magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก ระวัง “เห็ดพิษ” ชีวิตถึงดับ
formats

ระวัง “เห็ดพิษ” ชีวิตถึงดับ

ย่างเข้าเดือนหกฝนก็ตกพรำๆ แบบนี้ ชาวบ้านคงพากันไปเก็บเห็ดที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ เพื่อนำมาเป็นอาหาร และขายสร้างรายได้เสริม โดยเฉพาะช่วงที่ฝนตกดีแถมอากาศอบอ้าวเช่นนี้ ทำให้เห็ด ในป่าหลายชนิดที่พักตัวเป็นเส้นใยใต้ผืนป่าในช่วงฤดูแล้ง ทยอยก่อโครงสร้างดอกเห็ดชูขึ้นเหนือพื้นดิน ซึ่งเห็ดเหล่านี้มีทั้งเห็ดที่ รับประทานได้และเห็ดที่รับประทานไม่ได้ หรือที่เรียกว่า “เห็ดพิษ”  ในแต่ละปีกระทรวงสาธารณสุขพบว่า มีผู้ป่วยจากการกินเห็ดพิษนับพันๆ ราย และบางรายร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต ดังจะเห็นปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์อยู่บ่อยครั้ง โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักอยู่ในชนบทของภาคอีสาน และรองลงมาคือภาคเหนือ ผู้ป่วยที่กินเห็ดพิษ เข้าไปส่วนใหญ่จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว หลังจากกินเห็ดพิษไปประมาณ 20 นาทีถึง 24 ชั่วโมง รายที่อาการรุนแรงจะถึงขั้นเสียชีวิตภายใน 1-8 วันด้วยอาการตับวาย ไตวาย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของเห็ด และชนิดของพิษที่กินเข้าไปด้วย          การช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้นด้วยการกรอก ไข่ขาวสด หรือให้ผู้ป่วยดื่มน้ำอุ่นผสมผงถ่าน (activated charcoal) ซึ้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป แล้วล้วงคอให้อาเจียนออกมา และรีบนำส่งแพทย์ พร้อมกับตัวอย่างเห็ดพิษ หากยังเหลืออยู่ สำหรับสาเหตุที่ในแต่ละปีมีผู้ป่วยจากการกินเห็ดพิษจำนวนมาก เนื่องจากเห็ดพิษบางชนิดมีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับเห็ดกินได้ จึงทำให้ชาวบ้านมักสับสน ทั้งนี้จากการทำงานร่วมกันของทีมนักวิจัยระหว่างห้องปฏิบัติการ ราวิทยา และพิพิธภัณฑ์เห็ด ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกลุ่มงานพิษวิทยาและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี 2551 คณะนักวิจัย ได้ดำเนินการวินิจฉัยชนิดของเห็ดป่าที่เป็นพิษ จนสามารถรวบรวม และจัดจำแนกชนิดของเห็ดพิษได้ถึง 15 ชนิด (species) จากตัวอย่างทั้งหมด 88 ชิ้นเลยทีเดียว

จากการเก็บข้อมูลคณะนักวิจัยพบว่าตัวอย่างเห็ดพิษและเห็ดกินได้ที่ชาวบ้าน มัก จะเก็บสับสนกันมากที่สุดจัดอยู่ในกลุ่มของ เห็ดระโงกขาว (Amanita princeps ) และ เห็ดระโงกเหลือง (Amanita hemibapha ) ซึ่งเป็นเห็ดกินได้ รสชาติอร่อย แถมมีราคาแพง แต่ถ้าผู้เก็บไม่มีความชำนาญ ก็มักจะสับสนกับเห็ดระโงกหิน (Amanita verna หรือA. bisporigera ) ซึ่งมีพิษร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

เห็ดป่าอีกกลุ่มหนึ่งที่มักเก็บสับสนมากคือ เห็ดโคน (Termitomyces spp .) กับเห็ดพิษในสกุล Entoloma  และ Clitocybe เนื่องจากเห็ดพิษทั้งสองกลุ่มนี้หลายชนิดมีสีและลักษณะหมวกที่มียอดแหลม คล้ายคลึงกับเห็ดโคน แต่ให้พิษที่รุนแรงถึงเสียชีวิตได้

