magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก รักษารายคนเพื่อผลสัมฤทธิ์
formats

รักษารายคนเพื่อผลสัมฤทธิ์

ศาสตราจารย์ ดร.กำพล อดุลวิทย์ นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ รองศาสตราจารย์วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มอบปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาเคมี แด่ ศาสตราจารย์อารอน เจ. ชีชาโนเวอร์ นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล ประจำปี 2004 วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม 2555 เวลา 10.30 น. ณ ห้องประชุมสุธรรม อารีกุล อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
หลังจากพิธีมอบปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (เคมี) แด่ ศ.อารอน เจ. ชีชาโนเวอร์ ได้บรรยายพิเศษเรื่อง “The Revolution of Personalized Medicine – Are we going to cure all diseases and at what price???” ได้กล่าวถึง บทบาทของวิทยาศาสตร์ ในการเป็นสื่อกลางในการเชื่อมต่อและสร้างสันติภาพ เพราะ งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ นำไปสู่ประโยชน์ของมวลมนุษยชาติ โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา หรือวัฒนธรรม

ศ.อารอน ได้เล่าถึงประวัติว่าเกิดในประเทศอิสราเอล ในปี คศ.1947 ซึ่งเป็นปีเดียวกันที่ประเทศอิสราเอลได้รับอิสรภาพ ท่านเกิดในครอบครัวที่มีฐานะปานกลาง แต่ให้ความสำคัญกับการศึกษา ท่านสำเร็จการศึกษาในสาขาแพทยศาสตร์ และมีส่วนร่วมในสงครามของประเทศอิสราเอลในปี คศ.1973 ในฐานะแพทย์

หลังจนสงครามสิ้นสุด ก็ทำงานในฐานะแพทย์เป็นเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะกลับเข้ามาศึกษาต่อ จนจบปริญญาเอกในสาขาเคมี จากนั้นเข้าทำงานที่ MIT ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 5 ปี ต่อมาตัดสินใจกลับมาทำงานต่อที่ประเทศอิสราเอล เพื่อพัฒนางานวิจัยในประเทศบ้านเกิด และสามารถสร้างสรรค์งานวิจัยที่มีคุณภาพ และเป็นที่ยอมรับในระดับโลก รวมถึงเป็นตัวอย่างให้คนไทยและนักเรียนไทยมีแรงบันดาลใจว่าทุกคนสามารถประสบความสำเร็จได้ โดยไม่จำเป็นต้องทำงานในประเทศใหญ่ที่ร่ำรวย

การบรรยายหัวข้อ “The Revolution of Personalized Medicine – Are we going to cure all diseases and at what price???” นักวิทยาศาสตร์ รางวัลโนเบล สาขาเคมี ปี 2004 กล่าวว่า เราทุกคนไม่ต้องการแก่และอยากสุขภาพดี การรักษาทางการแพทย์ในปัจจุบันใช้ยาชนิดเดียวกันในการรักษาผู้ป่วย

ผู้ป่วยแต่ละคนมีความแตกต่างในระดับโมเลกุล เพราะแต่ละคนมีสารพันธุกรรมที่แตกต่างกัน ดังนั้นการรักษาโรคในอนาคต จึงจำเป็นต้องทราบรายละเอียดของสารพันธุกรรมของผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อให้การรักษาผู้ป่วยแต่ละรายให้เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคล ในลักษณะที่เรียกว่า “Personalizd Medicine” สิ่งที่เกิดขึ้นในการรักษาผู้ป่วยเฉพาะบุคคลนี้อาจจำเป็นต้องมีการให้ข้อมูลพันธุกรรมของผู้ป่วยให้กับแพทย์ ซึ่งจะทำให้แพทย์ทราบข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วย เช่น สาเหตุของโรคที่เป็นอยู่ และโอกาสที่จะเกิดโรคต่างๆ ในอนาคต ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะความรู้อาจนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ตามมา

