สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า นำทีมหัวเรือใหญ่อย่าง “นายไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว ผู้อำนวยการซิป้า” ที่พยายามเร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์ แวร์ไทยให้มีประสิทธิภาพ เพื่อผลักดันเข้าไปในพื้นที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปี 2558 ได้อย่างภาคภูมิใจ
ซิป้าเชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ใน อีก 5-10 ปี จะเติบโต และเป็นตัวหลักมาก กว่าฮาร์ดแวร์อย่างแน่นอน เนื่องจากในขณะนี้ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง สิงคโปร์ เทรนด์ซอฟต์แวร์ได้สูงกว่าฮาร์ดแวร์เรียบร้อยแล้ว ซิป้าจึงเร่งส่งเสริมให้คนไทยที่มีความสามารถและเข้ามาสู่ตลาดนักผลิตซอฟต์แวร์และนวัตกรรม เพื่อหนุนให้หน่วยงานภาครัฐในประเทศไทยได้ใช้ซอฟต์แวร์ไทย ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยให้ลดต้นทุนของภาครัฐได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญลดพึ่งพาซอฟต์แวร์ต่างชาติ เงินก็จะไม่รั่วไหลออกจากบ้าน
สำหรับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในปี 2555 มีมูลค่า 34,481 ล้านบาท ได้ปรับเพิ่มขึ้นจากปี 2554 ถึง 17.2% โดยแยกเป็น ซอฟต์แวร์ประเภทธุรกิจ (เอ็นเตอร์ไพรส์ ซอฟต์แวร์) ที่มีมูลค่าสูงถึง 20,688 ล้านบาท ซอฟต์แวร์ประเภทบริการ มูลค่า 12,346 ล้านบาท และ โมบาย แอพพลิเคชั่น มูลค่า 1,447 ล้านบาท
ขณะที่แนวโน้มในปี 2556 โมบาย แอพพลิเคชั่น มีอัตราการขยายตัวสูงสุด เนื่องจากพฤติกรรมคนไทยเปลี่ยนมาใช้ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต มากขึ้น ดังนั้นโอกาสที่ซิป้าจะพัฒนาผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ โดยการสร้างนักพัฒนา ครีเอทีฟ อีโคโนมี เพื่อเปิดประตูให้ซอฟต์แวร์ไทยก้าวขึ้นแท่นเป็นที่รู้จักระดับโลก
ด้านนายอดิเรก ปฎิทัศน์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (เอทีซีไอ) ระบุว่า แม้ในขณะนี้ภาพรวมตลาดไอทีสัดส่วนของฮาร์ดแวร์อยู่ที่ 60% ส่วนซอฟต์แวร์อยู่ที่ 40% แนวโน้มตลาดไอทีจะถูกปรับเปลี่ยนจากลูกค้า 3 กลุ่มได้แก่ 1. กลุ่มเอสเอ็มอี ที่พฤติกรรมการใช้งานอุปกรณ์ ถูกเปลี่ยนไป ทั้งสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ประกอบกับระบบคลาวด์ ก็สามารถเข้าระบบได้ ไม่จำเป็นต้องลงทุนเอง 2. กลุ่มธุรกิจ เริ่มหันมาลงทุนพัฒนาซอฟต์แวร์ประเภทบริการมากยิ่งขึ้น และแอพพลิเคชั่นจะเข้ามามีบทบาทโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ระดับใหญ่ และ 3. กลุ่มภาครัฐ ที่ให้ระบบคลาวด์เข้ามามีบทบาท ที่จะช่วยลดต้นทุนการใช้งานได้มากที่สุด
แต่สิ่งที่ทางสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสาร สนเทศไทย หวังคือ ปลุกให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยแข็ง แกร่งในประเทศไทยก่อนไปลุยตลาดต่างประเทศ หากภาครัฐได้สร้างคน สร้างรายได้ เห็นรายได้เป็นตัวเลข จะเป็นแรงกระตุ้นให้นักพัฒนาพร้อมที่จะก้าวเข้าตลาดไป และที่สำคัญยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างประเทศได้อีกทาง
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมไอที กำลังหอมหวาน โดยเฉพาะตัวเลขของรายได้ที่สร้างมูลค่า จึงไม่แปลกที่จะใช้โอกาสนี้เร่งขยายนักพัฒนาซอฟต์แวร์ตามเทรนด์โลก
สำคัญคือคนไทยก็ต้องอุดหนุนซอฟต์แวร์ไทย ลดพึ่งพาต่างชาติ ด้วยเช่นกัน.
รายการอ้างอิง :
สุรัสวดี สิทธิยศ. ‘ซิป้า’พาซอฟต์แวร์ไทยเท่าทันเออีซี. เดลินิวส์ ๖ไอที). วันพุธที่ 22 พฤษภาคม 2556.– ( 46 Views)