magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก ผักคนเมืองไซส์มินิ
formats

ผักคนเมืองไซส์มินิ

“ชุดปลูกผักพอเพียง” หรือแปลงผักสวนครัวสำเร็จรูป ไอเดียสร้างสรรค์ที่มีจุดเริ่มอุทกภัย กำลังต่อยอดสู่การใช้งานในสถานการณ์ปกติ

ไอเดียสร้างสรรค์ที่มีจุดเริ่มสำหรับบรรเทาความเดือดร้อนจากเหตุน้ำท่วมเมื่อปีกลาย แต่ ณ ปัจจุบัน กำลังจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนกรุง เมื่อประโยชน์ที่เกิดขึ้นมีความน่าสนใจและมีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อยอดสู่การใช้งานได้ทุกกลุ่มเป้าหมาย
“ชุดปลูกผักพอเพียง” หรือแปลงผักสวนครัวสำเร็จรูป ประกอบด้วยชุดอุปกรณ์การปลูกครบถ้วนซึ่งรวมถึงดิน เมล็ดพันธุ์และเนื้อหาในรูปแบบคำบรรยายและภาพประกอบ ผลงานสร้างสรรค์โดย “ยศวดี ลือตระกูลเศรษฐ์” นักออกแบบเลือดใหม่จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มีจุดหมายเพื่อให้ประชาชนมีผักสดบริโภคหมุนเวียนได้เพียงพอตลอดช่วงเวลาวิกฤติ และป้องกันภาวะขาดแคลนอาหาร

วิจัยก่อนวิเคราะห์
ก่อนจะออกไอเดียสร้างแปลงปลูกผักขนาดย่อม ยศวดีเสาะหาข้อมูลด้านโภชนาการในช่วงน้ำท่วม โดยสอบถามผู้ประสบภัยและพบว่า พวกเขาได้รับแต่อาหารกระป๋องหรืออาหารแห้ง ก็เกิดความเครียด แล้วยิ่งน้ำท่วมกว่า 1-2 เดือนก็เริ่มเบื่ออาหารแห้ง มีอาการซึมเศร้า ไม่มีความสุข ส่งผลต่อสุขภาพ

“ถ้าแก้จุดแรกได้คือ ทำให้เขามีความสุขกับการกินก็จะช่วยจุดอื่นๆ ได้ด้วย คือบรรเทาความวิตกกังวลและใช้เวลาไปทำอย่างอื่นได้ ไอเดียจึงมาจากการขาดแคลนอาหารสด และความน่าสงสัยว่า หมู่บ้านต่างจังหวัดที่น้ำท่วมกว่า 7-8 เดือน ทำไมอยู่ได้เพราะเขามีอาหารสด ฉะนั้น ผู้ประสบภัยต้องปลูกผักกินเอง” เธอกล่าว

ขึ้นชื่อว่าแปลงปลูกผักก็ต้องอาศัยดิน แต่เพราะพื้นที่บางแห่งจมอยู่ใต้น้ำ ฉะนั้น ก็ต้องแก้ปัญหาด้วยการลดขนาด แต่ทำให้มีประสิทธิภาพทัดเทียมกับแปลงเกษตรเดิม เกิดเป็นสวนผักคนเมืองขนาดย่อมๆ เลือกพันธุ์ผักที่ปลูกง่าย ต้นไม่ใหญ่ ใช้ดินน้อย แสงน้อยและโตเร็ว

จากการศึกษาวิจัยข้อมูลทางการเกษตร เธอขยายความถึงเหตุผลว่าทำไมต้องเลือกผักที่ใช้แสงน้อยว่า เป็นผักกินใบจึงไม่ต้องการแสงมากอยู่แล้ว ยิ่งพื้นที่ภายในบ้านจำกัด เพียงแสงสักนิดก็เพียงพอแล้ว ส่วนดินน้อยก็ต้องเลือกผักที่มีรากสั้นประมาณ 10 เซนติเมตร ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้กระถางหรือพื้นที่ขนาดใหญ่

ยศวดีศึกษาแล้วว่า ผักที่เหมาะสมกับผลวิจัยดังกล่าวและควรบรรจุอยู่ในแปลงผักพอเพียงของเธอ ได้แก่ ต้นหอม ถั่วงอก ผักบุ้ง คะน้า กวางตุ้งและกระเพรา

