ถ้าพูดถึงงานด้านคอมพิวเตอร์กราฟิกหรือด้านแอนิเมชั่น เป็นที่ยอมรับกันว่า “ญี่ปุ่น” คือหนึ่งในยุทธจักรทางด้านนี้ แต่ถ้ามองในระดับอุดมศึกษาแล้วประเทศไทยก็ไม่น้อยหน้าใคร และผลิตบุคลากรคุณภาพดีเข้าสู่ตลาดต่างประเทศเป็นจำนวนมาก
ข้อความข้างต้นได้รับการพิสูจน์อีกครั้งจากรางวัลที่เยาวชนไทยชนะการประกวด Asia Digital Art Award (ADAA) Fukuoka 2012 รวม 6 รางวัล ได้แก่ ผลงาน Never Ending ของ “พีรพงษ์ อมรกุลเดช” จาก ม.ศิลปากร ได้รับรางวัล Grand Prize Award
และอีก 5 รางวัล Final List Awards จาก 1.ผลงาน The Missing Wheel ของ “ชานนท์ พุทธประสาทพร” จาก บริษัท Muffin Animation 2.ผลงาน Rabbit Cycle ของ “ดวงหทัย โสตถิเสาวภาคย์” และ “ธนสรณ์ บุญลือ”จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี 3.ผลงาน Moonstruck ของ “สารัตถะ จึงเสถียรทรัพย์” จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4.ผลงาน Khanomthai Animation ของ “ศิริพงษ์ สูงกลาง” จาก ม.แม่ฟ้าหลวง และ 5.ผลงาน The Forest ของ “ชญานิศ เกียรติโชคชัยกุล” จาก ม.ศิลปากร ผู้เข้าแข่งขัน ADAA 2012 ทั้งหมดเป็นผู้เข้ารอบ 10 ทีมสุดท้ายในงานประกวด Thailand Animation Contest 2012 จัดโดย บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ผู้สนับสนุนการเข้าประกวด ADAA 2012 ครั้งนี้
“พัชรา ทวีชัยวัฒนะ” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบริหารการตลาดและสื่อสารองค์กร บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต กล่าวถึงแนวคิดสนับสนุนการพัฒนาแอนิเมชั่นของเยาวชนไทยว่า เกิดขึ้นภายใต้กรอบคิด “ปันความรู้สู่ เด็กไทย” ที่องค์กรยึดถือเป็นหลักในกิจกรรม CSR อยู่แล้ว
“สำหรับ Thailand Animation Contest นั้น เริ่มจัดมาตั้งแต่ปี 2007 เนื่องจากเทคโนโลยีสมัยนี้ก้าวหน้า เรารู้ว่ามีเด็กกลุ่มหนึ่งในบ้านเราที่ชอบแอนิเมชั่น แต่ไม่มีใครที่สนับสนุนอย่างจริงจังให้เขามีโอกาสสร้างจินตนาการ อลิอันซ์จึงทำสิ่งนี้ขึ้น”
“ปีที่แล้วเราลองส่งเด็กเข้าประกวด ADAA เราไม่ได้คิดว่าจะได้ แต่ก็ชนะ 2 รางวัล เป็นความรู้สึกที่สุดยอดเพราะเราไม่เคยส่ง เด็กก็ไม่เคยแข่งในเวทีต่างชาติ พอได้รางวัลมาก็เป็นกำลังใจ เป็นความ ภูมิใจ ปีนี้จึงส่งอีก และได้มามากกว่า 2 รางวัลอย่างที่เห็น”
“พีรพงษ์ อมรกุลเดช” ตัวแทนประเทศไทยผู้ชนะรางวัล Grand Prize Award เปิดเผยว่า หลังจากตกลงเข้าร่วมการแข่ง ADAA 2012 ทาง บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ได้จัดอบรมและให้คำปรึกษาทั้งก่อนและระหว่างทำผลงานส่งเข้าประกวด ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน
“ทางอลิอันซ์จะช่วยดูว่างานของเรามีคอนเซ็ปต์อย่างไร ช่วยดูการเล่าเรื่อง มีพี่วิทยากรจากสาขาอาชีพด้านนี้โดยตรง 4 ท่านมาช่วยอบรมให้ และมีโปรเฟสเซอร์จากมหาวิทยาลัยคิวชูมาแนะแนวเกี่ยวกับโครงการ ADAA ให้ที่เมืองไทย”
เมื่อถามถึงประสบการณ์ที่ได้จาก การแข่งขัน “ธนสรณ์ บุญลือ” เจ้าของ ผลงาน Rabbit Cycle กล่าวว่า ตอนก่อนแข่งก็เคยมีความคิดว่าญี่ปุ่นเก่ง ด้านแอนิเมชั่นมากกว่าไทย
“แต่พอเดินดูในนิทรรศการ เราจึงเห็นว่าคนไทยก็ทำได้ เขาก็เป็นนักศึกษาเหมือนเรา แอนิเมชั่นไทยและการศึกษาไทยไม่ได้แพ้เขาเลย อาจจะเป็นความคิดที่ว่าคนไทยไม่เก่งพอจะสู้เขาได้นี่แหละที่หลายครั้งทำให้ เราไม่ลงแข่งขัน”
“ชานนท์ พุทธประสาทพร” ผู้ชนะการประกวด เสริมว่า สิ่งที่แอนิเมชั่นไทยขาดคือ เอกลักษณ์ความเป็นไทย
เมื่อกล่าวถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย ผลงานหนึ่งที่ชนะรางวัลนี้มาได้คือ “Khanomthai” ซึ่งตัวเนื้องานชี้ให้เห็นถึงการรุกรานของขนมต่างชาติ มีแนวคิดของชาติไทยสูง จึงน่ายินดีที่คณะกรรมการ ADAA 2012 เข้าใจแนวคิด และตัดสินให้เป็น Final List Awards
“พัชรา ทวีชัยวัฒนะ” กล่าวถึงแผนงานในอนาคตว่า จะยังคงสนับสนุนการแข่งขันแอนิเมชั่นของเด็กไทยต่อไป และพร้อมก็จะสนับสนุนให้เยาวชนได้ไปแข่งในระดับโลก
น่าชื่นใจในความสำเร็จที่ช่วยตอกย้ำว่า เด็กไทยก็มีความสามารถไม่แพ้ใคร !
รายการอ้างอิง :
เด็กไทยคว้ารางวัลแอนิเมชั่นเอเชียไม่ใช่แค่ ‘สู้ได้’ แต่เรา ‘ชนะ’. ประชาชาติธุรกิจ. ฉบับวันที่ 20 – 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2556.– ( 112 Views)