หลงๆ ลืมๆ แทบทุกอย่างในชีวิต แม้กระทั่งชื่อหรือหน้าของคนที่รัก ทำเอาหลายคนหวาดกลัวโรคอัลไซเมอร์ แต่การแพทย์ก้าวหน้าสามารถตรวจรู้ล่วงหน้า
อัลไซเมอร์หรือโรคความจำเสื่อมจะเริ่มต้นจากการที่ผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติทางความจำ ต่อมาเริ่มมีอาการหลงลืมหรือความจำถดถอยเล็กน้อย กระทั่งความจำเริ่มถดถอยมากขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน
“โรคนี้มีระยะเวลาการก่อโรคนาน 15-20 ปี กว่าจะมีอาการสมองเสื่อมชัดเจน จากการศึกษาผู้ป่วยที่อายุ 65 ปี พบว่าโรคนี้ไม่ได้เริ่มทันทีที่อายุ ณ ปัจจุบัน แต่ได้ก่อตัวมาตั้งแต่ตอนที่อายุ 40 ปี และแสดงอาการชัดเจนในอีก 25 ปีถัดมา ซึ่งก็คือวัย 65 ปีในปัจจุบัน” นพ.โยธิน ชินวลัญช์ อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าว
ระยะเวลาการดำเนินของโรคที่ยาวนาน ประกอบกับความเพิกเฉยโดยคิดว่าความผิดปกติทางความจำเล็กน้อยไม่ได้เป็นอาการเริ่มต้นของโรคสมองเสื่อม และความไม่เข้าใจที่ว่าโรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่เริ่มเกิดในคนสูงอายุและเป็นโรคที่ไม่สามารถป้องกัน และไม่สามารถรักษาให้หายขาด ทำให้การวินิจฉัยและรักษาทำได้ไม่ทันท่วงที
อีกทั้งการตรวจวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ได้สร้างความเจ็บปวดให้ผู้ป่วยอย่างมาก จากการเจาะไขสันหลังเอาน้ำไขสันหลังหรือตัดชิ้นเนื้อสมองออกมาตรวจหาสารเบต้าอมีลอยด์ ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงภาวะอัลไซเมอร์
ล่าสุด มหาวิทยาลัยพิทท์เบิร์กในสหรัฐอเมริกาได้พัฒนาสารเภสัชรังสีสำหรับฉีดเข้าสู่ตัวคนไข้ และรอเวลาดูดซึมก่อนที่จะตรวจเอ็กซเรย์ด้วยเครื่องเพทสแกน (PET Scan) เพื่อตรวจหาการสะสมของสารเบต้าอมีลอยด์ในสมอง และการทำงานของเซลล์สมอง โดยสามารถตรวจได้ตั้งแต่ระยะที่ยังไม่ปรากฏอาการ ผลการตรวจแม่นยำ 90% อีกทั้งสารตัวนี้มีความปลอดภัย โดยจะสลายตัวอัตโนมัติ ไม่ตกค้างในร่างกาย
“เทคโนโลยีใหม่นี้ไม่ทำให้คนไข้เจ็บตัว เพราะไม่ต้องเจาะไขสันหลัง ไม่ต้องผ่าเอาชิ้นเนื้อสมองไปตรวจวินิจฉัย อีกทั้งเทคโนโลยีเพทสแกนยังช่วยในการแยกชนิดของอัลไซเมอร์ได้ว่า เป็นชนิดใด เพราะการรู้ชนิดของโรคจะทำให้ทราบว่าควรให้การรักษาอย่างไร” คุณหมอกล่าว
อย่างไรก็ตาม โรคนี้ยิ่งพบเร็วก็มีโอกาสที่ยับยั้งอาการและรักษามากขึ้น แต่คุณหมอแนะนำว่า ผู้ที่ต้องการตรวจหาอัลไซเมอร์ควรจะมีอายุ 45 ปีขึ้นไป เนื่องจากเทคนิคการตรวจนี้สามารถตรวจล่วงหน้าได้ 15 ปี จึงเหมาะกับผู้ที่มีการวางแผนการใช้ชีวิต โดยต้องเข้ามาปรึกษากับแพทย์ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็น คนที่มีประวัติครอบครัวเป็นอัลไซเมอร์ คนที่ทำการทดสอบความทรงจำแล้วให้ผลที่ไม่ดีนัก เป็นต้น
“สำหรับผู้ที่ไม่อยากเป็นโรคความจำเสื่อม ต้องหมั่นบริหารสมองตัวเองอยู่เสมอ เช่น อ่านหนังสือเป็นประจำ ดูแลสุขภาพจิตให้ดี พยายามไม่เครียด คิดแง่บวก กินอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายสม่ำเสมอ และสุดท้ายหากใครเริ่มมีอาการหลงลืมมากผิดปกติ หรือมีญาติผู้ใหญ่ที่ต้องสงสัยควรรีบพามาพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาได้ทันท่วงที” คุณหมออธิบาย
************
อาการเตือนที่ต้องใส่ใจ
- คนทั่วไปเมื่อลืมแล้วก็จะจำได้ในภายหลัง แต่อัลไซเมอร์จะลืมบ่อยกว่าและฟื้นความจำไม่ได้
- คนทั่วไปต้องเคยบ้างที่ใช้คำพูดผิด แต่อัลไซเมอร์อาจจะลืมคำง่ายๆ และใช้คำที่ไม่เหมาะสม ทำให้เข้าใจลำบาก
- จำถนนหนทางที่เคยใช้อยู่เป็นประจำไม่ได้ ไม่รู้ว่ามาได้อย่างไรและกลับอย่างไร ไม่รู้ว่าวันเกิดคืออะไร
- การตัดสินใจแย่ลง อาจจะใส่เสื้อผ้าหนาๆ ในวันที่อากาศร้อนจัด วางสิ่งของในที่ๆ ไม่ควร เช่น วางเตารีดในตู้เย็น
- อารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงรวดเร็วโดยไม่มีเหตุผล
- เปลี่ยนบุคลิกภาพอย่างรวดเร็ว เช่น สับสนมากขึ้นสลับกับกลายเป็นคนชอบระแวง หรืออยู่เงียบๆ สลับกับความกลัวโดยไม่มีเหตุผล
- คนทั่วไปอาจเบื่องานบ้าน เบื่อการเข้าสังคม แต่ไม่นานก็จะกลับมาเริ่มทำใหม่ได้ แต่สำหรับอัลไซเมอร์มักจะอยู่เฉยๆ รอให้คนอื่นมาหาหรือมาชักชวนให้ทำสิ่งต่างๆ
รายการอ้างอิง :
สาลินีย์ ทับพิลา. ‘อัลไซเมอร์’รู้ได้ก่อนมีอาการ. กรุงเทพธุรกิจ (Life Style : สุขภาพ). วันที่ 23 ตุลาคม 2555.– ( 103 Views)