ผลงานเอนิเมชันเด็กไทยผงาด Asia Digital Art Award จากญี่ปุ่น เวทีนี้การันตีชัด “ไอเดีย” สำคัญกว่า “ซอฟท์แวร์”
ภายหลังเก็บตัวอบรมในโครงการพัฒนาศักยภาพเยาวชนผู้มีความสามารถด้านเอนิเมชันสู่การแข่งขันระดับโลก ซึ่งบมจ. อลิลันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต จับมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค สร้างสรรค์ขึ้น เราก็ได้กลุ่มเยาวชนระดับหัวกะทิที่มีฝีมือด้านเอนิเมชันไป “อวดศักดา” ในแข่งขันระดับสากล
พัชรา ทวีชัยวัฒนะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบริหารการตลาดและสื่อสารองค์กร บมจ. อลิลันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต เผยว่า ก่อนจะส่งเด็กไปแข่งในเวทีใหญ่ระดับเอเชีย อย่างเวที Asia Digital Art Award 2012 Fukuoka ได้คัดเลือกเยาวชนที่มีฝีมือเยี่ยมจากโครงการไทยแลนด์ เอนิเมชัน คอนเทสต์ โดยเด็กๆต้องผ่านการเคี่ยวกรำและฝึกฝนอย่างโชกโชน
พวกเขาต้องคิดงานเอง เล่าเรื่องจากสตอรีบอร์ดได้อย่างน่าสนใจ น่าติดตาม แล้วต้องออกแบบตัวละครได้อย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง ไม่ซ้ำใคร จากนั้นก็มาเล่นเรื่องเทคนิคไม่ว่าจะเป็น 2D หรือ3D ก็จะต้อง Animate ได้อย่างลื่นไหลและสวยงาม เติมเต็มความสมบูรณ์ด้วยการใช้เสียงที่จะทำให้ชิ้นงานนั้นเป็นที่ตราตรึงใจ
“ดูจากผลงานที่น้องๆส่งเข้าประกวด แล้วชนะ จนได้คัดเลือกอบรมในโครงการฯ สะท้อนให้ผู้ใหญ่เห็นว่าเด็กๆมีแนวทางแก้ปัญหาในมุมมองที่ผู้ใหญ่นึกไม่ถึงหรือมองข้าม และยังแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีวุฒิภาวะเกินวัย แถมฝีมือยังเทียบได้กับมืออาชีพ”
ความคิด เล่าเรื่อง
พี-พีรพงษ์ อมรเดชกุล จบจากมหาวิทยาลัยศิลปากร เจ้าของผลงาน Never Ending ผู้คว้ารางวัล Grand Prize Award มาครอบครอง พร้อมผู้เข้าแข่งขันร่วมอีก 5 ทีมที่คว้ารางวัลยอดเยี่ยม Final List Awards กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าเทคนิคด้านซอฟท์แวร์นั้นไม่ใช่ตัวตัดสินชี้ชะตาแพ้ชนะ
พวกเขายอมรับว่าฝีมือของผู้แข่งขันทั้งจากญี่ปุ่นและต่างชาตินั้นสูสี เพราะถึงแม้ทักษะซอฟท์แวร์ไทยอาจดูด้อยกว่า แต่ก็สามารถหาทางออกด้วยดีไซน์มาแก้ไข แต่ที่โดดเด่นกว่ากันก็ตรงที่ความสมบูรณ์ของชิ้นงาน และความสามารถในการสื่อสารเรื่องสังคมและความเป็นไปของโลก ผ่านแนวคิดหรือไอเดียที่สอดแทรกอยู่ในผลงานมากกว่า
“สิ่งที่ยากไม่ใช่แค่การสร้างภาพเคลื่อนไหวที่เหมือนจริงมากที่สุด ซึ่งต้องใช้เวลาและประสบการณ์ แต่มันอยู่ที่การคิดคอนเซ็ปต์ ว่าจะทำให้คนดูเข้าใจ เก็ตในสิ่งที่เรานำเสนอได้อย่างไร”
พีรพงษ์ เล่าถึงคอนเซ็ปต์งานของตนว่า ต้องการนำเสนอเรื่องราวความต้องการของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด ผ่านคาแรกเตอร์ตัวละครในรูปแบบ 3D ไล่เรียงยุคสมัยมาตั้งแต่ยุคหินจนมาถึงโลกอนาคตที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ยังคงมีจุดร่วมอันเดียวกันคือ ความอยาก