ศาสตราจารย์อารอน เจ. ชีชาโนเวอร์ มีผลงานที่ร่วมกับอาวาร์ม เฮิร์ชโก (Avram Hershko) และ เออร์วิน โรส (Irwin Rose) เกี่ยวกับเรื่อง โปรตีนที่เป็นตัวสั่งการในกระบวนการทำลาย/ย่อยสลายของโปรตีนในเซลล์โมเลกุลของโปรตีนUbiquitinฺ (ubiquitin-proteasome) มีบทบาทสำคัญในการรักษาภาวะธำรงดุลของเซลล์ (การรักษาสมดุลของการทำงานภายในเซลล์ให้เหมาะสม) และเชื่อว่าโปรตีนดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเซลล์ไปสู่การเป็นโรคร้ายต่าง ๆ เช่น มะเร็ง โรคทางระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ภูมิคุ้มกัน และการอักเสบอันเกิดจากปฏิกิริยาตอบสนอง เป็นต้น

ผลงานดังกล่าวช่วยให้เข้าใจถึงการทำหน้าที่ของเซลล์ในการเป็นตัวตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพสูงในการตรวจสอบโปรตีนที่มีการสร้างและทำลายในอัตรารวดเร็ว การทำลายของโปรตีนสามารถเกิดขึ้นได้ในกระบวนการที่มีการควบคุมในรายละเอียด เพื่อให้โปรตีนแตกตัวเป็นโมเลกุล ซึ่งจะมีโมเลกุลที่เรียกว่า ฉลากโปรตีน (Protein Labelled ) อีกชนิดหนึ่งเข้ามาทำงานก่อนที่จะมีการทำลาย หรือย่อยสลายโมเลกุลโปรตีนดังกล่าว

“จุมพิตมรณะ” (kiss of death) เป็นโปรตีนที่ติดฉลากตัวนั้น ซึ่งเป็นกระบวนการทำลายโปรตีนที่เสื่อมสภาพในร่างกายของเราที่ต้องถูกทำเครื่องหมายไว้ก่อน ซึ่งขบวนการของโมเลกุลโปรตีนก่อนถูกทำลายจะมีฉลากโปรตีน (Protein Labelled ) อีกชนิดหนึ่งเข้ามาทำงานก่อนที่จะมีการทำลายหรือย่อยสลายโมเลกุลโปรตีนดังกล่าว โมเลกุลชนิดนี้ถูกเรียกว่า “waste disposers” หรือ ตัวสั่งการให้โปรตีนเตรียมพร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการการถูกทำลายโดยเรียกโมเลกุลนี้ว่า “Proteasomes” ซึ่งเป็นโมเลกุลตัวสั่งทำลายโดยตัดให้เป็นโมเลกุลเล็กๆ

ปกติ “Proteasomes” มักจะทำงานร่วมกับสัญญานทางชีวเคมีอีกตัวหนึ่งที่มีชื่อว่า Ubiquitin ซึ่งจะเป็นตัวพา protein (Ubiquitin-mediate Protein)ไปสู่ “Proteasomes”ที่ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีการทำลายหรือการย่อยสลายเกิดขึ้น และจากนั้นตัวมันเอง (Ubiquitin)หลังจากส่งเสร็จก็จะแยกออกจากโปรตีนดังกล่าวและมีการวนกลับมาใช้ใหม่ในเซลล์อีก

ผลงานของศาสตราจารย์อารอน ชิชาโนเวอร์ ช่วยให้เข้าใจในระดับโมเลกุลว่าเซลล์ควบคุมศูนย์กลางการทำงานโดยการเลือกตัดแบ่งเอาโปรตีนเฉพาะตัว ตัวอย่างของกระบวนการควบคุมโดยโปรตีนตัวกลางยูบิควิติน(ubiquitin-mediated protein) ของการทำลาย ได้แก่ การแบ่งเซลล์ออกเป็นส่วนๆ การซ่อมแซมDNA การควบคุมคุณภาพของโปรตีนที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ และส่วนสำคัญของระบบภูมิคุ้มกัน เมื่อระบบทำลายทำงานไม่ถูกต้องจึงทำให้เกิดการป่วย ตัวอย่างเช่น มะเร็งปากมดลูกและโรคซีสติกไฟโบรซีส (โรคทางพันธุกรรมที่ส่งผลส่วนมากต่อระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหาร) ความรู้ที่ได้จากผลงานวิจัยนี้จะเป็นโอกาสในการพัฒนายาที่จะช่วยรักษาโรคและเรื่องอื่นๆ ได้

รายการอ้างอิง :

ประชาสัมพันธ์ มก.. รักษารายคนเพื่อผลสัมฤทธิ์. กรุงเทพธุรกิจ (ไอที-นวัตกรรม : วิทยาศาสตร์). วันที่ 20 ตุลาคม 2555.– ( 99 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


six + 4 =

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>