ญี่ปุ่นมีอาซิโม แต่ไทยมี 3 พี่น้องช่าง-ช่างทำ-ช่างคุย เพื่อเด็กไทย ผลงานของ ผศ.ปัณรสี ฤทธิประวัติ มหาวิทยาลัยมหิดล
แม้ว่าความล้ำสมัยและความเด่นดังจะต่างขั้วจาก “อาซิโม” สุดยอดหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ของฮอนด้า และ “คิวริโอ” หุ่นยนต์นักประชาสัมพันธ์ของโซนี่ แต่หุ่นยนต์สามพี่น้องจากมหาวิทยาลัยมหิดลในชื่อ “ช่างพูด ช่างคุย ช่างทำ” กำลังผนึกกำลังขึ้นแท่นขวัญใจคนใหม่ของเด็กไทย
หุ่นยนต์สามพี่น้องมาพร้อมภารกิจที่จะช่วยฝึกการออกเสียงและทักษะการเข้าสังคมสำหรับเด็กออทิสติก ผลงานโดย “ผศ.ปัณรสี ฤทธิประวัติ” และทีมงานในคณะวิศวกรรมศาสตร์ (ชีวการแพทย์) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนร่วม 2 ล้านบาทจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ติวเตอร์เด็กพิเศษ
โครงการดังกล่าวประดิษฐ์หุ่นยนต์ขึ้น 3 ตัว 3 คุณสมบัติ ได้แก่ หุ่นยนต์ช่างทำที่สอนให้ยกมือขวา-ซ้าย ขณะเดียวกันหุ่นยนต์ก็สามารถเลียนแบบท่าทางของเด็กได้เช่นกัน เพื่อฝึกการโต้ตอบระหว่างหุ่นยนต์กับเด็ก เสมือนว่าเป็นการโต้ตอบระหว่างคนกับคนจริงๆ
ส่วนหุ่นยนต์ช่างพูดจะทำหน้าที่กระตุ้นเด็กปากหนัก (พูดน้อย) ให้พูดมากขึ้น และออกเสียงอย่างถูกต้อง เช่น การฝึกออกเสียงคำควบกล้ำ ร ล หุ่นยนต์จะเป็นฝ่ายชมเชยเมื่อเด็กออกเสียงถูกต้อง หรือแนะนำเมื่อออกเสียงผิดไปจากต้นแบบ
สุดท้ายคือหุ่นยนต์ช่างคุยซึ่งติดตั้งจอแท็บเล็ตไว้กลางลำตัว แสดงรูปริมฝีปากขณะออกเสียงต่างๆ เพื่อให้เด็กเลียนแบบได้อย่างถูกต้อง ทั้งยังสอนทักษะการสนทนา เช่น การแนะนำตัว การไถ่ถามสารทุกข์ เติมเต็มทักษะด้านการสื่อสารให้ดียิ่งขึ้น
จากการทดลองนำหุ่นยนต์ไปใช้ทั้งกับเด็กปกติในวัยอนุบาลและเด็กออทิสติกพบว่า เด็กมีสมาธิจดจ่อและสนใจกิจกรรมที่หุ่นยนต์จะสอนมากขึ้น สอดคล้องกับงานวิจัยต่างประเทศที่ได้ศึกษาเรื่องการใช้หุ่นยนต์เป็นสื่อในการสอนเด็กออทิสติกไว้ก่อนหน้านี้ว่า การเรียนรู้จากหุ่นยนต์จะทำให้เด็กมีความสุข เรียนรู้ได้ดีกว่าการเรียนรู้จากคน และพัฒนาการดีขึ้นอย่างชัดเจน เพราะท่าทางของคนเป็นอะไรที่คาดเดายาก ทำให้เด็กไม่ชอบที่จะทำกิจกรรมกับนักกิจกรรมบำบัด
ทั้งนี้ โครงการวิจัยดังกล่าวได้รับรางวัลเหรียญทองเกียรติยศ จากงาน International Exhibition of Geneva ณ กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ในการส่งผลงานไปประกวดพร้อมกับผลงานของไทยอื่นๆ ที่ไปคว้ารางวัลอีก 36 ผลงาน
สมองกลฝึกปฏิบัติ
ผศ.ปัณรสี เล่าว่า จุดเริ่มต้นของการพัฒนาหุ่นยนต์สามช่างนี้ เกิดจากแพทย์ในโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ ที่แนะนำให้สร้างหุ่นยนต์ช่วยเด็กออทิสติกฝึกการพูดได้อย่างต่อเนื่อง แก้ปัญหาการขาดแคลนนักแก้ไขการพูด
เมื่อพิจาณาเห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะสำเร็จ เธอลงมือค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับเด็กออทิสติก รวมถึงข้อมูลของเล่นและสิ่งของที่เสริมสร้างทักษะ พบว่าหุ่นยนต์ที่ออกแบบจะต้องมีความฉลาด หรือรู้ว่าควรจะกระตุ้นเด็กในเรื่องอะไร
ยกตัวอย่างหุ่นยนต์ช่างทำ นอกจากการเรียนรู้และจดจำคำพูดแล้ว ยังต้องสามารถแยกตัวคนเป้าหมายออกจากพื้นหลัง เพื่อที่จะเลียบแบบท่าทางของเด็กได้ถูกคน ทั้งยังต้องมีความฉลาดที่จะรู้ว่าตรงไหนเรียกว่ามือซ้าย ตรงไหนเรียกว่ามือขวา
เธอจึงใช้ประสบการณ์ความรู้ที่คลุกคลีอยู่กับเทคโนโลยีหุ่นยนต์จากสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) โดยเฉพาะองค์ความรู้เรื่องปัญญาประดิษฐ์การเรียนรู้ในหุ่นยนต์ ในการออกแบบหุ่นยนต์อัจฉริยะที่คิด/โต้ตอบได้โดยอัตโนมัติ หรือมีศักยภาพการตัดสินใจใกล้เคียงกับมนุษย์
ขณะที่โครงสร้างภายนอกก็สำคัญเช่นกัน จะต้องออกแบบให้เป็นที่ดึงดูดใจพร้อมทั้งกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองของเด็กพิเศษ ทั้งเรื่องสี ลักษณะของเสียง ท่าทาง เพลง อีกทั้งต้องระมัดระวังเรื่องความปลอดภัย โดยตัวหุ่นยนต์ต้องไม่มีมุมเหลี่ยมคมที่จะเป็นอันตราย ในทางกลับตัวโครงสร้างของหุ่นจะต้องแข็งแรงพอ ที่จะปกป้องแผงวงจรอิเล็กทรอนิกและกลไกภายใน จากพฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กบางคน
“ความยากอยู่ที่การออกแบบโปรแกรมให้สอดรับกับกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด เนื่องจากเด็กออทิสติกมีหลากหลายรูปแบบ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ปกครอง นักกิจกรรมบำบัด และเก็บข้อมูลประเมินผลว่าได้ผลมากน้อยเพียงใด ยังมีจุดไหนที่ยังต้องปรับปรุงอีกบ้าง”
เป้าหมายเพื่อให้ทั้งสามหุ่นยนต์นี้ ไม่เพียงใช้เป็นเครื่องมือเชิงคลินิก แต่สามารถใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ในห้องเรียนทั่วไปได้อีกด้วย
รายการอ้างอิง :
กานต์ดา บุญเถื่อน. ของเล่นสื่อสารได้. กรุงเทพธุรกิจ (ไอที-นวัตกรรม : นวัตกรรม). วันที่ 30 เมษายน 2556.– ( 148 Views)