“เราเลือกโดยดูจากเมนูอาหารในช่วงน้ำท่วม แล้ววิเคราะห์ต่อว่าผักชนิดใดบ้างที่จะมีศักยภาพในการปลูกในภาวะวิกฤติ อย่างแรกจะต้องขึ้นง่าย ซึ่งเร็วที่สุดคือถั่วงอกที่ใช้เวลาเพียง 3 วัน  แต่ผักทั้งหมดที่เลือกมาสามารถเพาะปลูกแล้วขึ้นให้กินได้ภายในระยะเวลาเดือนครึ่ง และรับประทานได้จริงไปตลอดทั้งเดือน” เธอกล่าว

เข้าใจง่าย:หัวใจงานออกแบบ
แม้จะดูว่าง่ายสำหรับสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ แต่นักคิดวัยใสมองว่า สิ่งที่ยากที่สุดคือ การเขียนอธิบายให้เข้าใจเนื้อหาได้ง่ายเพื่อการปฏิบัติที่ถูกต้อง โดยเฉพาะเนื้อหาในส่วนของตารางเวลาการปลูกและวิธีปลูกเมล็ดพันธุ์แต่ละชนิด ต้องรู้ว่าผักชนิดไหนโตช้า ก็เริ่มต้นปลูกก่อนแล้วเรียงลำดับไล่มาเรื่อยๆ เพื่อให้มีผลผลิตผักสดเก็บกินได้ตลอดทั้งเดือน

ทั้งนี้เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย เธอให้ความสำคัญกับการใช้สีสัญลักษณ์แทนระยะเวลาการเติบโต และการจัดกรุ๊ปผักโดยแบ่งกลุ่มผักโตช้าใช้สีฟ้า หรือโตปานกลางใช้สีเขียว และโตเร็วใช้สีส้ม เป็นต้น

“ตารางคือจุดสำคัญที่จะทำให้งานออกแบบแปลงผักแตกต่างจากคนอื่นๆ” ยศวดีกล่าวและว่า ถ้าออกแบบตารางวางผักที่เหมาะสม ก็จะทำให้ทุกคนสามารถฉีกซองเปิดกล่องแล้วปลูกผัก พร้อมด้วยความมั่นใจว่าจะได้ผลผลิตอย่างแน่นอน ไม่ใช่แค่การทดลองทางวิทยาศาสตร์

แปลงปลูกผักพอเพียงชิ้นนี้ยังประยุกต์ใช้กับคนเมือง ที่สนใจปลูกผักไว้รับประทานเองในสถานการณ์ปกติ แต่ยังขาดประสบการณ์การทำผักสวนครัว

“งานชิ้นนี้คิดออกมาเพื่อต่อยอดในสถานการณ์ปกติ เพราะเราจะคิดถึงแค่การออกแบบเพื่อแก้ปัญหาในช่วงใดช่วงหนึ่งไม่ได้ แต่การออกแบบในสถานการณ์คับขันนั้น คือการบ่มเพาะให้นักคิดนักออกแบบได้เรียนรู้วิธีบริหารความคิดของตัวเองภายใต้ระยะเวลาที่จำกัด ถ้าเกิดข้อมูลไม่แน่นพอ หรือข้อมูลเหมือนเดิมแต่ความต้องการเปลี่ยนไป เราก็ต้องไวที่จะปรับเปลี่ยนได้ และจำเป็นต้องคิดเผื่อหรือคาดการณ์ได้ด้วย เช่น ถ้าฝนตกทั้งวันทั้งคืน ไม่มีแดดเลยจะทำอย่างไร นักออกแบบต้องไม่จนหนทาง ต้องหาทางแก้ให้ได้” เจ้าของผลงานออกแบบที่ชนะเลิศในโครงการ “ท่วมได้…ออกแบบได้”

รายการอ้างอิง :

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. ผักคนเมืองไซส์มินิ. กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ (ไอที-นวัตกรรม : วิทยาศาสตร์). วันที่ 4 ตุลาคม 2555.– ( 573 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


− 5 = two

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>