรวจทุกปี 2)ตรวจสอบมาตรฐานตัวอย่างผลิตภัณฑ์
อย่างรายการทดสอบกรณีสินค้าโถส้วมนั่งราบ อาทิ ความกว้าง-ยาว-สูง ลักษณะผิว ตำหนิต่าง ๆ ความบิดเบี้ยว การรั่ว-ขังน้ำ ฯลฯ ส่วนกระเบื้องเซรามิก อาทิ การดูดซึมน้ำ การต้านแรงกด ความทนการขัดถูลึก ความทนกรดด่างความเข้มข้นต่ำ ฯลฯโดยหลังจากผ่าน 1 ปีแรก สมอ.จะใช้วิธีซื้อสินค้าจากท้องตลาดมาสุ่มตรวจ หากพบว่ามีมาตรฐานคงที่จะพิจารณาลดความถี่ในการสุ่มตรวจลง เช่น 2 ปีครั้ง เป็นต้น

ส่วนค่าใช้จ่ายการตรวจสอบโรงงานปัจจุบันกำลังปรับปรุงราคากลางใหม่ เตรียมประกาศผ่านทางเว็บไซต์ สมอ.ในเร็ว ๆ นี้

ผู้นำเข้าห่วงห้องแล็บไม่พอ
ปัจจุบันมีแล็บทดสอบผลิตภัณฑ์ส้วมนั่งราบและกระเบื้องเซรามิกที่ขึ้นทะเบียน กับ สมอ. 2 แห่ง คือ 1)กรมวิทยาศาสตร์บริการ และ 2)ศูนย์เทคโนโลยีและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) อนาคตอาจจะมา ขึ้นทะเบียนเพิ่มขึ้น

ส่วนหน่วยงานที่มีบุคลากรมีความพร้อมตรวจสอบโรงงานส้วมนั่งราบและกระเบื้อง เซรามิก ปัจจุบันมีประมาณ 8 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดรับสมัครให้มาขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบ ถึงแม้ว่าดูว่าจำนวนแล็บทดสอบผลิตภัณฑ์และหน่วยงานที่มีความพร้อมตรวจสอบโรง งานอาจจะมีไม่มาก แต่เชื่อว่าเพียงพอรองรับการขอ มอก.

ปัจจุบันมีผู้ผลิตกระเบื้องเซรามิกประมาณ 13 บริษัท และผู้ผลิตสุขภัณฑ์อีกประมาณ 8 บริษัท ส่วนจำนวน ผู้นำเข้ายังไม่มีข้อมูล ขณะที่การขอ มอก.ไม่ต้องขอกับสินค้าทุกรุ่นที่ผลิตหรือนำเข้า ยกตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์โถส้วมนั่งราบ จะแบ่งแยกลักษณะตามแบบการติดตั้ง-ประเภทระบบชักโครก-ชนิดถังพักน้ำ เช่น กรณีเป็นส้วมแบบติดตั้งพื้น ประเภทระบบชักโครกด้วยอุปกรณ์ประกอบถังพักน้ำ และเป็นชนิดถังพักน้ำในตัว (รวมเป็นชิ้นเดียวกับสุขภัณฑ์) ที่มีระบบฟลัชแบบเดี่ยว จะใช้วิธีเลือกสินค้ารุ่นใดรุ่นหนึ่งมาตรวจสอบ

อย่างไรก็ตาม สมอ.เตรียมการรองรับ โดยเมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา จัดสัมมนาเรื่อง มอก.ภาคบังคับโถส้วมนั่งราบและกระเบื้องเซรามิก เพื่อให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าทราบว่า ขณะนี้ ผู้ประกอบการสามารถมายื่นขอ มอก.ได้แล้ว และขอความร่วมมือรีบมายื่นแต่เนิ่น ๆ เพื่อดำเนินการตรวจสอบมาตรฐานล่วงหน้า จากนั้นเมื่อประกาศในราชกิจจาฯ และมีผลบังคับใช้หลังผ่านพ้นช่วง 120-180 วัน ก็สามารถให้เลขาธิการ สมอ.ลงนามอนุมัติได้เลย

คิวตรวจจะเสียเปรียบรายใหญ่
สมอ.ยืนยันว่ากระบวนการตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์จะดำเนินการตามคิว หากเป็นผู้นำเข้าหากมาก่อนก็ได้ตรวจก่อน แต่การมายื่นเรื่องแต่เนิ่น ๆ จะมีข้อดี เพราะกรณีมีผู้ประกอบการหลายรายนำเข้าสินค้าจากโรงงานเดียวกัน ผู้ตรวจสอบสามารถตรวจโรงงานครั้งเดียวและออกใบอนุญาตให้กับหลายรายพร้อมกัน ได้

ส่วนสุขภัณฑ์นำเข้าที่ปัจจุบันมีราคาถูกกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศ ถ้าผ่านเกณฑ์ มอก.ก็สามารถนำเข้ามาขายได้ต่อไป ไม่อยากให้มองว่าการมี มอก.ภาคบังคับแล้วทำให้ผู้บริโภคเสียผลประโยชน์

มองว่า…ผู้ผลิตในประเทศเล่นเกม
เราไม่ได้กีดกันสินค้านำเข้า แต่จะกีดกันสินค้านำเข้าที่มีมาตรฐานต่ำหรือด้อยคุณภาพ ดังนั้นช่วงแรกสินค้านำเข้าที่ด้อยคุณภาพก็จะถูกสกรีนหายไปจากตลาด อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตในประเทศก็ต้องพัฒนาคุณภาพสินค้าของตัวเองให้ผ่านมาตรฐานด้วยเช่นกัน

มอก.ภาคบังคับทั้ง 2 ประเภท เริ่มทำตั้งแต่ปี 2552 เท่ากับมีเวลาให้เตรียมตัวพอสมคววรตอนนี้กำลังจะบังคับใช้แล้วหลักการเพื่อ ให้คนไทยได้ใช้ของดี…

รายการอ้างอิง :
วิรัตน์ อาชาอภิสิทธิ์ ประเด็นร้อน มอก.’สุขภัณฑ์-กระเบื้อง”…แนะนำให้รีบขอฉลากแต่เนิ่น ๆ’. ประชาชาติธุรกิจ (สัมภาษณ์พิเศษ). ฉบับวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2556.

                                                – ( 835 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


9 × three =

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>