นักวิจัยใช้แสงซินโครตรอนตรวจสอบขุยมะพร้าว พบช่วยกรองโลหะหนักในน้ำเสียได้ หวังต่อยอดระดับอุตสาหกรรม ลดต้นทุนระบบบำบัดน้ำเสีย เพิ่มมูลค่าขุยมะพร้าวเหลือทิ้ง
ศ. นาวาอากาศโท ดร. สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันแสงซินโครตรอน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า แสงซินโครตรอน เป็นแสงที่มีพลังงานและความเข้มแสงสูงกว่าแสงอาทิตย์ถึงล้านเท่า และครอบคลุมช่วงความยาวคลื่นตั้งแต่รังสีอินฟาเรดจนถึงรังสีเอกซ์ จึงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย
อย่างเช่นในงานวิจัยดังกล่าวทางสถาบันฯ ร่วมกับทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี นำแสงซินโครตรอนมาศึกษากลไกการดูดซับโลหะนิกเกิลด้วยขุยมะพร้าว โดยใช้เทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ ซึ่งจากผลการวิจัยจึงพบว่า โครงสร้างของขุยมะพร้าวมีประสิทธิภาพและสามารถดูดซับนิกเกิลได้ดี
ซินโครตรอน พบขุยมะพร้าวกรองโลหะหนักได้ เล็งต่อยอดในการบำบัดน้ำเสียภาคอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ยังสามารถชะล้างเอาโลหะนิกเกิลกลับคืนเพื่อนำไปใช้ใหม่ได้ โดยไม่ก่อให้เกิดของเสียอันตราย เนื่องจากขุยมะพร้าวสามารถสลายตัวได้เองตามธรรมชาติ โดยผลการวิจัยนี้สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อใช้ในการบำบัดน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมชุบโลหะในขั้นตอนการชุบนิกเกิลได้ ซึ่งในปัจจุบันใช้สารเคมีในการบำบัดและมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง
ขุยมะพร้าวจัดเป็นวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ดังนั้นการค้นพบครั้งนี้จึงสามารถช่วยเพิ่มมูลค่าของวัสดุทางการเกษตรในอนาคต ซึ่งล่าสุด ทางสถาบันฯ ได้ทำการลงพื้นที่ทดสอบขุยมะพร้าว เพื่อการบำบัดน้ำเสียกับโรงงานอุตสาหกรรมชุบโลหะ ในจังหวัดสมุทรปราการ
ผลที่ได้จากการทดสอบพบว่า ขุยมะพร้าวสามารถดูดซับโลหะหนักได้ดีทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายในการบำบัดน้ำเสียลงได้ รวมถึงทำการศึกษาเพิ่มเติมโดยการใช้สารเคมีบางชนิด เช่น สารละลายด่าง ผสมลงไปกับขุยมะพร้าวด้วย ยังทำให้ประสิทธิภาพในการดูดซับและจับโลหะหนักทำได้ดีมากขึ้น
สำหรับผลงานวิจัยดังกล่าว ทางสถาบันจะทำการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมที่สนใจ เพื่อนำไปพัฒนาการผลิตตัวดูดซับโลหะหนักสำหรับระบบบำบัดน้ำเสียที่จะใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆต่อไป โดยผู้สนใจรับสอบถามข้อมูลได้ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สายด่วน 1313
รายการอ้างอิง :
ขุยมะพร้าวบำบัดน้ำเสีย. กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ (ไอที-นวัตกรรม : นวัตกรรม). วันที่ 30 เมษายน 2556.– ( 74 Views)