magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
formats

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคลอันเป็นพิธีสงฆ์อย่างหนึ่งซึ่งจะประกอบพระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญอันเป็นพิธีพราหมณ์ อย่างหนึ่ง ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลพิธีสนามหลวง

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หรือเรียกสั้นๆ ว่า พิธีแรกนา เป็นพระราชพิธีที่มีมาแต่โบราณตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งในสมัยกรุงสุโขทัยนั้น พระมหากษัตริย์ไม่ได้ลงมือไถเอง เป็นแต่เพียงเสด็จไปเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีเท่านั้น

ครั้งถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ไม่ได้เสด็จไปเป็นองค์ประธานเหมือนกับสมัยกรุงสุโขทัย แต่จะมอบอาญาสิทธิ์ให้โดยทรงทำเหมือนอย่างออกอำนาจจากกษัตริย์ และจะทรงจำศีลเงียบ ๓ วัน ซึ่งวิธีนี้ได้ใช้ตลอดมาถึงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ได้มีการประกอบพระราชพิธีนี้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1  แต่ผู้ทำการแรกนาเปลี่ยนเป็นเจ้าพระยาพหลเทพคู่กันกับการยืนชิงช้า แต่พอถึงรัชกาลที่ 3 ให้ถือว่าผู้ใดยืนชิงช้าผู้นั้นเป็นผู้แรกนาด้วย ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงโปรดกล้าฯ ให้จัดมีพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่างๆ ทุกพิธี ดังนั้น พระราชพิธีพืชมงคลจึงได้เริ่มมีขึ้นแต่บัดนั้นมา โดยได้จัดรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และมีชื่อเรียกรวมกันว่าพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

ความมุ่งหมายอันเป็นมูลเหตุให้เกิดมีพระราชพิธีนี้ขึ้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชาบายไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่อง พระราชพิธีสิบสองเดือน ว่า”การแรกนาที่ต้องเป็นธุระของผู้ซึ่งเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เป็นธรรมเนียมนิยมมีมาแต่โบราณ เช่น ในเมืองจีนสี่พันปีล่วงมาแล้วพระเจ้าแผ่นดินก็ทรงลงไถนาเองเป็นคราวแรก พระมเหสีเลี้ยงตัวไหม ส่วนจดหมายเรื่องราวอันใดในประเทศสยามที่มีปรากฏอยู่ในการแรกนานี้ก็มีอยู่เสมอเป็นนิจไม่มีเวลาว่างเว้น ด้วยการซึ่งเป็นใหญ่ในแผ่นดินลงมือทำเองเช่นนี้ ก็เพื่อจะให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร ชักนำให้มีใจหมั่นในการที่จะทำนา เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะได้อาศัยเลี้ยงชีวิตทั่วหน้า เป็นต้นเหตุของความตั้งมั่น และความเจริญไพบูลย์แห่งพระนครทั้งปวง แต่การซึ่งมีพิธีเจือปนต่างๆ ไม่เป็นแต่ลงมือไถนาเป็นตัวอย่างเหมือนอย่างชาวนาทั้งปวงลงมือไถนาของตนตามปกติก็ด้วยความหวาดหวั่นต่ออันตราย คือ น้ำฝนน้ำท่า มากไปน้อยไปด้วงเพลี้ยและสัตว์ต่างๆ จะบังเกิดเป็นอันตรายไม่ให้ได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิและมีความปรารถนาที่จะให้ได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิเป็นกำลังจึงต้องหาทางที่จะแก้ไขและทางที่จะอุดหนุนและที่จะเสี่ยงทายให้รู้ล่วงหน้าจะได้เป็นที่มั่นอกมั่นใจโดยอาศัยคำอธิษฐานเอาความสัตย์เป็นที่ตั้งบ้าง ทำการซึ่งไม่มีโทษนับว่าเป็นการสวัสดิมงคลตามซึ่งมาในพระพุทธศาสนาบ้าง บูชาเซ่นสรวงตามที่มาทางไสยศาสตร์บ้างให้เป็นการช่วยแรงและเป็นที่มั่นใจตามความปรารถนาของมนุษย์ซึ่งคิดไม่มีที่สิ้นสุด”

ดังนั้น เห็นได้ว่าความมุ่งหมายของพิธีแรกนาอยู่ที่จะทำให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎรเพื่อชักนำให้มีความมั่นใจในการทำนา แม้จะเป็นความจำเป็นสำหรับบ้านเมืองในสมัยโบราณอย่างไรถึงปัจจุบันนี้คงเป็นอยู่อย่างนั้น เพราะการเกษตรซึ่งมีการทำนาเป็นหลักนั้นเป็นสิ่งสำคัญแก่ชีวิตความเป็นอยู่และการเศรษฐกิจของประเทศทุกสมัย ส่วนพิธีกรรมนอกเหนือจากการทำให้เป็นตัวอย่างตามที่ทรงจำแนกไว้ 3 อย่าง โดย 2 อย่างแรกที่ว่า “อาศัยคำอธิษฐานเอาความสัตย์เป็นที่ตั้งบ้าง ทำการซึ่งไม่มีโทษนับว่าเป็นการสวัสดิมงคลตามซึ่งมาในพระพุทธศาสนาบ้าง” นั้น ทรงหมายถึงพิธีพืชมงคลอันเป็นพิธีสงฆ์ที่กระทำ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนอีกอย่างหนึ่งที่ว่า “บูชาเซ่นสรวงตามที่มาทางไสยศาสตร์บ้าง” นั้น ทรงหมายถึง พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญอันเป็นพิธีพราหมณ์

… พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพิธีการเพื่อความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญเกษตรกร กำหนดจัดขึ้นในเดือนหกของทุกปี ซึ่งระยะนี้เป็นระยะเหมาะสมที่จะเริ่มต้นการทำนาอันเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย แต่ไม่ได้กำหนดวันที่แน่นอนไว้เหมือนกับวันในพระราชพิธีอื่น ๆ ส่วนจะเป็นวันใดในเดือนหกหรือเดือนพฤษภาคมที่มีฤกษ์ยามที่เหมาะสมต้องตามประเพณีก็ให้จัดขึ้นในวันนั้น
(หมายเหตุ:ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์).

รายการอ้างอิง :
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ. เดลินิวส์ (เกษตร). วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม 2556.– ( 66 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


5 − = one

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>