จั่วหัวคอลัมน์คราวนี้ หลายคนอาจจะงุนงง และสงสัยว่ามันคืออะไร และเป็นนวัตกรรมอย่างไร อย่าเสียเวลาไปเสิร์ชหาใน Google เลยครับ ผมลองเสิร์ชดูแล้วทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่เดาเองว่าน่าจะเขียนอย่างไร ไม่เจอข้อมูลที่ตรงกับที่ต้องการเลย…
นั่นเป็นเพราะว่าการ์เมนต์โต้เป็นชื่อที่ “คุณยุทธนา อโนทัยสินทวี” เจ้าของนวัตกรรมนี้ใช้เรียกสินค้าตัวนี้เอง ผมไม่แน่ใจว่าเป็นชื่อทางการค้าอย่างถูกต้องหรือยัง
เอ่ยชื่อคุณยุทธนา หลาย ๆ ท่านอาจจะไม่ค่อยคุ้นหู แต่หากเมื่อเอ่ยชื่อ The Remaker ผมเชื่อว่าคงมีคนคุ้นเคยกับชื่อนี้พอสมควร
คุณยุทธนาเป็นเจ้าของแบรนด์ The Remaker ชื่อดัง ที่นำเอาวัสดุเหลือใช้ต่าง ๆ โดยเฉพาะเสื้อผ้า ยีนส์ใช้แล้วมาดัดแปลงทำเป็นเสื้อผ้าใหม่ เป็นผู้นำเทรนด์ด้านการ Recycle ของใช้แล้วนำกลับมาสร้างมูลค่าเพิ่มที่โด่งดังไปถึงเมืองนอก ส่งออกไปหลายประเทศในแถบยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งตอนนี้ได้ขยายการนำวัสดุอื่น ๆ อันได้แก่ยางใน รถจักรยานยนต์ใช้แล้วมาดัดแปลงเป็น กระเป๋ามีดีไซน์ที่เก๋ไก๋ใช้ได้ดีทีเดียว แต่สิ่งที่ผมอยากจะกล่าวถึงวันนี้ไม่ใช่ธุรกิจ The Remaker ของคุณยุทธนา แต่เป็นเจ้าการ์เมนต์โต้นี่แหละครับ…
การ์เมนต์โต้มีจุดเริ่มต้นจากธุรกิจหลักของคุณยุทธนา ที่เมื่อตัดเย็บผ้ายีนส์ใช้แล้ว เพื่อนำมาทำเป็นสินค้า Recycle ผลที่ตามมาก็คือจะมีเศษผ้ายีนส์เหลืออยู่เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยเต็มไปหมด คุณยุทธนามีความต้องการจะกำจัดเศษผ้าเหล่านี้ แต่เนื่องจากเป็นนักคิด มีจินตนาการอันกว้างไกล จึงเกิดไอเดียว่าเป็นไปได้ไหม ที่จะนำเศษผ้ายีนส์มาทำเป็นวัสดุเหมือน Particle Board (วัสดุที่เกิดจากการนำเศษไม้มาอัดรวมกันเพิ่มความแข็งแรง และทำพื้นผิวให้สวยงาม เป็นวัสดุที่นิยมในการทำเฟอร์นิเจอร์) ได้หรือไม่
เมื่อจินตนาการทำงาน ก็เริ่มหาข้อมูลจาก Internet แต่เชื่อหรือไม่ครับ…ยังไม่เคยมีใครในโลกเคยทำสิ่งนี้มาก่อน
คุณยุทธนาไม่หยุดแค่นั้นครับ เขาได้ไปติดต่อหน่วยงานทั้งราชการและเอกชนหลายหน่วยงาน สุดท้ายมาจบที่ สวทช.(สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) ได้เข้ามาช่วยสานต่อวิสัยทัศน์ของคุณยุทธนา ร่วมกับหน่วยงานรัฐอีกแห่งหนึ่ง (ผมต้องขออภัยที่จำไม่ได้ ว่าเป็นหน่วยงานใด) จนได้วัสดุใหม่ขึ้นมา ที่เกิดจากการอัดเศษผ้ายีนส์เข้าด้วย กันเพื่อเพิ่มความแข็งแรง โดยมีความ แข็งแรงเหมือน Particle Board สามารถนำไปทำเฟอร์นิเจอร์ หรือใช้ในงานตกแต่งได้ แต่มีลักษณะเด่นคือพื้นผิวยังคงลายของเศษผ้ายีนส์ หรือเศษผ้าอื่น ๆ ที่ นำมาเรียงเป็นลายเฉพาะ
วัสดุนี้คุณยุทธนาเรียกเองว่า “การ์เมนต์โต้” ได้รับรางวัลมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ และที่สำคัญได้รับประกาศนียบัตรว่าเป็นวัสดุใหม่ของโลกที่ยังไม่เคยมีมาก่อน ปัจจุบันวัสดุนี้ได้เริ่มมีการส่งออกไปยุโรปแล้ว และตอนนี้คุณยุทธนาได้เซ็นสัญญาพัฒนาวัสดุนี้กับบริษัทชั้นนำของอเมริกา เพื่อเคลือบผิวสัมผัสให้เหมือนหินอ่อน หรือหินแกรนิตใช้ในงานตกแต่งภายใน
เมื่อผมได้ทราบเรื่องนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จึงรีบนำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังกับท่านผู้ประกอบการ เพราะเห็นว่าเป็นตัวอย่าง และแรงบันดาลใจที่ดีให้แก่ท่านผู้ประกอบการ
โดยพื้นฐานคุณยุทธนาไม่ได้มีความรู้เรื่องวัสดุศาสตร์เลย แต่เนื่องจากเป็นคนชอบคิด มีจินตนาการไกล จากสิ่งที่เห็นทุกวันคิดต่อยอดไปเรื่อย ๆ และพยายามหาตัวช่วยในสิ่งที่ตัวเองขาด ซึ่งในกรณีของคุณยุทธนาก็คือ สวทช. (ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ช่วยผู้ประกอบการในการวิจัยพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ แต่คนไม่ค่อยรู้และไม่ค่อยได้รับทราบ ผลงาน) จนสามารถให้กำเนิดนวัตกรรมใหม่ของโลก ซึ่งคนไทยทุกคนควรจะร่วมภูมิใจไปกับคุณยุทธนาด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การนำเรื่องคุณยุทธนามาเล่าให้ฟัง น่าจะเป็นแรงบันดาลใจ และเป็นกำลังใจให้ท่านผู้ประกอบการสามารถคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้ SME ของไทยเติบโตเป็นฐานรากที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยต่อไป
รายการอ้างอิง :
การ์เมนต์โต้… สุดยอดนวัตกรรมฝีมือ SME ไทย. ประชาชาติธุรกิจ (Smart SMEs.). ฉบับวันที่ 16 – 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2556.– ( 218 Views)