magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก วิทยาศาสตร์มีคำตอบ
formats

วิทยาศาสตร์มีคำตอบ

เบื้องหลังความสำเร็จของอุตสาหกรรมกุ้งไทย ที่สร้างรายได้เข้าประเทศมากกว่าแสนล้านบาทต่อปี เป็นเพียงพื้นที่ขนาดสนามฟุตซอล ภายในศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค/สวทช.) ที่มีบ่อเพาะเลี้ยงลูกกุ้งวางเรียงเป็นระเบียบเต็มพื้นที่ และมุมห้องที่จัดสรรเป็นพื้นที่เฉพาะของนักวิจัย

ราวปี 2542 ไบโอเทคประกาศเปิดตัว “หน่วยธุรกิจโครงการเทคโนโลยีชีวภาพกุ้ง” (Shrimp Biotechnology Business Unit ; SBBU) เพื่อให้บริการเชิงธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพด้านกุ้งแก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ลดปัญหาการตีกลับสินค้า อันเนื่องจากมาตรการกีดกันทางการค้า

“SBBU มุ่งให้บริการเรื่องกุ้งครบวงจรแก่ผู้มาใช้บริการ โดยนำเอาผลงานและองค์ความรู้ที่ทีมวิจัยพัฒนาได้ออกมาเผยแพร่ในเชิงธุรกิจ ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมามีผลงานได้รับการต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ไปแล้วมากมาย อาทิ ชุดตรวจสอบโรคกุ้ง เทคนิคตรวจวิเคราะห์กุ้งเพื่อออกใบรับรองสำหรับการส่งจำหน่าย รวมถึงรับโจทย์วิจัยตรงจากเจ้าของธุรกิจกุ้งและสัตว์น้ำอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย” ศิรินทิพย์ แดงติ๊บ หัวหน้าห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์โรค SBBU กล่าว
ทุกโจทย์มีคำตอบ

กว่า 14 ปีที่ได้สั่งสมความรู้และประสบการณ์ SBBU ณ วันนี้ มีความพร้อมทั้งด้านการให้บริการตรวจหาโรคไวรัส ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้กุ้งตายถึง 80% โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่จะพบการระบาดของโรคได้มากที่สุด เช่น โรคตัวแดงดวงขาว โรคหัวเหลือง ทอร่าซินโดรมไวรัส โรคแคระแกรน ทั้งยังให้บริการวิจัยตามโจทย์ของลูกค้า การจัดอบรมและถ่ายทอดเทคนิคการตรวจโรคในกุ้ง การผลิตและจำหน่ายชุดทดสอบสำเร็จรูปที่สะดวกใช้งาน

ห้องปฏิบัติการขนาดสนามฟุตซอลแห่งนี้ มีบ่อเลี้ยงกุ้งเตรียมพร้อมที่จะวิจัยตามโจทย์ของผู้เข้ามาใช้บริการ แบ่งเป็นบ่อขนาด 200 300 และ 2,000 ลิตร

“โอกาสทางธุรกิจของ SBBU มีอยู่มาก เนื่องจากการบริการและสินค้าสอดรับกับความต้องการของธุรกิจกุ้งหลายกลุ่มด้วยกัน ไม่เว้นแม้แต่เกษตรกรที่ทำนากุ้ง ขณะที่ผู้ให้บริการด้านนี้มีอยู่น้อย” ศิรินทิพย์ กล่าว

กลุ่มลูกค้าหลักของ SBBU คือธุรกิจโรงเพาะฟักที่ทำหน้าที่ผลิตพ่อแม่พันธุ์กุ้งหรือลูกกุ้งพันธุ์ ธุรกิจห้องเย็นที่ส่งออกกุ้ง ที่ใช้บริการด้านการตรวจหาโรคไวรัส เพื่อลดความเสี่ยงในการส่งออกสินค้าด้อยคุณภาพโดยไม่รู้ตัว

นอกจากนี้ยังมีผู้ผลิตอาหารสัตว์น้ำที่ใช้บริการด้านการวิจัยและทดสอบ เพื่อให้ทราบผลของอาหารที่พัฒนาขึ้น ว่ามีผลทำให้กุ้งหรือสัตว์น้ำชนิดนั้นๆ ได้รับธาตุอาหารอย่างที่ต้องการหรือไม่ รวมถึงหน่วยงานราชการ สถานศึกษาที่ต้องการทำวิจัยแต่ขาดความพร้อมเรื่องอุปกรณ์การทดสอบหรือบ่อเลี้ยงจำลอง เป็นต้น

ล่าสุดในปีที่ผ่านมา พบโรค EMS (Early Morlarity Syndrome) หรือโรคตายด่วนในกุ้งแวนนาไม ซึ่งทำให้ลูกกุ้งตายยกบ่อ 100% ปัญหาหากปล่อยไว้ อาจกระทบถึงภาพรวมของผลผลิตกุ้งภายในประเทศรวมถึงการส่งออกกุ้งในตลาดโลก แม้ว่าจะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ขณะนี้ SBBU วิจัยพบข้อมูลแล้วระดับหนึ่ง ซึ่งคาดว่าภายในปีนี้จะทราบข้อมูลที่แน่ชัด และหาแนวทางในการป้องกันและควบคุมโรคนี้ได้

ไทยคิดเพื่อคนไทย

ด้านผลิตภัณฑ์จาก SBBU คือ ชุดตรวจไวรัสในกุ้ง ซึ่งมีความแม่นยำทัดเทียมกับเทคโนโลยีนำเข้า ทั้งที่ต้นทุนต่อชุดถูกกว่า 1-2 เท่าตัว แถมยังใช้งานง่าย บางชุดไม่ต้องอาศัยเครื่องมือหรือความชำนาญเฉพาะทาง เจ้าของกิจการก็นำไปใช้งานได้เอง

แผนวิจัยในปีนี้ ทีมวิจัยจะพัฒนาชุดทดสอบที่สามารถตรวจหาโรคไวรัสในกุ้งได้มากกว่า 1 ชนิดในครั้งเดียว จากเดิมที่ 1 ชุดสามารถใช้ตรวจหาโรคไวรัสในกุ้งได้เพียงโรคเดียว โดยจะเริ่มจากชุดตรวจหาทอร่าซินโดรมไวรัสกับภาวะแคระแกรนก่อนเป็นกลุ่มโรคแรก เพื่อลดต้นทุนและเวลาการตรวจให้สั้นลง ทั้งยังเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในการส่งออกได้รวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงขยายกลุ่มลูกค้าที่จะมาใช้บริการไปยังต่างประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมกุ้งในมาเลเซียและเวียดนาม

“แม้คนไทยจะยึดติดในแบรนด์นอก แต่หากหน่วยธุรกิจโครงการเทคโนโลยีชีวภาพกุ้งค่อยๆ ขยายผลไปเรื่อยๆ ด้วยการเข้าไปอบรมความรู้ และสาธิตวิธีการใช้งานชุดทดสอบที่เป็นของนักวิจัยไทย เชื่อว่าถึงอย่างไรก็มีคนไทยหันมาใช้เพิ่มขึ้นแน่นอน” มุมมองทางการตลาดจากนักวิจัยกุ้ง

รายการอ้างอิง : กานต์ดา บุญเถื่อน. วิทยาศาสตร์มีคำตอบ. กรุงเทพธุรกิจ (ไอที-นวัตกรรม : วิทยาศาสตร์). วันที่ 22 พฤษภาคม 2556.– ( 115 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


+ 5 = fourteen

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>