“ในความยาวเพียง 3 นาที ผมอยากเสนอว่ามนุษย์มีความต้องการไม่สิ้นสุด พวกเรายังใช้ทรัพยากรมากขึ้นเรื่อยๆ จนมันพินาศ ผมว่าถึงเวลาต้องลดการใช้ทรัพยากร ถ้าจะมาสั่งให้ช่วยกันประหยัดนะ มันอาจไม่ได้ผลนัก มันต้องเสียดสีให้คนในสังคมได้คิดเอง แล้วเขาจะเปลี่ยนโลกด้วยตัวเขาเอง”
ส่วนตั้ม-ศิริพงษ์ สูงกลาง จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กับผลงาน Khanomthai Animation มุ่งใช้แนวคิด เอกลักษณ์ไทย นิยมไทย มาชิงชัย แทรกปัญหาสังคมได้อย่างลงตัว เขาสร้างคาแรกเตอร์ตัวการ์ตูน เป็นขนมไทยแต่ละชนิดมาสู้กับขนมกรุบกรอบตัวร้าย เมื่อเกมจบ ปรากฏว่าเป็นตู้เกมที่มีเจ้าขนมต่างชาติตัวร้ายกำลังหัวเสีย รีบคว้าขนมจริงมาสวาปาม
หรือในกรณีของสารัตถะ จึงเสถียรทรัพย์ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ใช้ผลงานMoonstruck มาถ่ายทอดธรรมชาติของจิตใจมนุษย์ที่มักถูกกิเลสของตัวเองล่อลวงไปสู่จุดจบ ซึ่งงานสามมิติของเขาเข้าขั้นมืออาชีพ โชว์ความประณีตในสไตล์การผลิตภาพยนตร์ แต่ก็ยังไม่ทิ้งไอเดียเด็ดที่จะสื่อว่า “ความจริงอาจไม่ได้เป็นไปตามที่เราฝันไว้เสมอไป ทุกคนอยากไปดวงจันทร์ แต่บนนั้นเป็นอย่างที่เราคิดจริงหรือ”
แล้วก็มาถึงความน่าตื่นตาของเอนิเมชั่นแบบ 2D บ้าง ซึ่งถือเป็นการวัดทักษะการวาดการ์ตูนของแต่ละทีมว่า “เทพ” เพียงไร โดย ชานนท์ พุทประสาทพร จากบริษัท Muffin Animation เจ้าของผลงาน The Missing Wheel เรื่องราวของเด็กผู้ชายที่ตามหาล้อข้างหนึ่ง แต่สุดท้ายเขาก็พบว่า แม้ไม่มีล้อ เขาก็สามารถหิ้วจักรยานแล้วใช้ขาวิ่งแทนล้อ นี่คือการถ่ายทอดแนวความคิดพยายามเพื่อความสำเร็จ และยอมรับสิ่งที่ตนมีอยู่ได้อย่างแยบยล
ส่วนผลงานของน้องๆจากภาควิชามีเดียอาร์ต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เฟอร์รารี่-ดวงหทัย โสตถิเสาวภาคย์ และสต็อป-ธนสรณ์ บุญลือ พวกเขาส่งผลงานชื่อ Rabbit Cycle สร้างเรื่องราวในโลกสมมติว่า กระต่ายขนปุยบนดวงจันทร์นั้น รวมตัวกันเป็นก้อนเมฆ กลั่นตัวเป็นฝนกระต่ายและกลายไปเป็นวัฏจักรเมฆปุยกระต่าย ทั้งสองคนมาโชว์ “ความฟุ้ง” สำแดงจินตนาการให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างได้อย่างน่าประหลาดใจ
“เสน่ห์ของเอนิเมชันอยู่ที่สามารถทำให้ตัวการ์ตูนที่เราวาด ที่เราดีไซน์มีชีวิตขึ้นมาด้วยมือเรา และไม่สามารถทำให้เสร็จสมบูรณ์ได้ด้วยตัวคนเดียว ยังมีเรื่องเสียงประกอบ หรือความเห็นที่แตกต่างจากคนอื่นๆมาเสริมให้งานสมบูรณ์ขึ้น และถึงแม้เราจะต้องเจออุปสรรค แต่เราก็ยังอยากสื่อความคิดของเราลงไปในผลงาน อยากให้คนอื่นยิ้มเหมือนที่เรายิ้มพอใจกับผลงานตัวเอง” สองเพื่อนซี้ และตัวแทนทีมนักเอนิเมชันทุกทีม กล่าวทิ้งท้าย
รายการอ้างอิง :
ชฎาพร นาวัลย์. “ถังความคิด” พิชิตเอนิเมชันโลก. กรุงเทพธุรกิจ (ไอที-นวัตกรรม : นวัตกรรม). ฉบับวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2556.– ( 132 Views)