นอกจากนี้ ยังมีเห็ดป่าอีกกลุ่มหนึ่งที่มักเก็บสับสนกันบ่อยๆ คือ เห็ดถ่าน (Russula nigricans ) หรือเห็ดขิง เห็ดข่า (Lactarius piperatus ) เป็นเห็ดป่าที่มักจะเก็บสับสนกับ เห็ดพิษในหลายสกุล เช่น Entoloma, Clitocybe และ Hygrocybe โดยเฉพาะเห็ดในกลุ่ม Entoloma และ Clitocybe เป็นเห็ดพิษที่มีความหลากหลาย ทางชนิดสูง มีรูปร่างแตกต่างมากมาย เช่น มีทั้ง หมวกยอดแหลมและไม่มียอดแหลม จึงทำให้มี รูปร่างหน้าตาคล้ายคลึงได้ทั้งเห็ดโคน และ เห็ดถ่าน หากชาวบ้านที่ไม่มีความชำนาญพบเห็ดเหล่านี้ก็มักจะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเห็ด กินได้ ซึ่งจะมีเพียงผู้ชำนาญเท่านั้นที่สามารถแยกแยะความแตกต่างได้

หลายคนคงอาจสงสัยว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเห็ดที่เก็บมานั้นเป็นเห็ดพิษหรือไม่? และสามารถใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมในการทดสอบได้หรือไม่? การใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมสามารถพิสูจน์เห็ดพิษได้บางชนิดเท่านั้น ตัวอย่างภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ชาวบ้านใช้ในการทดสอบเห็ดพิษ ก็เช่นการนำหัวหอมหรือข้าวสารใส่เมื่อต้มเห็ด ถ้าเห็ดนั้นเป็นพิษจะเปลี่ยนหัวหอมเป็นสีดำหรือข้าวสารจะไม่สุกหรือสุกๆ ดิบๆ ซึ่งการทดสอบนี้พบว่าสามารถใช้ได้กับเห็ดพิษชนิดเดียวเท่านั้นคือ เห็ดหัวกรวดครีบเขียว แต่ไม่สามารถใช้ทดสอบกับเห็ดระโงกหินได้ ดังนั้นการทดสอบด้วยวิธีดั้งเดิมวิธีใดวิธีหนึ่งไม่อาจครอบคลุมเห็ดพิษได้ ทุกชนิด  การแยกแยะเห็ดพิษหรือเห็ดกินได้ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นจึงจะแยกแยะ ความแตกต่างของเห็ดเหล่านี้ได้ ในการระบุชนิดของเห็ดพิษ ผู้เชี่ยวชาญจะใช้วิธีการศึกษาด้านสัณฐานวิทยา และชีวโมเลกุลเป็นหลัก ลักษณะทางสัณฐานวิทยาประกอบด้วยสองส่วน หลักคือสัณฐานวิทยาที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าและภายใต้กล้องจุลทรรศน์ การระบุชนิดต้องอาศัยข้อมูลลักษณะของทั้งสองส่วนประกอบกันร่วมกับข้อมูลใน ระดับดีเอ็นเอซึ่งจะได้จากการวิเคราะห์ทางเทคนิคชีวโมเลกุล เพื่อให้ครอบคลุมลักษณะเฉพาะของเห็ดชนิดนั้นๆ

ดังนั้นเราจึงไม่ควรประมาทในการกินเห็ดป่าหากไม่แน่ใจ เพื่อลดความเสี่ยงจากการกินเห็ดพิษจนเป็นอันตรายถึงชีวิต
หมายเหตุ :ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณธิติยา บุญประเทือง พิพิธภัณฑ์เห็ดรา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โทร.0 2564 6700 ต่อ 3715

รายการอ้างอิง :
ระวัง “เห็ดพิษ” ชีวิตถึงดับ. กรุงเทพธุรกิจ (Smart). ฉบับวันที่ 06 พฤษภาคม พ.ศ. 2556.– ( 206 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


+ seven = 13

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>