เกือบปีกับโครงการเปลี่ยนขยะเป็นทองได้สร้างมุมคิดใหม่ให้กับ”ชินเสฏฐ์ เจริญหิรัญศิลป์” ว่าของที่ใช้ไม่ได้สามารถนำมาใช้ได้ พิสูจน์ด้วยการเปลี่ยนเศษไม้ไร้ค่าในโรงงานเฟอร์นิเจอร์ให้เป็น “ม้าไม้” ของเล่นเสริมพัฒนาการ ที่พร้อมจะเปิดตัวสำหรับกลุ่มคนรักษ์โลก
ม้าไม้จากเศษขี้เลื่อยเป็นผลผลิตจาก Upcycling คือกระบวนการแปลงสภาพเศษวัสดุเหลือใช้ หรือการทำให้วัสดุหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถใช้งานตามหน้าที่เดิมได้แล้ว กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพและมีมูลค่าสูงขึ้น และมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยโครงการเปลี่ยนขยะเป็นทอง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
:ชุบชีวิตเศษไม้
ชินเสฏฐ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ไท ชิน วู้ด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนไม้ยางพารา มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมสัมมนาโครงการเปลี่ยนขยะเป็นทองในปี 2554 เพราะธุรกิจผลิตเฟอร์นิเจอร์จากไม้ยางพารามีวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิต ต่อวันในปริมาณมาก และกำจัดด้วยการขายต่อให้กับธุรกิจรับซื้อเศษไม้เพื่อทำเชื้อเพลิงหุงต้มมา ตลอด 12 ปี ก่อนเริ่มโครงการในปี 2554 ทีมงานเปลี่ยนขยะเป็นทองนำโดย ผศ.สิงห์ อินทรชูโต จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เข้าไปเยี่ยมโรงงานเพื่อประเมินโอกาสและความเป็นไปได้ของธุรกิจ พบว่ามีความเป็นไปได้ที่จะต่อยอดวัสดุเหลือใช้พวกเศษไม้ อาทิ เศษไม้อัดสัก เศษเสี้ยวไม้ ขี้เลื่อย ขี้กบ ให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่
บริษัทเข้าคอร์สอบรมอยู่ร่วมครึ่งปี ได้รับทั้งความรู้เกี่ยวกับการออกแบบและสร้างสรรค์ผลงาน ให้แตกต่างจากที่มีในท้องตลาดรวมถึงการนำดีไซน์เข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อสร้าง จุดเด่นให้กับชิ้นงาน กระทั่งได้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบหลากหลายรูปแบบ เช่น โต๊ะรับแขกชั้นใส่ของติดล้อเลื่อน และม้าไม้ที่ต่างจากม้าไม้ทั่วไปโดยออกแบบเป็นรูปช้างและกวางซึ่งอยู่ใน กลุ่มของเล่นเสริมทักษะที่กำลังอยู่ในกระแสนิยม
“แง่คิดที่ได้จากการอบรมข้อหนึ่งที่ต้องฉุกคิดคือ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเอาใจใส่ธุรกิจอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเรื่องของวัสดุที่มีอยู่ ว่าในความเป็นจริงยังมีศักยภาพที่จะนำกลับมาทำเป็นอะไรได้บ้าง ไม่ใช่แค่ผลิตแต่เฟอร์นิเจอร์อยู่รูปแบบเดียวเดิมๆ ไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ให้ลูกค้าตื่นตาตื่นใจ” ชินเสฏฐ์ กล่าวและว่า ที่ผ่านมาบริษัทขายเศษไม้เหลือใช้โดยไม่เคยคิดที่จะนำมาแปรรูปเลย ทั้งที่โอกาสอยู่ในมือแท้ๆ แต่หลังจากนี้คงจะเริ่มทำสต๊อกเก็บเศษไม้ไว้แปรรูปเอง และเลือกขายเฉพาะที่ใช้งานไม่ได้แล้วจริงๆ เท่านั้น
:ต่อยอดไม่รู้จบ
ขณะนี้ ไท ชิน วู้ด มีความรู้และได้ต้นแบบผลิตภัณฑ์จากการอบรม และตั้งใจจะนำหลักการดังกล่าวพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้ได้ชิ้นงานที่มีรูปแบบและคุณสมบัติการใช้งานที่สอดรับกับกลุ่ม ลูกค้าผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนีและญี่ปุ่นโดยอาจจะสร้างทีมงานขึ้นใหม่เพื่อรับหน้าที่พัฒนา ผลิตภัณฑ์จากเศษไม้เหลือใช้โดยตรง เพื่อให้ได้ชิ้นงานที่มีคุณภาพสูง
แต่อุปสรรคการนำวัสดุเหลือใช้มาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับชินเสฏฐ์ อยู่ที่การนำดีไซน์เข้ามาใช้อย่างไรให้ตอบโจทย์ตลาด เพราะประสบการณ์ตรงของบริษัทจะมีความถนัดในด้านการออกแบบตู้ โต๊ะ เตียงรวมถึงเครื่องไม้เครื่องมือ หรือแม้แต่คนเขียนแบบที่มีอยู่ก็มีความถนัดในการทำงานเฟอร์นิเจอร์ หากต้องเปลี่ยนรูปแบบการผลิตอาจจะต้องสร้างทีมขึ้นใหม่
“การนำวัสดุมาต่อยอดให้ประสบความสำเร็จ ต้องดูทีมงานด้วยว่า มีศักยภาพและความถนัดในด้านไหน ก่อนที่จะเลือกทางเดินในการต่อยอด เพราะบางครั้งหากต่อยอดในสิ่งที่ไม่ถนัด หรือตลาดที่รองรับมีคู่แข่งอยู่เดิมค่อนข้างมากแล้ว จะทำให้ต้องใช้ทุนในการผลักดันผลิตภัณฑ์ใหม่ของเราให้ติดตลาดโดยไม่คุ้มค่า เลยก็ได้” ผู้บริหารไท ชิน วู้ด ให้แง่คิด
อย่างน้อยตอนนี้ได้เริ่มนับหนึ่ง ที่จะนำวัสดุเหลือใช้แปรรูปซึ่งไม่เพียงแต่ ไท ชิน วู้ด แต่บริษัทอื่นๆ ก็ใช้หลักการเดียวกันในการต่อยอดวัสดุเหลือใช้ เพื่อให้วัสดุที่อยู่ในมือถูกใช้อย่างคุ้มค่าที่สุดก่อนที่จะทิ้งไป
รายการอ้างอิง :
กานต์ดา บุญเถื่อน. ‘อัพไซคลิ่ง’ เกิดใหม่ไม่ธรรมดา. กรุงเทพธุรกิจ ( creative). ฉบับวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2556.– ( 216 Views)