สำนักข่าวไทยเสนอข่าวเศรษฐกิจ
1 พ.ค. 2556 -การใช้พลังงานทดแทนมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังภาครัฐมีสัญญาญปรับราคาแอลพีจี และยกเลิกเบนซิน 91 รวมทั้งยังส่งให้ค่าอุดหนุนต่อเนื่อง
นายทวารัตน์ สูตะบุตร รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุกรักษ์พลังงาน หรือ พพ. เปิดเผยว่า การใช้พลังงานทดแทนของประเทศ เป็นไปตามเป้าหมาย โดยปีที่แล้วมีการใช้เป็นสัดส่วนร้อยละ 9.9 ของพลังงานของประเทศ ช่วยลดการนำเข้าน้ำมัน โดยในส่วนของภาคไฟฟ้าเติบโตสูงสุดร้อยละ 29 มีกำลังผลิตรวม 2,786 เมกะวัตต์ การใช้ภาคน้ำมันเติบโตร้อยละ 21.9 หรือ 4.1 ล้านลิตรต่อวัน
ทั้งนี้ มั่นใจว่าในปีนี้การใช้พลังงานทดแทนจะมีสัดส่วนถึงร้อยละ 12 ตามเป้าหมายสาเหตุหลักมาจากนโยบายรัฐบาลที่มีการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน เช่น แอลพีจี การยกเลิกเบนซิน 91 รวมทั้งปริมาณปาล์มน้ำมันที่มีเพียงพอที่จะใช้ไบโอดีเซลสูตรร้อยละ 5 หรือ บี 5 ได้ต่อเนื่องทั้งปี นอกจากนี้ โครงการที่อุดหนุนค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มการผลิตไฟฟ้าทั้ง ลม และแสงแดด ก็ส่งผลให้ มีกำลังผลิตใหม่เข้าระบบต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2555-2557 จะมีพลังงานแสงอาทิตย์เข้าระบบ 300 เมกะวัตต์ต่อปี พลังงานลม 100-150 เมกะวัตต์ต่อปี
รองอธิบดี พพ. ยังระบุด้วยว่า เอกชนไทยมีความสามารถในเทคโนโลยีการผลิตก๊าซชีวภาพ โดยสามารถนำมาใช้ทั้งผลิตความร้อน ผลิตทดแทนแอลพีจี และไฟฟ้า และมีความสามารถ ในการผลิตเอทานอล เป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ โดยเมื่ออาเซียนตื่นตัวลดโลกร้อนและพลังงานทดแทน หากรัฐบาลมีแนวทางส่งเสริมเจรจาสร้างตลาดส่งออกเทคโนโลยีเหล่านี้ก็จะสร้างรายได้แก่ประเทศ และคาดว่าจะเห็นแนวโน้มชัดในงานพลังงานทดแทนเอเชีย 2013ในวันที่ 5-8 มิถุนายนนี้ ซึ่งจะมีผู้เข้าร่วมงานจาก 30 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมงาน
อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ สำนักข่าวไทย อสมท. -
http://www.mcot.net/site/content?id=5180ac40150ba0283f000285#.UYC3xMphsa8– ( 75 Views)