การเปิดโปงความไร้ประสิทธิภาพของเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิด จีที 200 ในประเทศไทยจะประสบความสำเร็จไม่ได้เลยหากไม่มีบุคคลที่ชื่อ ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ด้วยสไตล์การต่อสู้แบบเดินหน้าออกสื่อทุกแขนงโดยใช้ลีลา “กวนนิดๆ” อธิบายหลักการทางวิทยาศาสตร์แบบเข้าใจง่ายๆ เพื่อ “จับโกหก” อุปกรณ์ที่ไม่ใช่เครื่องมือวิทยาศาสตร์ ส่งผลให้ประเด็น “จีที 200″ กลายเป็นข่าวดัง เมื่อปลายปี2552 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2553 กระทั่งหน่วยงานความมั่นคงทุกหน่วยในประเทศไทยต้องสั่งยุติการใช้อุปกรณ์ ชนิดนี้ในที่สุด “ผมไม่ได้เป็นคนๆ เดียวที่ทำเรื่องนี้ เพียงแต่เป็นคนที่อยู่ข้างหน้า และยังมีคนอีกหลายคนที่อยู่เบื้องหลัง” ผศ.ดร.เจษฎา ออกตัวในเบื้องต้น
สิ่งที่เป็นคำถามและแปรเป็นแรงผลักดันให้ ผศ.ดร.เจษฎา ลุยตรวจสอบเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่มีการเปิดประเด็นโดยคนไทยด้วยกันเองในเครือข่ายสังคมออนไลน์มาตั้งแต่ปี 2552 ทว่าข่าวไม่ดัง แต่กลับมาฮือฮาเมื่อสำนักข่าวบีบีซีผ่าเครื่องเอดีอี 651 ที่เป็นเครื่องตรวจระเบิดเก๊เหมือน จีที 200 นั่นก็คือ ทำไมนักวิชาการไทยไม่พูด ไม่สนใจ ต้องให้บีบีซีมาพูดแทน
“ผมก็เลยตัดสินใจเดินหน้าต่อ และรู้สึกดีใจที่ผลทดสอบออกมาชัดเจนว่ามันใช้ไม่ได้ ทั้งยังส่งอานิสงส์ถึงต่างประเทศ เพราะมีข่าวไปทั่วโลกว่าไทยจัดทดสอบแล้วยืนยันว่าใช้ไม่ได้ 2 ปีที่ผ่านมาหลายประเทศหยุดใช้ไปแล้ว วันนี้ศาลอังกฤษตัดสินแล้วว่าเจ้าของบริษัทผู้ผลิตหลอกลวง ฉ้อโกง หลายประเทศ เช่น อิรักมีการเรียกร้องให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับการจัด ซื้อ”
นั่นเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ แต่สำหรับในเมืองไทยกลับไม่มีความคืบหน้าใดๆมากนัก นอกจากเรื่องเงียบหายไปหลังหน่วยงานสั่งยุติการใช้ “อุทาหรณ์ใหญ่ของประเทศชาติไม่ใช่แค่การซื้อของราคาพันล้าน แต่ต้องดูว่าวิธีการจัดซื้อผิดปกติหรือไม่ เพราะมีการจัดซื้อวิธีพิเศษกันเยอะมาก วิธีการเช่นนั้นมีปัญหาหรือไม่ ให้นักวิทยาศาสตร์ไปช่วยดูบ้างหรือเปล่า ไม่ใช่แค่เจ้านายบอกว่าดี หรือลูกน้องบอกว่าดีก็จัดซื้อกันแล้ว”
“คำถามคือคนซื้อซื้อมาได้อย่างไร ทำไมไม่ทดสอบ ดูแค่สเปค เมื่อนำสินค้ามาเทียบกับสเปคว่าตรงก็ซื้อแล้วหรือ ในเอกสารโฆษณาขายเครื่องเขียนไว้ว่าหาระเบิดได้ไกลเป็นกิโลฯ คุณก็เชื่อหรือ ทำไมสหรัฐอเมริกาไม่เคยใช้ ทำไมเกิดสึนามิที่ญี่ปุ่น ยูเอ็นถึงไม่เอาจีที 200 ไปเดินหาศพ คุณไม่รู้เลยหรือ มีเครื่องมืออื่นอีกไหมที่จัดซื้อด้วยไอเดียแบบนี้ คือดูแค่สเปคตรงก็ซื้อแล้ว”
“การทดสอบประสิทธิภาพก่อนจัดซื้อต้องมาจากคนอื่น ต้องมาจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น บอกว่าตรวจหาสารได้ละเอียดระดับไมโครกรัม ต้องลองดู ต้องไปเชิญเนคเทค มา แต่เท่าที่ทราบการจัดซื้อในยุคนั้นไม่มีเลย และผมก็ยังกังวลว่าในอนาคตถ้ามีปัญหาแบบนี้อีกเราจะไปร้องเรียนกับใคร เพราะยังไม่มีกลไกตรวจสอบตรงนี้เลย สมัยที่ตรวจสอบ จีที 200 โชคดีที่มีสื่อกับเอ็นจีโอช่วย แต่องค์กรทางด้านวิทยาศาสตร์กลับไม่ได้แสดงบทบาท”
บทเรียนสำคัญที่สุดจากกรณี “จีที 200″ ในความเห็นของ ผศ.ดร.เจษฎา ก็คือ การจัดซื้อต้องมีการทดสอบ หลังจากนี้ถ้าเจอ เครื่องมือที่ถูกตั้งข้อสงสัย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ใช่แค่ “เถียงแทน” แต่ควรหยุดใช้ก่อน แล้วตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทดสอบอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ใช้ความเชื่อ
เขายังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า แม้ศาลอังกฤษจะตัดสินความผิด นายเจมส์ แมคคอร์มิคเจ้าของบริษัทคอมส์แทร็ค จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องตรวจระเบิดลวงโลกไปแล้ว แต่ นายแมคคอร์มิค ไม่ใช่ตัวหลักที่ขายจีที 200 ให้ไทย ตัวหลักจริงๆ คือ นายแกรี โบลตัน ขณะนี้ถูกดำเนินคดีอยู่เช่นกัน จึงอยากให้ช่วยกันติดตามดู
รวมทั้งคดีในบ้านเราเองก็น่าจะมีการสรุปว่าความผิดอยู่ตรงไหน และใครเป็น คนที่ต้องรับผิดชอบ!
รายการอ้างอิง :
ปกรณ์ พึ่งเนตร. เจษฎา: ยังไร้กลไกตรวจสอบจัดซื้อวิธีพิเศษ. กรุงเทพธุรกิจ. ฉบับวันที่ 02 พฤษภาคม พ.ศ. 2556.– ( 66 Views)